วันที่ 4-5 ก.ย. 2567 กรมทางหลวง(ทล.) จะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมทางวิชาการนานาชาติครั้งยิ่งใหญ่ “The 5th International Conference on Highway Engineering (iCHE 2024)” ครั้งที่ 5 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ภายใต้แนวคิด “Future – proofing Roads for Asia and Beyond” เพื่อร่วมกันพัฒนาและยกระดับมาตรฐานโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมทางหลวงสำหรับโลกแห่งอนาคต

ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ได้ผนึกกำลังสมาคมทางหลวงโลก (World Road Association, PIARC) และสมาพันธ์ทางหลวงแห่งเอเชียและออสตราลาเซีย (REAAA) พันธมิตรที่เป็นองค์กรสำคัญด้านวิศวกรรมงานทางระดับโลก จัดเวทีพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่ายองค์กรด้านงานทาง ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการนานาชาติ ตลอดจนเผยแพร่ผลงาน และถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์เพื่อพลิกโฉมอนาคตการคมนาคมทางหลวงของเอเชียและภูมิภาคไร้พรมแดนในระดับสากล โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานนี้ไม่ต่ำกว่า 1,500 คน

มหกรรมวิชาการทางหลวงนานาชาติครั้งนี้ มีกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ พร้อมไฮไลต์น่าสนใจ อาทิ ปาฐกถาพิเศษเพื่อเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ เพื่อโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมขนส่งสีเขียวที่ยั่งยืน โดยผู้เชี่ยวชาญจาก World Bank “สร้างถนนสีเขียวเพื่อทุกคน” และผู้เชี่ยวชาญจาก PIARC “คมนาคมทางหลวงที่ยั่งยืน”

เวทีนำเสนอผลงานวิชาการระดับนานาชาติกว่า 60 เรื่องจากทั่วโลกภายใต้ 3 ธีมใหญ่
1.การออกแบบและบริหารจัดการทางหลวงเพื่อทุกคน อย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และเท่าเทียม
2.นวัตกรรมดิจิทัลเพื่อการคมนาคมอัจฉริยะและยั่งยืน
3.โครงข่ายทางหลวงที่มั่นคงแข็งแรงรองรับภัยพิบัติธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากสภาวะโลกร้อน

เวทีสัมมนาจัดโดย PIARC และ REAAA แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญของวงการวิศวกรรมงานทางระดับโลก รวมไปถึงเวิร์กชอปและฟอรั่มของวงการอุตสาหกรรมทางหลวงแห่งอนาคตกว่า 10 หัวข้อ อาทิ การเตรียมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับยานยนต์ไร้คนขับ ทางหลวงอัจฉริยะเพื่อรองรับการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้า ไฟฟ้าแสงสว่างจากหลอดไฟ LED เพื่อทางเลือกที่ปลอดภัยและยั่งยืนสำหรับทางหลวงในอนาคต

การก่อสร้างทางหลวงยุคดิจิทัลเพื่อโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะและยั่งยืน การหมุนเวียนผิวทางแอสฟัลต์คอนกรีตกลับมาใช้ใหม่เพื่อทางหลวงสีเขียวและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยบนทางหลวง นอกจากนี้ยังได้สัมผัสเทคโนโลยีและนวัตกรรมล้ำสมัยในบูธนิทรรศการมากกว่า 40 บริษัทชั้นนำทั่วโลก รวมถึงผลงานกของกรมทางหลวง “ระบบ M-FLOW” สัมผัสประสบการณ์จริงกับระบบการเก็บค่าผ่านทางอัจฉริยะรูปแบบใหม่ที่ทันสมัยและสะดวกสบาย เวทีระดมสมองจากทั่วโลก ที่จะนำเสนอรูปแบบแนวทางปฏิบัติที่ดีการถอดบทเรียน กรณีศึกษา โดยยึดหลักการและมาตรฐานสากล

อธิบดีกรมทางหลวง นายสราวุธ ทรงศิวิไล บอกว่า แนวคิดการจัดงานครั้งนี้มาจากความท้าทายต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกด้านต่างๆ อาทิ การขยายตัวของสังคมเมือง ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและโลกดิจิตัล สภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วิถีชีวิตและไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ รวมถึงการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็นต้น

ปัจจุบันกรมทางหลวงมีโครงข่ายทางหลวงทั่วประเทศที่อยู่ในความรับผิดชอบดูแลประมาณ 52,000 กม. เป็นทางหลวงขนาด 2 ช่องจราจรกว่า 33,163 กม. และตั้งแต่ 4 ช่องจราจรขึ้นไปประมาณ 19,140 กม. ใน 5 ปีข้างหน้ามีแผนขยายเป็น 4 ช่องจราจรหรือมากกว่าประมาณ 22,995 กม. ทำให้เหลือถนนขนาด 2 ช่องจราจรระยะทาง 29,308 กม. ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ เพื่อทำให้ประชาชนสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยในการเดินทาง เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าทั่วประเทศ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างภูมิภาค และประเทศเพื่อนบ้านมากยิ่งขึ้น รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยว

กรมฯได้พัฒนาวิศวกรรมงานทางด้วยการนำนวัตกรรมต่างๆ มาใช้ รวมทั้งยังเพิ่มความสวยงามโดยนำอัตลักษณ์ท้องถิ่นและเอกลักษณ์ในพื้นที่มาประกอบการออกแบบและปรับภูมิทัศน์ด้วย มั่นใจว่าระบบโครงข่ายทางหลวงไทยดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลกไม่แพ้หลายประเทศ พร้อมเดินหน้าพัฒนางานทางในทุกมิติเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก

ด้านนายมนตรี เดชาสกุลสม รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะนายกสมาคมทางหลวงแห่งประเทศไทย (Road Association of Thailand) กล่าวว่า วิศวกรรมงานทางในอนาคตต้องให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ทั้งเทคโนโลยี การพัฒนาบุคลากร และการร่วมมือระหว่างประเทศ เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อตอบสนองต่อความต้องการด้านการคมนาคมขนส่งในอนาคต ประชาชนได้รับความสะดวก ความปลอดภัย พึงพอใจในการเดินทางอย่างสูงสุด และได้รับการยอมรับในระดับสากล นำไปสู่การเป็นประเทศชั้นนำด้านวิศวกรรมงานทางในภูมิภาค

ในงานนี้จะมีพิธีลงนามความร่วมมือครั้งประวัติศาสตร์ของสมาคมทางหลวงโลกกับสมาคมทางหลวงแห่งประเทศไทยด้วย เพื่อยกระดับความร่วมมือ และพัฒนามาตรฐานการคมนาคมทางหลวงของไทยให้ทัดเทียมระดับสากล ตลอดจนก้าวขึ้นสู่การเป็นประเทศชั้นนำในภูมิภาค

ยกระดับทางหลวงไทยสู่โลกอนาคต ที่ไม่ใช่แค่ความสะดวกปลอดภัยแต่ต้องมั่นคงแข็งแรงทนต่อสภาพอากาศ เชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืนและตอบสนองผู้คนทุกกลุ่ม

……………………………………..
นายสปีด

***ห้ามคัดลอกเนื้อหาและภาพในบทความนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

คลิกอ่านบทความทั้งหมดที่นี่…