กรมทางหลวง ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาประกอบด้วย บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด บริษัท วี เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท ธรรมชาติ คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท ดาวฤกษ์ คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด รวมการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) วงเงินประมาณ  29 ล้านบาทเริ่มศึกษามาตั้งแต่วันที่ 24 ธ.ค.2565-17 มี.ค.2567 ระยะเวลาศึกษา 15 เดือน

เนื่องจากแนวเส้นทางโครงการตัดผ่านพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีน่าน และอุทยานแห่งชาติลําน้ำน่าน ต้องเข้าสำรวจและเก็บข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม (สำรวจทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า) ในพื้นที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช  รวมถึงจัดทำแบบก่อสร้างและมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม   ล่าสุดได้ขยายระยะเวลาการศึกษาออกไปประมาณกว่า 10 เดือน  เพราะก่อนหน้านี้ต้องรอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอนุญาตเข้าสำรวจและออกแบบด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ  ขณะนี้ได้รับอนุญาตเรียบร้อยแล้วกำลังเร่งสำรวจฯ

โครงการไม่ต้องจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน (เวนคืน)  ขอใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติ ได้ข้อสรุปแนวเส้นทางเบื้องต้นโดยมีจุดเริ่มต้นบริเวณ กม.100+110 ของทางหลวงหมายเลข 1339 (ทล.1339ตอน อ.น้ำปาด-บ.ปากนาย พื้นที่ ต.ท่าแฝก อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ ผ่านพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติลําน้ำน่าน   ข้ามเวิ้งอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ด้วยโครงสร้างสะพานยาว 355 เมตร ต่อเนื่องด้วยคันทางในเขตอุทยานแห่งชาติลําน้ำน่านอีก 177 เมตร ก่อนข้ามอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ด้วยโครงสร้างสะพานข้ามอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ความยาวประมาณ 1,140 เมตร หรือ 1.140 กิโลเมตร (กม.)

แนวโครงสร้างสะพานด้านฝั่งทิศเหนืออยู่ทางด้านซ้ายของทล.1026 ตอน บ.ปากนาย-อ.นาหมื่น เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อชุมชนประมงบ้านปากนายที่หนาแน่น   จากนั้นเข้าบรรจบทล. 1026 (ตอน บ.ปากนาย-อ.นาหมื่น) ที่ กม.74+670 และซ้อนทับแนวทล. 1026 พื้นที่ ต.นาทะนุง อ.นาหมื่น จ.น่าน ระยะทางรวม 2,390 เมตร หรือ 2.390 กม.

รูปแบบสะพานปากนายข้ามเขื่อนสิริกิติ์เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 2 ช่องจราจร ไป-กลับ อนาคตถ้าปริมาณจราจรหนาแน่นขยายเป็น 4 ช่องได้ มีไหล่ทาง เกาะกลางแบบราวกั้นหรือกำแพง และทางเท้าทั้งสองข้าง      แนวคิดออกแบบจะนำงานสถาปัตยกรรมและภูมิสถาปัตยกรรมเชื่อมโยงถึงอัตลักษณ์ของ จ.น่าน และ จ.อุตรดิตถ์มาใช้ในสะพานรวมทั้งการปรับปรุงพื้นที่จุดจอดรถ พื้นที่จุดชมวิว ราวกันตก และงานตกแต่งเสาไฟฟ้าส่องสว่าง 

เบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท  เมื่อผลการศึกษาแล้วเสร็จจะสรุปงบประมาณก่อสร้างที่ชัดเจนต่อไป  คาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จช่วงต้นปี 2568 เพื่อเสนอรายงานอีไอเอให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พิจารณาเห็นชอบควบคู่กับขอใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติปี 2568-2569 มีแผนเริ่มก่อสร้างปี 2570 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี สร้างเสร็จเปิดบริการปี 2573

ข้อมูลสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาแพร่  ระบุว่าการขนส่งทางน้ำจากบ้านปากนาย-ท่าแฝกปี 2562-2565 รวม 4 ปีมีเที่ยวแพให้บริการรวม 8,116 เที่ยว ผู้โดยสาร 107,091 คน รถยนต์ 32,770 คัน และ รถจักรยานยนต์ (จยย.)  11,899 คัน  แนวโน้มปริมาณการจราจรเพิ่มสูงขึ้น  และไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง ใช้เวลารอแพขนานยนต์ จากต้นทาง-ปลายทางประมาณ 30 นาที 

สะพานปากนายข้ามเขื่อนสิริกิติ์จะเป็นทางลัดช่วยให้การเดินทางและขนส่งสินค้า สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยยิ่งขึ้น  ใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที  ช่วยลดระยะเวลาการเดินทาง ลดค่าใช้จ่ายและสามารถเดินทางได้ตลอด 24 ชม. เพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในพื้นที่.

—————
นายสปีด

คลิกอ่านบทความทั้งหมดที่นี่

***ห้ามคัดลอกเนื้อหาในบทความและนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต