อย่างไรก็ดี กับกรณี ’เฒ่า-แก่-สูงวัย-สูงอายุ นี่วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะชวนโฟกัสกันสักหน่อย โดยที่ไม่ได้เกี่ยวกับวิวาทะกรณี สว. หากแต่จะชวนพลิกแฟ้มดูกันเกี่ยวกับศัพท์คำหนึ่งที่ยึดโยงกับการสูงวัย-สูงอายุ ในมุมที่ ’มีคุณค่า-มีพลัง“ คือศัพท์คำว่า ’พฤฒพลัง“

ภาษาอักฤษใช้คำว่า ’Active Aging“

ทับศัพท์เป็นไทยก็ ’แอ็กทิฟ เอจจิ้ง“

ที่ ’ไทยยุคสังคมสูงวัย…ยิ่งน่าคิด??“

อนึ่ง ในแง่ “ความหมาย” คำว่า “พฤฒพลัง” หรือ “Active Aging” นั้น สำหรับศัพท์คำนี้ ตามกรอบแนวคิดที่ทาง องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้อธิบายเอาไว้ หมายถึง… การเป็นผู้สูงอายุที่ปราศจากโรคและมีความสามารถในการใช้ร่างกาย จิตใจ และสังคม ได้เป็นอย่างดี ถึงแม้ร่างกายเปลี่ยนแปลงไปตามอายุที่มากขึ้น แต่ผู้สูงอายุที่จัดอยู่ในกลุ่มพฤฒพลังก็ยังเป็นผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง และยังคงมีความสามารถที่จะทำงาน หรือประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ทางสังคมได้ โดยผู้สูงอายุที่อยู่ในนิยามคำว่า “พฤฒพลัง” นั้น สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้ตามสิทธิที่มีอยู่ รวมถึงสามารถจะอยู่ในสังคม โดยที่…

Full shot senior people sitting on bench in park

’มีชีวิตได้อิสระ-มีชีวิตที่มีศักดิ์ศรี“

นี่เป็นคำอธิบายโดยสังเขปโดย WHO

อย่างไรก็ตาม แต่การที่จะได้ชื่อว่าเป็น “ผู้สูงอายุที่มีคุณภาพที่สามารถจะจัดว่าเป็น’ผู้สูงอายุที่มีพฤฒพลัง“ ได้นั้น
ผู้สูงอายุก็จำเป็นที่จะต้องมีการเตรียมการ มีขั้นตอนและมีกระบวนการต่าง ๆ เพื่อเตรียมพร้อม และเตรียมตัว ทั้งทาง
ด้านร่างกายและทางด้านจิตใจ เพื่อที่จะได้ ’เข้าใจตนเองถึงการเปลี่ยนแปลง“ ทั้งทาง ’ร่างกาย-สมอง-อารมณ์-จิตใจ“

สำหรับ “ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ” ที่ผู้สูงอายุจะต้องเผชิญ และต้อง ’ปรับตัว-ปรับใจ…เพื่อรับมือ“ นั้น เริ่มจาก… “ด้านร่างกาย” ที่ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงลำดับต้น ๆ ที่ผู้สูงอายุต้องเผชิญ โดยเมื่อเข้าสู่วัยนี้ร่างกายก็ย่อมจะเริ่มอ่อนแอลง การเคลื่อนไหวช้าลง หรือบางคนเกิดปัญหาการทรงตัวที่ไม่ดี หรือแม้แต่ปรับตัวเข้ากับสภาพดินฟ้าอากาศยากขึ้นกว่าในอดีต, “ด้านสมอง” ได้แก่ หลงลืมง่ายขึ้น ระบบความจำเสื่อมถอย หรืออาจมีการตัดสินใจและการค้นหาเหตุผลที่แย่ลง, “ด้านอารมณ์” เช่น อารมณ์ไม่คงที่ อ่อนไหวง่าย เอาแต่ใจ หรือรู้สึกโกรธง่าย กว่าในอดีต …เหล่านี้เป็นความเปลี่ยนแปลงที่…

’ผู้สูงวัย“ ต้องเผชิญ…ซึ่ง ’ต้องเท่าทัน“

นอกจากนี้ อีกหนึ่ง “ปัญหาใหญ่” ที่ผู้สูงอายุต้องพบเจอก็คือปัญหา “ด้านจิตใจ” ซึ่งก็จะเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้สูงอายุมีภาวะอารมณ์ไม่คงที่ด้วย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพ หรือร่างกายไม่แข็งแรง โดยมักจะ เกิดภาวะเครียดจากการวิตกกังวลเรื่องต่าง ๆ เช่น ขาดรายได้ดำรงชีวิต กลัวลูกหลานไม่เลี้ยงดู กลัวถูกทอดทิ้ง รวมถึง กลัวถูกมองว่าเป็นคนไม่มีคุณค่า!! ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลบำบัด ส่วนใหญ่มักจะ เกิดทัศนคติเชิงลบต่อตัวเอง เช่น รู้สึกไม่มีศักดิ์ศรี จนนำไปสู่การเกิดความรู้สึกว้าเหว่ หรือ รู้สึกอ่อนไหวเปราะบางทางอารมณ์ ซึ่งสภาพจิตใจต่าง ๆ เหล่านี้ ’ต้องถือว่าเป็นปัญหา!!“…

ทั้งต่อตัวผู้สูงอายุเอง-สังคมรอบข้าง

แล้ว “เช่นไรจึงจะเป็นผู้สูงวัยที่มีพฤฒพลัง??” ที่ยังเป็นพลัง…ที่มิใช่เป็นภาระ… ซึ่งกรณีนี้ก็มีคำแนะนำแนวทางไว้ว่า… อาจเริ่มจาก เตรียมใจยอมรับ โดยพยายามปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับสภาวะที่เป็นอยู่ และไม่ควรคิดถึงอายุที่ล่วงเลยไปหรือเรื่องในอดีตที่ผ่านมาด้วยความวิตกกังวล เพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งรบกวนที่จะส่งผลให้เกิดความเครียด, รับคำปรึกษาจากคนอื่นบ้าง โดยไม่ควรจริงจังกับชีวิตตัวเองมากเกินไป, ไม่ควรมีความคิดเชิงลบ เช่น คิดไปเองว่าเพราะอายุมากแล้ว จึงทำให้คนอื่นเลิกเคารพนับถือ และอีกประการที่ก็สำคัญมาก คือ…  ยอมรับการเป็นผู้สูงอายุ โดย ปฏิบัติตัวให้ถูกต้องเหมาะสม…

ไม่ให้คนต่างวัยรำคาญ-อยากถอยห่าง

ถึงแม้จะไม่ง่าย แต่ก็คงไม่ยากเกินที่จะทำ

ทั้งนี้ นอกจากแนวทางข้างต้นแล้วก็ยังมี “หลักปฏิบัติเพื่อให้เป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ ที่ครอบครัว สังคม คนต่างวัย อยากอ้าแขนรับ หรือไม่รู้สึกรำคาญที่จะต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน” โดยมีคำแนะนำน่าสนใจที่เว็บไซต์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต www.istrong.co ได้ให้แนวทางไว้ เริ่มจาก… ลดอคติที่มีต่อช่วงวัยอื่น โดยพูดคุยรับฟังเหตุผลกันและกันมากขึ้น, พูดให้น้อย ฟังให้มาก เนื่องจากต้นเหตุปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างวัยมักเกิดจากการพูดเรื่องตัวเองมากกว่ารับฟังเรื่องคนอื่น, เปิดใจให้กว้าง ที่จะส่งผลดีต่อการรักษาความสัมพันธ์กับคนต่างวัยได้ดีขึ้น และ อดทนต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง รวมถึงเลือกที่จะไม่สนทนาเรื่องหรือประเด็นเปราะบางที่ง่ายต่อการขัดแย้ง …ต่าง ๆ เหล่านี้เป็นแนวทางน่าสนใจ

วุฒิ-ความรู้-ประสบการณ์…นั่นส่วนหนึ่ง

’มีพฤฒพลัง“ นั้น ’มิใช่แค่มีอายุมาก“

หากแต่ต้อง ’แอ็กทิฟแบบเหมาะสม“

จึงจะ ’มีคุณค่า-ไม่ถูกถอนหงอก!!“.

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่