อย่างไรก็ตาม นักวิชาการหลายคนเชื่อว่า สุวรรณภูมิเป็นสถานที่ที่มีอยู่จริง มีอาณาบริเวณในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สมมุติฐานที่เกี่ยวกับตำแหน่งที่ตั้งของสุวรรณภูมิปรากฏอยู่หลายแห่ง ได้แก่ เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี, เมืองไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี, คาบสมุทรมาเลย์, เมืองสะเทิม, รัฐอาระกันหรือยะไข่ รวมถึงบริเวณปากแม่นํ้าอิรวดี ประเทศ
เมียนมา, และอื่น ๆ

ผู้คนเชื่อกันว่าดินแดนสุวรรณภูมินั้น คือดินแดนที่มีความมั่งคั่งเป็นอันมาก มักถูกกล่าวถึงในบริบทที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาและการค้าขายทางทะเล ตัวอย่างเช่น ใน คัมภีร์มหาวงศ์ของลังกา กล่าวถึงการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนต่าง ๆ ในจำนวน 9 แห่งนั้นคือสุวรรณภูมิ อีกทั้งยังมีการกล่าวถึงการเดินทางไปยังสุวรรณภูมิเพื่อแสวงโชคจากการค้าขายบริเวณแถบทะเล แม้ว่าการเดินทางเพื่อไปยังสุวรรณภูมิในอดีตนั้นจักถือเป็นการเผชิญอันตรายก็ตาม

สิ่งหนึ่งที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์อันแสดงออกถึงความอุดมสมบูรณ์และมั่งคั่งของดินแดนสุวรรณภูมิคือ “เครื่องประดับ” เนื่องจากเครื่องประดับมีความสัมพันธ์กับมนุษย์มาช้านาน นับเป็นวัตถุที่ถูกสวมใส่อย่างใกล้ชิดกับร่างกายมากที่สุด

จากข้อมูลผลงานวิจัยในโครงการกำเนิดพัฒนาการและความสำคัญของเครื่องประดับในดินแดนสุวรรณภูมิ ซึ่งดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 นั้น พบว่าเครื่องประดับชนิดต่าง ๆ ที่พบในดินแดนสุวรรณภูมิตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยทวารวดีในประเทศไทย แสดงให้เห็นวัฒนธรรมของผู้คนในดินแดนสุวรรณภูมิผ่านข้อมูลของเครื่องประดับประเภทต่าง ๆ ซึ่งสามารถนำมาเชื่อมโยงการติดต่อแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างอารยธรรมโบราณอื่น ๆ ทั้งในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออก สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงช่วยยืนยันว่าวัฒนธรรมของผู้คนในดินแดนสุวรรณภูมินั้นจัดเป็นย่านการปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรม (Cultural Interaction Sphere) แห่งหนึ่งของโลก ที่เชื่อมโยงกับอารยธรรมโบราณอื่น ๆ เท่านั้น แต่ยังทำให้เข้าใจถึงลักษณะเฉพาะของเครื่องประดับแต่ละยุคสมัยในแต่ละภูมิภาค ซึ่งเครื่องประดับบางชิ้นบ่งบอกเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของแหล่งโบราณคดีในภูมิภาคนั้น ๆ เช่น ในภูมิภาคตะวันออก พบเครื่องประดับจากเปลือกหอยที่แหล่งโบราณคดีโคกพนมดี และแหล่งโบราณคดีหนองโน จังหวัดชลบุรี ซึ่งมีรูปทรงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะแหล่งที่ไม่พบในแหล่งโบราณคดีภูมิภาคอื่น หรือในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เครื่องประดับประเภทลูกปัดแก้วจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ปรากฏลูกปัดบางรูปทรง อาทิ ทรงหลอดขนาดใหญ่ (Tube) ทรงแผ่นแบน (Cylinder Disc) ทรงกรวยประกบกัน (Truncated Bicone) ทรงกรวยหกเหลี่ยมประกบกัน (Faceted Hexagonal Bicone) เป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องที่ที่ไม่พบจากแหล่งโบราณคดีอื่นที่มีอายุร่วมสมัยกันเนื่องจากมักเป็นรูปทรงที่พบในลูกปัดหินจากแหล่งโบราณคดีที่มีอายุสมัยใหม่กว่า

รองศาสตราจารย์ ดร.สุภาวี ศิรินคราภรณ์ และ ดร.ขจรศักต์ นาคปาน อาจารย์ประจำคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับการสนับสนุน จากสถาบันสุวรรณภูมิศึกษา และธัชชา (วิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย) ออกแบบชุดผลงานเครื่องประดับสุวรรณภูมิร่วมสมัย บรรจุเนื้อหายุคก่อนประวัติศาสตร์ (สมัยหินเก่า สมัยหินใหม่ สมัยโลหะ) สะท้อนแง่มุมในคุณค่า 5 มิติ ได้แก่ 1.ด้านภูมิศาสตร์กายภาพและทรัพยากร 2.ด้านการตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการของรัฐ 3.ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีวิทยาการและการผลิต 4.ด้านการค้าขาย พาณิชยการและบริการ 5.ด้านศิลปะและวัฒนธรรม

ผลงานสร้างสรรค์เครื่องประดับร่วมสมัยสะท้อนแง่คิดในเรื่องผลงานเครื่องประดับ ‘รู ในสุวรรณภูมิ’ ‘รู ในสุวรรณภูมิเปิดเผยให้เห็นถึงความรู้ วิทยาการ และเทคโนโลยีการผลิตเครื่องประดับ รวมถึงการประยุกต์ใช้วัสดุเพื่อการออกแบบ เพื่อสะท้อนความเจริญก้าวหน้า ความลํ้าสมัย

 เครื่องประดับ รู ในสุวรรณภูมิ มุ่งเน้นรูปแบบเชิงศิลปกรรม ปรากฏคุณลักษณะทางกายภาพซึ่งทำหน้าที่ดุจเดียวกับภาพตัวแทนทางอุดมคติ (Idealistic Representation) อันมุ่งหวังให้ผู้ที่สัมผัสเกิดความรู้สึกรับรู้เชิงนามธรรมและความสำคัญของการสักการะทางพิธีกรรมด้วยวัตถุเครื่องประดับ เฉพาะอย่างยิ่ง พิธีกรรมแห่งความตายซึ่งแสดงออกถึงรากเหง้าแห่งความเคารพบรรพบุรุษ (heart with arrow)

“มรณาเจียระไน” ผลงานสร้างสรรค์เครื่องประดับ ที่อุบัติขึ้นจากการสำรวจและขยายผลความรู้ เพื่อการสร้างความตระหนักทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณ ซึ่งหมายรวมถึงการเสริมสร้างความเข้าใจในมรดกทางวัฒนธรรมความตาย, การสื่อสารคุณค่าทางวัฒนธรรมความตายผ่านเครื่องประดับ

ผลงานสร้างสรรค์ในรูปแบบเครื่องประดับอาจปลูกฝังหรือบ่มเพาะทัศนคติของผู้คนในสังคมร่วมสมัย รวมถึงการปฏิบัติต่อความตายด้วยมิติทางสุนทรียะ เท่ากับการระลึกรู้ถึง “การตายก่อนตาย”

ดร.ขจรศักต์ เล่าว่าได้สร้างสรรค์ทัศนภาพเป็นองค์ประกอบศิลป์ จึงเอาคำว่า “รู” มาเล่นในเรื่องของมิติเรื่องกาลเวลา เมื่อให้เกิดความรู้เทคโนโลยีของเครื่องประดับในยุคนั้น รวมถึงการประยุกต์ใช้วัสดุด้านการออกแบบ เพื่อสะท้อนให้เห็นความเจริญก้าวหน้าและยุคสมัยในการปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรม เครื่องประดับสร้างสรรค์มาจากไม้สัก และแทนค่าสัญลักษณ์ที่เป็นรูช่องตรงกลางของวัสดุที่เป็นโลหะ อะลูมิเนียมเพื่อให้เกิดความทันสมัยวิวัฒนาการของความรู้ งานทั้งหมดมี 14 ชิ้นงาน แต่ละชิ้นเล่าเรื่องราวแปลทัศนภาพทั้งการเดินเรือ รวมถึงตัวสัญญาสัญลักษณ์ที่เป็นในเรื่องของกาลเวลา ที่เป็นความทันสมัยวิทยาการ บ่งบอกนวัตกรรมอยู่ด้วยของดินแดนสุวรรณภูมิ เพราะว่าจะมีทั้งตะกั่วดีบุก

“ดินแดนสุวรรณภูมิคือความรุ่งเรือง ณ ช่วงเวลาหนึ่งซึ่งอยู่ในแถบอาคเนย์ใต้ เราโฟกัสชัดไม่ได้ว่าคือพื้นที่ไหน แต่ก็มีหลักฐานที่ขุดพบของพื้นที่เราในภาคกลางและภาคใต้ เสร็จแล้วมีการค้าขุดค้นพบเชือกไม้ หรือดีบุกที่เป็นลักษณะขององค์ความรู้ที่หลงเหลือไว้ มีการแลกเปลี่ยนระหว่างนานาชาติที่เขามาพักเรือเพื่อมาหาทรัพยากรของเรา ดินแดนสุวรรณภูมิที่ไม่ใช่คำว่าทอง แต่ถ้าเกิดใครมาจะเกิดความรํ่ารวย กลับไปจะรวยแน่นอนเพราะว่าจะมีทรัพยากรที่มหัศจรรย์ จึงเรียกดินแดนนี้ว่าสุวรรณภูมิ” ผู้สร้างสรรค์ผลงานกล่าวทิ้งท้าย.

พรประไพ เสือเขียว