การชอปปิงในออนไลน์ หรือออฟไลน์ถือเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันของใครหลายคนแต่ถ้าชอปจนหยุดตัวเองไม่ได้ ซื้อของเกินความจำเป็น จนเกิดปัญหาหนี้สิน กระทบต่อความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวขึันมาแล้วนั้น ทรายหรือไม่ว่าอาการเหล่านี้อาจเข้าข่ายเป็น Shopaholic หรือ โรคเสพติดการชอปปิงโดยไม่รู้ตัว

วันนี้ Healthy Clean จึงขอพาไปรู้จักโรคดังกล่าวกับ พญ.อริยาภรณ์ ตั้งชีวินศิริกูล จิตแพทย์โรงพยาบาลBMHH- Bangkok Mental Health Hospital เผยว่า Shopaholic หรือ โรคเสพติดการชอปปิง เป็นโรคทางสุขภาพจิตประเภทหนึ่ง ซึ่งผู้ที่เป็นโรคนี้จะเสพติดการซื้อของโดยที่ไม่คำนึงถึงสถานะทางการเงินของตัวเอง และมีความอยากจะไปชอปปิงอยู่ตลอดเวลาโดยไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ จนทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น ปัญหาหนี้สิน ปัญหาความสัมพันธ์จนต้องทะเลาะกับคนในครอบครัว บางครั้งซื้อมาแล้วต้องโกหกคนในครอบครัวว่ามีคนให้มา หรือบอกราคาที่ถูกกว่าราคาจริงที่ซื้อ ซึ่งโรคนี้พบได้ตั้งแต่วัยรุ่นขึ้นไปทั้งเพศหญิงและเพศชาย

9 พฤติกรรมที่เข้าข่ายการเป็น Shopaholic
-อยากซื้อของตลอดเวลา
-ซื้อของเกินความจำเป็น
-ยับยั้งพฤติกรรมการชอปปิงของตัวเองไม่ได้
-มีความรู้สึกดีเมื่อได้ซื้อของ โดยมักจะรู้สึกดีได้แค่ช่วงเวลาสั้นๆ
-รู้สึกผิดหลังจากที่ซื้อมาแล้ว
-ซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้
-ซื้อซ้ำๆ ทั้งที่มีอยู่แล้วหลายชิ้น
-ต้องหลบซ่อนหรือโกหกปกปิดเวลาซื้อของนั้นๆ
-มีปัญหาด้านอื่นๆ เกิดขึ้นตามมา เช่น เกิดปัญหาหนี้สิน ปัญหาความสัมพันธ์ เป็นต้น

โรคเสพติดการชอปปิง เกิดได้ทั้งปัจจัยส่วนบุคคล และปัจจัยทางสังคม ซึ่งสาเหตุที่มาจากปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ มีภาวะซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล ขาดความภาคภูมิใจในตัวเอง มีปัญหาในการควบคุมตัวเองหรือยับยั้งชั่งใจ ส่วนปัจจัยทางสังคม เช่น การซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ รวมไปถึงการใช้บัตรเครดิตในการซื้อของไปก่อนโดยยังไม่ต้องใช้เงินสด สิ่งเหล่านี้ล้วนมีส่วนกระตุ้นให้เกิดการเสพติดชอปปิงได้ง่ายกว่าเมื่อก่อน

สำหรับการรักษา โรคเสพติดการชอปปิง สามารถรักษาให้หายได้ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการเปลี่ยนทัศนคติ เช่น การจำกัดวงเงินบัตรเครดิตหรืองดใช้บัตรเครดิต โดยส่วนใหญ่แล้วจิตแพทย์จะรักษาด้วยการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioural Therapy: CBT) ซึ่งจะเป็นการพูดคุยให้คำปรึกษา เพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของการมีพฤติกรรมโรคเสพติดการชอปปิง จากนั้นจึงทำการปรับเปลี่ยนความคิด ปรับพฤติกรรม เพื่อให้ผู้รับคำปรึกษาเข้าใจตัวเองและปรับเปลี่ยนนิสัยการเสพติดการชอปปิงได้ เช่น หากใช้การชอปปิงเป็นการระบายความเครียด ก็อาจจะหาวิธีระบายความเครียดวิธีอื่นๆ ที่ไม่ส่งผลเสียต่อตัวเอง หรือถ้ามีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย ก็ต้องรักษาควบคู่กันไป

ส่วนการป้องกันโรคเสพติดการชอปปิง ต้องเริ่มจากการวางแผนการใช้จ่าย จดบันทึกรายรับรายจ่าย หลีกเลี่ยงการใช้จ่ายเกินตัว, หากิจกรรมอื่นๆ ทำยามว่าง แทนการชอปปิง เช่น ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ ออกไปสังสรรค์กับเพื่อน, ฝึกฝนการควบคุมตัวเอง และหลีกเลี่ยงสื่อโฆษณา การตลาดที่กระตุ้นให้ซื้อของ

“ที่สำคัญเลยคือ หากพบว่าตัวเองหรือคนใกล้ตัวมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเป็นโรคเสพติดการชอปปิงควรเข้ามาปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างเหมาะสมนะคะ” พญ.อริยาภรณ์ กล่าวทิ้งท้าย..

………………………………………
คอลัมน์ : Healthy Clean
โดย “พรรณรวี พิศาภาคย์”
อ่านบทความทั้งหมดที่นี่…คลิก….