หนึ่งในพระราชกรณียสำคัญที่พสกนิกรไทยต่างซาบซึ้งและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ คือพระราชปณิธานที่แน่วแน่ พระราชหฤทัยที่มุ่งมั่น ในการอนุรักษ์ฟื้นฟู “ผ้าไทย” ทรงเป็นแบบอย่างในการใช้ผ้าไทย ทรงฉลองพระองค์ชุดผ้าไทยไปทุกหนแห่งขณะที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วไทย แม้กระทั่งในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ ก็ล้วนแต่มีการเผยแพร่ความงดงามของผ้าไทยสู่สายตาชาวโลก ซึ่งทรงฉลองพระองค์ชุดไทยได้งดงามยิ่ง
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเป็นผู้นำในการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมการแต่งกายตามแบบประเพณีไทยให้ประจักษ์แก่สายตาผู้คนในนานาประเทศ ซึ่งเมื่อครั้งพระองค์โดยเสด็จ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปทรงเยือนประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรปอย่างเป็นทางการครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2503 เพื่อทรงเจริญสัมพันธไมตรี ก็ทรงทำให้ความงดงามของผ้าไทยเป็นที่ประจักษ์ในระดับสากล
ทั้งนี้ ในหนังสือ “ฝ้าย ไหม…สายใยแห่งความผูกพัน” โดย เดือนฉาย คอมันตร์ มีบางบทบางตอนกล่าวถึง ชุดไทยพระราชนิยม ตามแนวพระราชดำริฯ ใจความว่า ในปลายปี พ.ศ. 2502 ต่อต้นปี พ.ศ. 2503 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้โดยเสด็จ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเยี่ยมประเทศเพื่อนบ้านไทย และสักการะพุทธสถานสำคัญต่าง ๆ ทรงฉลองพระองค์ด้วยพระภูษาซิ่นกรอมข้อพระบาท ทรงผ้าสะพักบ้าง แพรสะพายบ้าง เพื่อให้เหมาะควรแก่การตามเสด็จ และเมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศไทย พระองค์ได้มีพระราชดำริที่จะให้มี “เครื่องแต่งกายประจำชาติของสตรีไทย”
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงสอบค้นข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะเครื่องแต่งกายของสุภาพสตรีไทย โดยทรงศึกษาจากพระบรมฉายาลักษณ์ พระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระบรมวงศ์ฝ่ายในหลาย ๆ พระองค์ ย้อนไปตั้งแต่ครั้งรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้นมา พร้อมกันนี้ ทรงมีพระราชวินิจฉัยถึงความเหมาะสมต่าง ๆ ในอันที่จะทรงเลือกนำมาใช้เป็นแบบอย่างสำหรับฉลองพระองค์ในการเสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกา และประเทศในยุโรป รวม 15 ประเทศ อย่างเป็นทางการ ในปี พ.ศ. 2503 เป็นเวลา 7 เดือน
นอกจากทรงศึกษาค้นคว้าด้วยพระองค์เองแล้ว ยังมีพระราชเสาวนีย์โปรดเกล้าฯ ให้ ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ประสานงานกับผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของประเทศไทย ได้แก่ ศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) เพื่อศึกษาค้นคว้าเรื่องเครื่องแต่งกายสตรีไทยตามแบบและสมัยต่าง ๆ และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายทอดพระเนตรอีกครั้ง ในการนี้ มี อาจารย์สมศรี สุกุมลนันท์ อาจารย์ประจำแผนกวิชาเสื้อผ้า วิทยาลัยกรุงเทพ ในขณะนั้น เป็นผู้ออกแบบร่างตามข้อมูลที่ได้ค้นคว้ามา
แบบชุดไทยที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเลือกไว้นั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ คุณไพเราะ พงษ์เจริญ ตัดเย็บเป็นฉลองพระองค์ถวาย และให้ คุณหญิงอุไร ลืออำรุง ช่างฉลองพระองค์ในขณะนั้น ช่วยเลือกแบบและนำมาผสมผสานกันจนเกิด ชุดไทยประยุกต์ แบบต่าง ๆ ขึ้นหลายชุด แต่ชุดไทยประยุกต์ครั้งนั้นยังมิได้มีชื่อ
เรียกขานเฉพาะแต่อย่างใด
ฉลองพระองค์ชุดไทยที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงใช้ในระหว่างตามเสด็จ เยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการในครั้งนั้น มีความงดงามเป็นที่ชื่นชมของชาวต่างประเทศที่ได้ชมพระบารมีเป็นอย่างมาก ซึ่งโปรดทรงฉลองพระองค์และพระภูษาไทย เช่น ผ้ายก ผ้าซิ่นไหม และผ้ามัดหมี่ เป็นต้น
หลังจากเสด็จนิวัตพระนครแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ยังฉลองพระองค์ชุดไทยประยุกต์แบบต่าง ๆ ตามกาลโอกาส และในปี พ.ศ. 2507 ได้มีพระราชวินิจฉัยเลือกแบบชุดไทย 8 แบบ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เป็นผู้คิดชื่อชุดให้เหมาะสมกับแบบของชุดต่างๆ นั้น เพื่อนำชุดไทยเหล่านี้ไปจัดแสดงเผยแพร่ในโอกาสฉลองครบรอบ 100 ปี กาชาดสากล ในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2507 และเพื่อใช้เป็นชื่อเรียกขานเป็นแบบฉบับ เครื่องแต่งกายชุดประจำชาติของสตรีไทย ต่อไป
ชื่อชุดไทยพระราชทานทั้ง 8 ชุดนั้น ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ได้นำชื่อพระตำหนักและพระที่นั่งต่าง ๆ มาใช้ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับแบบ ตลอดจนโอกาสในการเลือกชุดนั้น ๆ ซึ่งประกอบด้วย…
ชุดไทยเรือนต้น ตั้งตามชื่อพระตำหนักเรือนต้น ในพระราชวังดุสิต เป็นชุดไทยแบบลำลอง ตัดเย็บด้วยผ้าฝ้าย หรือผ้าไหม ตัวซิ่นหรือผ้านุ่งป้ายยาวจรดข้อเท้า เสื้อเป็นคอกลมตื้นผ่าอกกระดุม 5 เม็ด แขนสามส่วน ใช้ในโอกาสไม่เป็นทางการเช่น การทำบุญต่าง ๆ งานกฐิน
ชุดไทยจิตรลดา ตั้งชื่อตามพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เป็นชุดที่ใช้ในพิธีกลางวัน ใช้ผ้าไหมมีเชิงหรือยกดอกทั้งตัว ผ้านุ่งป้าย เสื้อคอกลมมีขอบตั้ง ตัวเสื้อผ่าอกติดกระดุม แขนยาวจรดข้อมือ
ชุดไทยอมรินทร์ ชุดนี้ตั้งตามชื่อพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง ลักษณะเหมือนชุดไทยจิตรลดา ใช้ผ้ายกไหมดิ้นเงินดิ้นทองมีเชิง สวมเครื่องประดับ (ไม่คาดเข็มขัด) และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ใช้ในงานราชพิธีและงานพิธีกลางคืน
ชุดไทยบรมพิมาน ตั้งชื่อตามพระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง ใช้ในงานพระราชพิธีและงานพิธีกลางคืน เป็นเสื้อแขนยาว คอกลมมีขอบตั้ง ตัวเสื้อและซิ่นติดกันเป็นชุดเดียวกัน ใช้ผ้าไหมที่มีทองแกมหรือยกทองทั้งตัว นุ่งจีบแล้วใช้เข็มขัดไทยคาด
ชุดไทยจักรี ตั้งตามชื่อพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ใช้ในงานพิธีกลางคืน ท่อนบนเปิดไหล่หนึ่งด้าน เป็นสไบสำเร็จซึ่งมีทั้งสไบปักหรือไม่ปักก็ได้ ตัดเย็บติดกับท่อนล่างซึ่งเป็นผ้านุ่งจีบ เป็นผ้าไหมยกทองทั้งตัวหรือยกเฉพาะเชิง
ชุดไทยดุสิต ตั้งชื่อตามพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ใช้ในงานพิธีเต็มยศกลางคืน ใช้ผ้าไหมยกหรือยกทอง ผ้านุ่งจีบ เสื้อคอกว้างไม่มีแขน ปักด้วยดิ้นเงินดิ้นทอง หรือลูกปัด
ชุดไทยจักรพรรดิ ตั้งตามชื่อพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง ใช้ในงานพิธีเต็มยศกลางคืน ท่อนบนห่มสองชั้น ชั้นในปักเป็นสไบจีบ และห่มสะพักทับ ผ้านุ่งทองจีบแบบเดียวกับชุดไทยจักรี คาดเข็มขัดและเครื่องประดับเข้าชุดกัน
ชุดไทยศิวาลัย ตั้งชื่อตามสวนศิวาลัย ในพระบรมมหาราชวัง ชุดนี้ใช้ในงานพระราชพิธีทั้งกลางวันและกลางคืนเป็นชุดแบบเดียวกับชุดไทยบรมพิมาน แต่ห่มสะพักทับเสื้ออีกชั้นหนึ่ง
และโดยที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มิได้ทรงกำหนดบังคับให้ชุดไทยดังกล่าวนี้เป็นแบบแผนเครื่องแต่งกายที่สุภาพสตรีไทยทุกคนต้องแต่ง เพียงแต่มีพระราชนิยมทรงฉลองพระองค์แบบต่าง ๆ ประชาชนทั่วไปจึงเรียกขานโดยรวมในภายหลังว่า “ชุดไทยพระราชนิยม”
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงนำความงดงามของผ้าไทยให้เป็นที่รู้จักในสังคมวงกว้างและสวมใส่อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ทรงเป็นผู้นำในการใช้ผ้าไทยด้วยพระองค์เอง ทรงนำผ้าทอพื้นเมืองประเภทต่าง ๆ มาตัดเย็บเป็นฉลองพระองค์แบบไทยและแบบสากลที่ทรงใช้ในโอกาสต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเผยแพร่ความงดงามของผ้าไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวไทยและชาวโลก
ในปี พ.ศ. 2505 ทรงได้รับเลือกจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญการออกแบบเครื่องแต่งกายสตรีของโลก ให้ทรงเป็นสตรีที่แต่งพระองค์งามที่สุดในโลกผู้หนึ่ง ในจำนวนสุภาพสตรีของโลกทั้งหมด 10 คน ซึ่งฉลองพระองค์ที่ทรงนั้นส่วนใหญ่จะเป็นผ้าไหมที่มีความงดงาม และได้รับการออกแบบให้สอดคล้องกับการแต่งกายของชาวตะวันตก
นอกเหนือจากการที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานแบบแผนในการแต่ง “ชุดไทยพระราชนิยม” และทรงฉลองพระองค์ที่สร้างสรรค์จากผ้าไทยโดยตลอดแล้ว พระองค์ยังทรงเปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการอนุรักษ์ผ้าไทย ทรงส่งเสริมให้มีการฟื้นฟูและอนุรักษ์การทอ “ผ้าไทยพื้นบ้าน” ซึ่งเป็นหนึ่งในพระราชกรณียกิจที่พระองค์ทรงงานด้วยความทุ่มเทต่อเนื่อง จนทำให้ราษฎรทั่วทุกภาคของประเทศไทยมีรายได้จากภูมิปัญญาที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ
ในปี พ.ศ. 2513 เมื่อครั้งเกิดอุทกภัยที่อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรที่ประสบภัย ครั้งนั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงสังเกตว่าหญิงชาวบ้านที่มารอรับเสด็จแทบทุกคนนุ่ง ซิ่นไหมมัดหมี่ ซึ่งมีความสวยงามต่าง ๆ กัน ได้ทอดพระเนตรด้วยความสนพระราชหฤทัยยิ่ง และมีรับสั่งถามจนได้ความว่า ชาวบ้านทอผ้าไหมมัดหมี่ไว้ใช้เองแทบทุกครัวเรือน ไม่ได้ทอขาย นอกจากทอให้ลูกหลานยามออกเรือน จึงมีพระราชดำริว่า ควรจะส่งเสริมให้ราษฎรทอผ้าไหมมัดหมี่ไว้เป็นอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัว และได้มีพระราชเสาวนีย์ให้ชาวบ้านทอผ้าและทรงรับซื้อไว้เอง ซึ่ง ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ได้ทำให้เกิดการฟื้นฟูและส่งเสริมหัตถกรรมทอผ้า จากเพื่อใช้สอยในครอบครัวเป็นการทอขาย เป็นการเพิ่มพูนรายได้ของราษฎร นอกเหนือจากอาชีพเกษตรกรรม ทำให้เกิดการอนุรักษ์และสืบสานศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น “ผ้าไทย”
ต่อมาในปี พ.ศ. 2519 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้ง มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ขึ้น เพื่อช่วยเหลือชาวไร่ชาวนาในถิ่นทุรกันดารจากทุกภูมิภาคของไทย ให้มีรายได้เสริมจากงานหัตถกรรมทอผ้า รวมทั้งหัตถกรรมประเภทอื่น ๆ ด้วยทรงทราบว่าคนไทยในแต่ละท้องถิ่นมีความสามารถในการสร้างสรรค์งานฝีมือ หากได้รับการส่งเสริมอย่างถูกต้อง ความสามารถพิเศษของราษฎรเช่นนั้นจะช่วยสร้างรายได้พิเศษแก่ตนเอง รวมทั้งชุมชน ได้เป็นอย่างดี
ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเห็นว่าชาวไทยและชาวต่างประเทศหันมานิยมศิลปหัตถกรรมกันมากขึ้น โดยเฉพาะผ้าทอมือ หากอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมเหล่านี้ไว้จะช่วยรักษาสืบทอดภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมไทยให้ดำรงอยู่ยาวนานสืบไป ทรงเป็นแบบอย่างด้วยการฉลองพระองค์ด้วยผ้าไหม ทรงทุ่มเท “พลิกฟื้นพัฒนาผ้าไหมให้มีคุณภาพงดงามเป็นที่นิยม” จึงทรงได้รับการน้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา “พระมารดาแห่งไหมไทย”
นอกจากนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองโบโรพุทโธ จากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ “ยูเนสโก” เพื่อเฉลิมพระเกียรติคุณในฐานะที่ทรงส่งเสริมและสร้างสรรค์ศิลปะ โดยเฉพาะหัตถกรรมสิ่งทอ ฟื้นฟูผ้าไทยไม่ให้สูญหาย รวมทั้งยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนผู้ยากไร้ในชนบท ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานพระราชดำรัสไว้ในโอกาสที่องค์การยูเนสโกทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองโบโรพุทโธ ณ ศาลาธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2535 ความสำคัญว่า…
“การที่ข้าพเจ้าเริ่มงานศิลปาชีพขึ้นนั้น ข้าพเจ้าตั้งใจจะสรรหาอาชีพให้ชาวนาที่ยากจนเลี้ยงตนเองได้ในเบื้องต้น ทั้งนี้ เนื่องจากข้าพเจ้าได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปเยี่ยมราษฎรตามชนบทมาหลายสิบปี ได้พบว่าราษฎรส่วนใหญ่เป็นชาวนาชาวไร่ที่ต้องทำงานหนัก และต้องเผชิญอุปสรรคจากภัยธรรมชาติมากมาย เช่น ฝนแล้ง น้ำท่วม ศัตรูพืชระบาด เป็นต้น ทำให้ชาวไร่ชาวนามักยากจน การนำสิ่งของไปแจกราษฎรผู้ประสบภัยธรรมชาติ เป็นเพียงการบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชปรารภว่า เป็นการช่วยเหลือที่ไม่ยั่งยืน ควรจะหาวิธีอื่นที่ช่วยให้ราษฎรพึ่งตนเองได้ ชาวนาชาวไร่เหล่านี้ มีฝีมือทางหัตถกรรมสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษแล้ว โดยที่หัตถกรรมส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่เขาใช้สอยอยู่ในชีวิตประจำวัน ตัวอย่างเช่น ชาวอีสานปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพื่อทอผ้าไว้ใช้เอง สิ่งนี้จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ข้าพเจ้าเริ่มงานส่งเสริมการทอผ้าขึ้น เพื่อให้ชาวนาชาวไร่นำความสามารถของเขาเองมายกระดับความเป็นอยู่ รวมทั้งเพิ่มพูนศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจในงานของเขา จนในที่สุดจึงเกิดเป็นมูลนิธิศิลปาชีพ”
และก่อนหน้านั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้มีพระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2534 โดยมีความสำคัญตอนหนึ่งเกี่ยวกับมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ว่า…
“ทุกครั้งที่เมืองไทยเกิดน้ำท่วมหรือเกิดภัยพิบัติ… ข้าพเจ้าได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงนำของพระราชทานไปช่วยเหลือราษฎร มักจะเป็นเครื่องอุปโภคบริโภค แล้วก็รับสั่งกับข้าพเจ้าว่า การช่วยเหลือแบบนี้เป็นการช่วยเหลือเฉพาะหน้า ซึ่งไม่สำคัญ ช่วยเขาไม่ได้จริง ๆ ไม่เพียงพอ ทรงคิดว่าทำอย่างไรจึงจะช่วยเหลือชาวบ้านเป็นระยะยาว คือทำให้เขามีหวังที่จะอยู่ดีกินดีขึ้น ลูกหลานได้เข้าเรียนหนังสือ ซึ่งในเรื่องนี้รัฐบาลได้พยายามส่งเสริมอยู่แล้ว เขาเพิ่มโรงเรียนขึ้นอย่างสม่ำเสมอ แต่ชาวนาชาวไร่บอกว่า เขาส่งให้ลูกไปเรียนหนังสือไปเข้าโรงเรียนไม่ได้ เพราะต้องอาศัยลูกเป็นกำลังช่วยทำมาหากิน ดังนั้นจะพบเด็กที่อยู่ในวัยเรียนแล้วไม่ได้เรียนหนังสืออีกมาก ส่วนมากก็ได้จบ ป.4 ซึ่งน่าเป็นห่วง ด้วยเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงเริ่มคิดหาอาชีพเสริมให้แก่ครอบครัวชาวนาชาวไร่ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงหาแหล่งน้ำให้การทำไร่ทำนาของเขา… เสด็จพระราชดำเนินไปดูตามไร่ของเขาต่าง ๆ ทรงคิดว่า นี่เป็นการให้กำลังใจ และที่ทรงให้ข้าพเจ้าดูแลพวกครอบครัว ก็เลยเป็นที่เกิดของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ”
ทั้งนี้ พระราชกรณียกิจหลากหลายด้านนานัปการของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงปฏิบัติด้วยพระปรีชาสามารถ พระวิริยอุตสาหะ และทรงเปี่ยมด้วยน้ำพระทัยเมตตานั้น ล้วนแต่เป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งถึงประโยชน์มหาศาลที่มีต่อเหล่าอาณาประชาราษฎร์และประเทศชาติ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้นหาที่สุดมิได้
เนื่องในโอกาสอันเป็นมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง วันที่ 12 สิงหาคม พุทธศักราช 2567…
ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน…
…………………………………………….
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า ทีมข่าวสตรีเดลินิวส์