ข้อมูลบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด(บวท.) หน่วยงานผู้ให้บริการการเดินอากาศของประเทศ พบว่าเดือน ต.ค.2566-พ.ค.2567 มีเที่ยวบินให้บริการรวม 556,864 เที่ยวบิน เป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 280,720 เที่ยวบิน, เที่ยวบินภายในประเทศ 216,537 เที่ยวบิน และเที่ยวบินผ่านน่านฟ้า 59,607 เที่ยวบิน โดยเที่ยวบินไทย – จีน มีสัดส่วนสูงสุด20% ของปริมาณเที่ยวบินระหว่างประเทศทั้งหมด     ตั้งแต่เดือน ต.ค.2566- พ.ค.2567 มีปริมาณเที่ยวบิน ไทย – จีน รวม 55,433 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 213% คาดว่าทั้งปี2567 จะมีปริมาณเที่ยวบินไทย – จีน 86,150 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 126%  

ส่วนจำนวนผู้โดยสาร หลายหน่วยงานคาดการณ์ตรงกันว่าภายในปี2567จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยกว่า 8 ล้านคน  ก่อนโควิด-19 เมื่อปี 2562 ไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวถึง 39.9ล้านคน ในจำนวนนี้ 11ล้านคนมาจากจีน

ล่าสุด รมช.คมนาคม นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ  พร้อมคณะผู้บริหาร บวท. นำคณะสื่อมวลชน ร่วมศึกษาดูงานความร่วมมือด้านการบินระหว่างประเทศไทยและจีน ที่นครเฉิงตู มณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเตรียมพร้อมด้านเทคโนโลยี รองรับการเติบโตที่เพิ่มขึ้น และสนับสนุนนโยบายรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไทย-จีน

ช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา มีเที่ยวบินไป–กลับ เฉิงตู 5,896 เที่ยวบิน คาดว่าปี2567 จะมีเที่ยวบินไป-กลับ เฉิงตู 8,850 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 265% สนามบินไทยที่มีเที่ยวบินไป-กลับ เฉิงตู ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ และสมุย หลายสายการบินขอเพิ่มเที่ยวบินมาเฉิงตู บวท. จึงออกแบบการจราจรทางอากาศใหม่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันเพื่อทำให้การจัดจราจรทางอากาศมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นลดความแออัดในเส้นทาง

10 ปีมานี้ “เฉิงตู”ได้รับการพัฒนาและเติบโตรวดเร็วมาก นักธุรกิจ และนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนต่อเนื่อง ส่งผลให้สนามบินเฉิงตูชวงหลิว สนามบินนานาชาติแห่งเดียวของเฉิงตู ไม่เพียงพอ ต้องสร้างสนามบินนานาชาติใหม่แห่งที่สอง ชื่อ”สนามบินเฉิงตูเทียนฟู่”  เมื่อปี 2559 อยู่ห่างเมืองเฉิงตูประมาณ 70 กม. ใช้เวลาเดินทาง 1.30 ชม.เปิดบริการแล้ว 2 อาคาร เมื่อปี 2564 และมีแผนสร้าง 4 อาคารบนพื้นที่ 7.2 แสนตารางเมตร(ตร.ม.) มี 3 รันเวย์ จากแผนสร้าง 6 รันเวย์ รองรับผู้โดยสารได้ 120 ล้านคนต่อปี    

การใช้ชีวิตของผู้คน “เฉิงตู” คล้ายคนไทย ขึ้นชื่อเรื่องศิลปวัฒนธรรม แหล่งกำเนิดหมีแพนด้า อาหารอร่อย แหล่งธรรมชาติ ชอบช้อปปิ้ง เป็นนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพด้านการใช้จ่าย คนเฉิงตูมาไทยมากขึ้น เพราะชอบเที่ยวทะเลเนื่องจากเฉิงตูไม่มีทะเล และคนไทยมีอัธยาศัยดี เป็นการขยายตลาดการบินที่คุ้มค่า และคาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสู่ประเทศอย่างมหาศาล

แต่เส้นทางการบินเข้า-ออกระหว่างไทยและจีน ที่ผ่านสปป.ลาว กำลังประสบปัญหาคอขวด จราจรทางอากาศติดขัด บริเวณ สปป.ลาว ที่จะเข้ามายังไทย จึงต้องร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยอยู่ระหว่างจัดทำเส้นทางบินใหม่แบบคู่ขนาน(Parallel Route) จากปัจจุบันเป็นแบบเส้นทางบินเดี่ยว(One Way Route)…..นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ ประธานคณะกรรมการ(บอร์ด) บวท.  บอกถึงเส้นทางบินรูปแบบใหม่ระหว่างไทย-จีน

การเดินทางด้วยเครื่องบินจากกรุงเทพฯ มาเฉิงตู ใช้เวลาประมาณ 3 ชม.  เส้นทางนี้มีประสิทธิภาพสูงมาก เที่ยวบินเพิ่ม 3-4 เท่าตัว อีก 3 ปีข้างหน้าอาจรองรับไม่เพียงพอ จึงต้องเร่งเพิ่มศักยภาพรองรับในลักษณะเดียวกับการเดินทางโหมดอื่นๆ อาทิ ขยายถนนเดิม 2 ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจร ส่วนรถไฟเดิมมีทางเดี่ยวก็ขยายเป็นทางคู่ ดังนั้นทางอากาศก็ต้องปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน จากเดิม 1 เส้นทาง เป็น 2 เส้นทาง ช่วยเพิ่มความรวดเร็ว ความปลอดภัย ลดปัญหาเที่ยวบินล่าช้า(ดีเลย์) ขณะนี้เส้นทางเที่ยวบินไทย-จีนผ่าน สปป.ลาว รองรับได้ 1 แสนเที่ยวบินต่อปี เส้นทางบินใหม่ แบบคู่ขนานจะรองรับเพิ่มเป็น 2 แสนเที่ยวบินต่อปี ลดเวลาการเดินทางจากกรุงเทพฯ -เฉิงตูเหลือ 2 ชม.กว่าๆ เท่านั้น

ด้านนายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บวท. บอกว่า  ไทย-จีน-ลาว ร่วมกันจัดทำแผนสร้างเส้นทางบินใหม่ โดยประกาศบนเวทีการประชุมผู้ให้บริการการเดินอากาศในเอเชียแปซิฟิกเมื่อต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ณ นครเฉิงตู แล้ว  หลังจากนี้จะเริ่มบินสาธิตข้ามพรมแดน ในเส้นทางระหว่างไทย ลาว และจีน โดยบินจากไทยไปเมืองทางตะวันตกของจีน อาทิ เฉิงตู ฉงชิ่ง คุนหมิง และกุ้ยหยาง คาดว่าจะใช้เวลาทดสอบการบินประมาณ 1 ปี ก่อนใช้เส้นทางเป็นทางการภายในปี 2568

นอกจากนี้ บวท. ยังมีแผนจัดทำเส้นทางบินใหม่แบบคู่ขนานในเส้นทางอื่นๆ ที่มีปริมาณจราจรทางอากาศหนาแน่นด้วย อาทิ ประเทศอินเดีย รวมทั้งจะนำเทคโนโลยีต่างๆ อาทิ ระบบเชื่อมต่อข้อมูล ระบบการเดินอากาศด้วยดาวเทียม เข้ามาช่วยเพิ่มขีดความสามารถบริหารความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ และทำให้เที่ยวบินตรงเวลา ลดความล่าช้าของเที่ยวบิน และรองรับปริมาณเที่ยวบินได้มากที่สุด

เส้นทางบินใหม่แบบคู่ขนาน  เพิ่มความสะดวกรวดเร็วไทย-จีน  ต้อนรับนักท่องเที่ยวสู่ประเทศไทยให้ล้นหลาม.

—————
นายสปีด

คลิกอ่านบทความทั้งหมดที่นี่

***ห้ามคัดลอกเนื้อหาในบทความและนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต