ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทเทคโนโลยีหลายแห่ง และผู้ผลิตรถยนต์หลายรายของจีน ทุ่มเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเทคโนโลยียานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ซึ่งตอนนี้ นครอู่ฮั่นกลายเป็นเครือข่ายรถยนต์ไร้คนขับขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยมีรถแท็กซี่มากกว่า 500 คัน ที่สามารถเรียกผ่านแอปพลิเคชันได้เหมือนกับรถโดยสารทั่วไป

อย่างไรก็ตาม การถกเถียงเกี่ยวกับความปลอดภัย เกิดขึ้นเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา เมื่อรถยนต์รุ่น “ไอโตะ” ที่ได้รับการสนับสนุนจากหัวเว่ย ประสบอุบัติเหตุร้ายแรง โดยบริษัทระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวมีสาเหตุมาจากระบบเบรกอัตโนมัติขัดข้อง

นอกจากนี้ การชนกันเล็กน้อยระหว่างคนข้ามถนน กับแท็กซี่ไร้คนขับในนครอู่ฮั่น ทำให้เกิดความกังวลอีกครั้ง ขณะที่คนขับแท็กซี่ และพนักงานในบริษัทให้บริการเรียกแท็กซี่แบบดั้งเดิม ต่างกลัวว่าปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) จะเข้ามาทำงานแทนพวกเขา

South China Morning Post

อนึ่ง แท็กซี่ไร้คนขับในนครอู่ฮั่น เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ “อะพอลโล โก” ของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่าง “ไป่ตู้” ซึ่งได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินการในเมืองเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2565

เมื่อแท็กซี่ไร้คนขับมาถึงจุดรับผู้โดยสาร ผู้เรียกรถก็จะสแกนคิวอาร์โค้ดด้วยโทรศัพท์มือถือของพวกเขา เพื่อปลดล็อกประตูรถยนต์ ส่วนค่าโดยสารในขณะนี้มีส่วนลดอย่างมาก โดยการเดินทาง 30 นาที มีค่าโดยสารอยู่ที่ 39 หยวน (ราว 189 บาท) เมื่อเทียบกับ 64 หยวน (ราว 304 บาท) ของแท็กซี่ทั่วไป ซึ่งอัตราค่าโดยสารดังกล่าวทำให้คนขับแท็กซี่ไม่พอใจ และรู้สึกว่าพวกเขากำลังถูกแย่งชิงแหล่งรายได้

แม้หลายคนกังวลว่า บริษัทโรโบแท็กซี่จะผลักดันให้คนขับแท็กซี่เลิกประกอบกิจการด้วยค่าโดยสารที่ถูกกว่า ก่อนปรับขึ้นราคาเมื่อพวกเขาครองตลาด แต่ผลกระทบในขณะนี้ถือว่าไม่รุนแรงมากนัก เนื่องจากแท็กซี่ไร้คนขับยังไม่ได้รับความนิยมโดยสมบูรณ์ และยังไม่สามารถขับไปได้ทุกที่ อีกทั้งจำนวนแท็กซี่ไร้คนขับ ยังคงน้อยกว่าแท็กซี่ทั่วไปในนครอู่ฮั่น ซึ่งมีอยู่หลายหมื่นคัน

ทั้งนี้ หลายเมืองของจีน เริ่มทยอยออกนโยบายเพื่อส่งเสริมบริการแท็กซี่ไร้คนขับ ซึ่งในขณะเดียวกัน ไป่ตู้ และบริษัทคู่แข่งภายในประเทศอย่าง “โพนีดอทเอไอ” ทำการทดสอบโมเดลระดับการขับเคลื่อนอัตโนมัติที่แตกต่างกัน ในเขตอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วจีน มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว

กระนั้น นายทอม นันลิสต์ นักวิเคราะห์นโยบายเทคโนโลยี จากบริษัท ทริเวียม ไชน่า กล่าวว่าในด้านเทคโนโลยี แท็กซี่ไร้คนขับยังคงห่างไหลจาก “ความแพร่หลาย” เพราะในปัจจุบัน เทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติเต็มรูปแบบ ยังไม่พร้อมสำหรับการใช้งานในระดับใหญ่.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP