ใครจะไปเชื่อ เรื่องราวของ ปลาหมอคางดำ กลับมาเป็นข่าวฮือฮาอีกครั้ง กลุ่มเกษตรกรและประมงพื้นบ้านหลายจังหวัดกำลังขยับเคลื่อนไหวให้รัฐบาลยกระดับเป็น วาระแห่งชาติ ก่อนที่พันธุ์ปลาพื้นเมืองในเมืองไทยจะลดน้อยลงไปมากกว่านี้ ถึงขั้นอาจจะสูญพันธุ์กันเลยทีเดียว
ก่อนหน้านี้ เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ทีมข่าวเดลินิวส์ เห็นข้อมูลการรายงานข่าวภูมิภาคทางภาคใต้ นำเสนอ พบปลาหมอคางดำ ไปโผล่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะ จ.นครศรีธรรมราช ทั้งที่ข่าวปลาหมอคางดำ เงียบหายไปนานหลายปี หลังจากเคยพบครั้งแรกในพื้นที่ อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม จนระบาดส่งผลกระทบให้กับระบบนิเวศหลายจังหวัด
ทั้งแพร่ระบาดและอาละวาดไล่กินลูกกุ้งหอยปูปลามานานนับสิบปีแล้ว ก็ยังแก้ไม่ได้อย่างเป็นรูปธรรม!!
ปลาหมอคางดำ (Blackchin Tilapia) เป็นสัตว์น้ำต่างถิ่นจากทวีปแอฟริกา จัดเป็น เอเลียนสปีชีส์ สัตว์ที่เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น (introduced species) ไม่เคยปรากฏมาก่อนที่ไทย แต่ถูกนำเข้ามาจากถิ่นอื่น สามารถขยายพันธุ์รวดเร็วจึงแพร่กระจายลงแหล่งน้ำธรรมชาติจนเกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมระบบนิเวศในพื้นที่นั้น ๆ
ตอนนี้ กลุ่มเกษตรกร 14 จังหวัด ที่พบยอมรับปัญหาค่อนข้างสาหัส ประกอบด้วย จ.สมุทรสงคราม, เพชรบุรี, ราชบุรี, สมุทรสาคร, สมุทรปราการ, ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, สงขลา และ กรุงเทพมหานคร ความพยายามร่วมกันแก้ปัญหาของกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงกุ้งปลาและชาวบ้านที่สัมผัสถึงปัญหาแท้จริงทำมาแล้วสารพัดรูปแบบ แม้จะรณรงค์ “ลงแขก” จับปลามาทำอาหารแปรรูป หรือภาครัฐ ตั้งงบมาซื้อปลาที่จับได้ไปทำปลาป่นอาหารสัตว์ แต่เจ้าปลาหมอคางดำก็ไม่ได้หมดไปง่ายๆ ยังพบตามแหล่งน้ำาธรรมชาติ โดยเฉพาะพื้นที่น้ำกร่อย
เครือข่ายประชาคมคนรักแม่กลอง กลุ่มแรก ๆ ที่เข้าไปมีบทบาทเปิดโปงปัญหาปลาหมอคางดำ พบระบาดหนัก ในพื้นที่ ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม พบมาก 10-20% อยู่ในนากุ้ง และวังปลา แรกๆ ชาวบ้านไม่รู้ คิดว่าเป็น ปลาหมอสี, ปลาหมอเทศกลายพันธุ์ กระทั่งเริ่มแพร่กระจายจากพื้นที่สมุทรสงคราม ไปเพชรบุรี นอกจากกุ้ง ปลา ที่เลี้ยงไว้จับได้น้อยลง อีกทั้งพันธุ์ปลาพื้นถิ่นที่เคยชุกชุมก็เริ่มหายากขึ้น มีปลาหมอคางดำมากขึ้นแบบผิดปกติ
ตอนแรกเครือข่าย 4 อำาเภอ 2 จังหวัด คือ จ.สมุทรสงคราม และ จ.เพชรบุรี เคยออกมาเคลื่อนไหวไปร้อง เรื่องการละเมิดสิทธิ์ ต่อ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จนทำให้ กสม. เรียก กรมประมง เข้าหารือกับทุกภาคส่วน จนทราบว่ามี บริษัทใหญ่ นำเข้ามาวิจัยจำนวน 2,000 ตัว แต่อ้างนำเข้าในปี 2549 และทำลายซากทิ้งโดยฝังกลบไปหมดแล้ว
ปัจจุบันกลายเป็นว่ากรมประมง ต้องแบกภาระจัดหางบประมาณขึ้นมา ทั้งรับซื้อเพื่อกำจัด เจ้าเอเลียนสปีชีส์ อีกทั้งเรื่องการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ยังถูกนำไปตั้งกระทู้ถาม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี การประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 27 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 66 ซึ่งส่งผลกระทบทั้งเกษตรกรและชาวประมง
คำถามที่ นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.พรรคก้าวไกล เขตบางบอนและบางขุนเทียน เคยถามเอาไว้ในสภาปลายปีที่แล้วว่า เมื่อเรามีข้อมูลชัดเจน สายพันธุ์ปลาชัดเจน ชื่อทางวิทยาศาสตร์ตรงกัน เราได้มีการ เรียกสอบเอกชน ที่อาจจะมีผลกระทบทางตรงหรือทางอ้อมเรื่องนี้หรือยัง ที่สำคัญการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว จะแก้ไขปัญหาให้ปลาเอเลียนสปีชีส์หมดไปอย่างไร?
เป็นอีกวิกฤติที่ถาโถมใส่ “รัฐบาลเศรษฐา” รอดูฝีมือการแก้ปัญหา หากเกาไม่ถูกที่คัน ปลาหมอคางดำคงจะขยายวงไปมากกว่า 14 จังหวัด!!
…………………………
เชิงผา