เป็นอีกหนึ่งประเด็นด้าน “สิทธิเด็กในประเทศไทย” ที่น่าตามดู…หลังจากปลายเดือน ก.ค. 2567 ที่ผ่านมาสภาผู้แทนราษฎรรับหลักการ “แก้ไขกฎหมาย“กรณี “ห้ามตีเด็ก!!“…กรณีนี้เกี่ยวข้องกับ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567 (2) ว่าด้วย “การลงโทษเด็ก” โดยถ้าหากมีการแก้ไขได้ลุล่วง ก็จะมีผลบังคับทางกฎหมาย ห้ามไม่ให้ผู้ปกครองทำโทษเด็กโดยการทำร้ายร่างกายหรือจิตใจของเด็ก อย่างไรก็ตาม เมื่อประเด็นเรื่องนี้ปรากฏเป็นข่าวออกมาก็ทำให้เกิดกระแสแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือมีทั้งเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละฝ่ายย่อมมีมุมมองและมีเหตุผลแตกต่างกันไป…
ที่แน่ ๆ กรณีนี้ก็ “น่าติดตามดูผล?”…
ในทาง “กฎหมาย” กรณี “ลงโทษเด็ก“
ที่ในไทยยุคนี้ “เป็นดราม่าอยู่บ่อย ๆ“
ทั้งนี้ เกี่ยวกับการจะ “แก้ไขกฎหมายเพื่อห้ามลงโทษเด็ก” นี้ ทางสภาผู้แทนราษฎรไทยรับหลักการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ โดยที่ “มุมผู้สนับสนุน” เรื่องนี้มองว่าถ้าประเทศไทยมีการแก้กฎหมาย มีกฎหมายเรื่องนี้ชัดเจน กรณีนี้จะเป็น ก้าวสำคัญในการปกป้องสิทธิและความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กในไทย ซึ่งในมุมผู้เห็นด้วย-สนับสนุนให้ไทยดำเนินการเรื่องนี้ หนึ่งในนั้นคือ มูลนิธิช่วยเหลือเด็กประเทศไทย (Save the Children Thailand) ที่มีเสียงสะท้อนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้…
“มุมสะท้อน” ต่อ “กฎหมายห้ามลงโทษเด็ก“ นั้น ทาง มร.กีโยม ราชู ผู้อำนวยการมูลนิธิช่วยเหลือเด็กประเทศไทย สะท้อนว่า… การยอมรับหลักการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567 (2) โดยสภาผู้แทนราษฎรของไทย นับเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทย โดยทางมูลนิธิฯ ทำงานเรื่องนี้มานานกว่า 10 ปี และถือเป็นองค์กรแรก ๆ ที่ส่งเสริมเรื่องการ “เลี้ยงดูเด็กเชิงบวก“ในประเทศไทยดังนั้นเมื่อจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายเรื่องนี้ จึงเห็นด้วย และมองว่าจะเป็นประโยชน์กับการปกป้องสิทธิและความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กในไทย ที่ไม่เพียงจะช่วยให้เด็กได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย…
จะช่วยส่งเสริมการตระหนักรู้ให้สังคม
ให้เลี้ยงดูเด็กเชิงบวกที่ไร้ความรุนแรง
ทางผู้บริหารมูลนิธิ Save the Children Thailand ระบุอีกว่า… นิยามคำว่า “การลงโทษโดยการทำร้ายร่างกาย” นั้นหมายถึง “การใช้กำลังทางกายภาพในรูปแบบใดก็ตาม ที่มีเจตนาก่อให้เกิดความเจ็บปวด” ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้เป็นประเด็นที่น่ากังวลในระดับโลก โดย “การลงโทษเด็กด้วยวิธีรุนแรง“ นั้น ในต่างประเทศมีงานศึกษาวิจัยหลายชิ้น ที่พบว่า…
มาตรการลงโทษรุนแรงนี้ “ส่งผลเสีย“
มีผลเสีย “ทั้งร่างกาย-สุขภาพจิตเด็ก“
ขณะที่ในไทยก็พบสถิติที่น่าวิตกคือ ผลสำรวจพบว่าเด็ก 3 ใน 4 คน ที่มีอายุระหว่าง 1-14 ปี เคยถูกลงโทษทางร่างกายหรือจิตใจโดยสมาชิกในครอบครัว และ มีเด็กราว 4.2 คน ในทุก 100 คน ต้องทนทุกข์กับการถูกลงโทษทางร่างกายอย่างรุนแรง ซึ่งการถูกปฏิบัติเช่นนี้ไม่เพียงเป็นอันตรายต่อเด็กในระยะสั้นเท่านั้น แต่ ในระยะยาวก็ส่งผลเชิงลบ เช่น ทำให้บกพร่องพัฒนาการด้านการรู้คิดและอารมณ์สังคม และยิ่งเพิ่มโอกาสมีพฤติกรรมรุนแรงเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ด้วย
“การแก้กฎหมาย อาจเป็นก้าวสำคัญสู่การยุติการลงโทษเด็กทางร่างกายในไทย เนื่องจากการแก้ไขมีจุดมุ่งหมายเพื่อห้ามการใช้การลงโทษทางร่างกายโดยพ่อแม่และผู้ปกครองอย่างชัดเจน ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมถึงอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กสหประชาชาติด้วย“ …เป็นการสะท้อนไว้โดย มร.กีโยม
นอกจากนั้น ทางผู้บริหารมูลนิธิ Save the Children Thailandยังสะท้อนผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มาอีกว่า…มีการศึกษามากกว่า 300 ชิ้น ที่ชี้ให้เห็นผลกระทบเชิงลบของการลงโทษทางร่างกาย ขณะที่ไม่มีการศึกษาใด ๆ ที่พบหลักฐานสนับสนุนประโยชน์ของการลงโทษในลักษณะดังกล่าวนี้ โดยประเทศที่มีกฎหมายห้ามลงโทษเด็กด้วยความรุนแรง ห้ามพ่อแม่ผู้ปกครองลงโทษเด็กทางร่างกาย มีอาทิ… สวีเดน ฟินแลนด์ เยอรมนี โดยประเทศเหล่านี้หลังมีการบังคับใช้กฎหมายก็พบว่า…
รุนแรงต่อเด็กรูปแบบต่าง ๆ ลดลง…
และสังคมมีการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก
“การมีกฎหมาย อาจเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเอื้อต่อการเลี้ยงดูเด็กเชิงบวกมากขึ้น เราหวังว่าในเร็ว ๆ นี้ไทยจะเป็นประเทศที่ 67 ที่ยุติการลงโทษทางร่างกายอย่างเป็นทางการ เพราะสิ่งนี้ไม่เพียงแค่ปกป้องเด็ก แต่ยังสร้างสังคมที่ให้คุณค่าในศักดิ์ศรีทุกคนด้วย“…ทาง มร.กีโยม ระบุ
พร้อมทั้งย้ำด้วยว่า… ภารกิจของมูลนิธิฯ ที่ได้มีการรณรงค์มานานกว่า 10 ปี คือส่งเสริมให้สังคมไทยเลือกใช้วิธีเลี้ยงดูเด็กเชิงบวก เพราะ การที่สังคมใดมีสภาพแวดล้อมที่ไร้การลงโทษทางร่างกายด้วยความรุนแรง จะก่อให้เกิดสภาพสังคมเชิงบวก ที่ผู้คนให้ความเคารพและตระหนักในคุณค่าของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนทุกคน ที่เท่า ๆ กัน
ก็ “น่าติดตามดูผล?“สำหรับ “ในไทย“
กับการ “จะแก้ไขกฎหมาย“ กรณีนี้…
ไทย…“จะมีกฎหมายห้ามตีเด็ก??“.