ทั้งนี้ แม้สงกรานต์จะเป็นเทศกาลแห่งความสนุกสนาน แต่ด้วยหลาย ๆ สาเหตุก็อาจทำให้ “เจ็บป่วยได้ง่าย ๆ” ซึ่งเพื่อเป็นการ “เตรียมพร้อมทางสุขภาพ” หลังผ่านสงกรานต์แล้ว…

น่าลอง “เช็กลิสต์สุขภาพ” สักหน่อย

เช็กลิสต์ “โรคยอดฮิตหลังสงกรานต์”

การ “เช็กลิสต์สุขภาพเกี่ยวกับช่วงสงกรานต์” นี่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ขอสะท้อนต่อข้อมูลที่น่าพิจารณา ซึ่งจะมีโรคภัยไข้เจ็บอะไรบ้างที่ “ไม่ควรมองข้าม” ช่วงสงกรานต์-หลังสงกรานต์?? ก็มีข้อมูลที่เผยแพร่ให้ความรู้ไว้โดย นพ.ประวัฒน์ จันทฤทธิ์ ภาควิชาอายุร ศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โดยสังเขปมีดังนี้…

“โรคไวรัสตับอักเสบเอ” มีสาเหตุจากการ ติดเชื้อไวรัสผ่านทางน้ำลาย แม้จะติดเชื้อแบบเฉียบพลันเท่านั้น จะไม่เป็นโรคตับเรื้อรัง แต่ก็อยู่ในลิสต์ต้องระวัง โดย ช่วงสงกรานต์หลายคนอาจมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ใช้แก้วน้ำ ใช้ภาชนะร่วมกัน ซึ่งเชื้อไวรัสนี้จะทำให้ตับเกิดการอักเสบ เมื่อได้รับเชื้อเข้าไปจะมีระยะฟักตัวราว 14-28 วัน เมื่อแสดงอาการผู้ป่วยจะ มีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ปวดท้อง ถ่ายเหลว ท้องเสีย โดยปัสสาวะจะสีเข้ม อุจจาระสีอ่อน ซึ่งถ้าเคยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอแล้วมีโอกาสน้อยที่จะกลับมาเป็นซ้ำอีกเพราะมีภูมิต้านทานแล้ว …แต่นี่ก็เป็นโรคที่ “ควรระวังช่วงสงกรานต์”

“โรคตาแดง” เกิดจากการติดเชื้อไวรัสจากการสัมผัสน้ำตาผู้ที่เป็นโรคตาแดงอยู่ก่อน โดยมืออาจไปสัมผัสเชื้อแล้วนำมือมาสัมผัสตาตนเอง หรืออาจได้รับเชื้อที่กระจายอยู่ในอากาศ หรือจากน้ำที่กระเด็นเข้าตา โดยเชื้อใช้เวลาฟักตัว 1-2 วันก่อนแสดงอาการ ซึ่งมักตรวจพบเชื้อก่อโรคบริเวณตาและลำคอได้ตั้งแต่วันแสดงอาการถึง 14 วันหลังเริ่มมีอาการ โดยมีสัญญาณของอาการเริ่มจาก ระคายเคืองตา ปวดเล็กน้อยในเบ้าตา น้ำตาไหล เมื่ออาการรุนแรงขึ้นอาจทำให้เปลือกตาบวม ต่อมน้ำเหลืองหน้าหูโตและกดเจ็บ จากนั้นเยื่อบุตาจะค่อย ๆ แดงขึ้นจนแดงก่ำ โดยส่วนใหญ่จะหายเองใน 1-3 สัปดาห์ แต่บางราย อาจมีอาการเรื้อรังเป็นเดือน จนทำให้เกิดพังผืดที่เยื่อบุตาได้ ดังนั้นเมื่อมีอาการควรพบจักษุแพทย์จะดีที่สุด

“ตาแดงหลังสงกรานต์” นี่ก็ “ยอดฮิต!!”

ลำดับต่อมาที่อยู่ในลิสต์คือ “โรคเชื้อราผิวหนัง” นี่ก็ถือเป็น โรคฮิตที่พบได้เสมอหลังผ่านพ้นเทศกาลสงกรานต์ จากการเล่นสาดน้ำติดต่อกันนาน ๆ โดยบริเวณที่เป็นจุดเสี่ยงจะเกิดโรคเชื้อราได้นั้น อาทิ บริเวณซอกต่าง ๆ บนร่างกาย เช่น ซอกนิ้วมือ นิ้วเท้า ขาหนีบ หรือข้อพับต่าง ๆ โดยเมื่อผิวหนังติดเชื้อรา จะ มีลักษณะผิวเปื่อยลอก หรือผื่นแดงแฉะ หรือมีขุยขาวลอกออกมา แต่ถ้าเป็นชนิดผื่นหนา ผิวจะเปื่อยยุ่ย ลอกเป็นขุย มีกลิ่นเหม็น ซึ่งหาก ปล่อยให้ติดเชื้อเรื้อรัง ผื่นจะหนาขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ยากต่อการรักษาให้หายขาด ทั้งยังเป็นช่องทางให้เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ผิวหนังได้ง่ายขึ้น…

ส่วนการรักษาโรคเชื้อราผิวหนัง มีคำแนะนำคือ ต้องทายาฆ่าเชื้อราสม่ำเสมอ แม้อาการดีขึ้นก็ไม่ควรหยุดทาทันที แต่ควรทาต่อเนื่องอย่างน้อย 4 สัปดาห์ และควรหลีกเลี่ยงยาทาฆ่าเชื้อโรคอื่นที่มีฤทธิ์ระคายเคืองผิวหนัง หรือแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้ยิ่งแห้งยิ่งคันมากขึ้น และควรรักษาความสะอาดโดยทำให้ผิวที่ติดเชื้อราแห้งอยู่เสมอ ก็จะป้องกันการเป็นซ้ำอีกได้

“โรคท้องร่วง-ท้องเสีย” นี่ก็อยู่ในลิสต์ต้องระวังช่วงสงกรานต์-หลังสงกรานต์ โรคนี้เกิดได้ทั้งจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสที่ปนเปื้อนในอาหาร ซึ่ง ช่วงสงกรานต์เป็นฤดูร้อน เป็นช่วงที่เชื้อโรคเพิ่มจำนวนได้ง่าย ทำให้เสี่ยงที่จะป่วยโรคท้องเสียได้ง่ายด้วย โดยการดูแลเบื้องต้นนั้น ในรายที่ท้องเสียเฉียบพลัน อาการไม่มาก มีคำแนะนำให้ถ่ายออกมาจนหมด หลีกเลี่ยงการรับประทานยาหยุดถ่าย เพราะจะทำให้ของเสียหรือเชื้อโรคยังสะสมอยู่ในลำไส้ และระหว่างมีอาการให้เลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีนมเป็นส่วนประกอบ แต่ควรจะรับประทานอาหารอ่อน ๆ ที่ย่อยง่าย และถ้าหากถ่ายบ่อยจนร่างกายอ่อนเพลีย ก็ให้ดื่มน้ำเกลือแร่ร่วมด้วย แต่ ถ้าผู้ที่ท้องเสียเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี และผู้สูงอายุ ไม่ควรรักษาเอง แต่ควรไปพบแพทย์จะดีที่สุด เพราะถ้าอาการรุนแรงอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้!!…ดังนั้น “ท้องเสียนี่ใช่ว่าไม่อันตราย!!”

อีกโรคต้องระวังคือ “โรคปอดอักเสบ” หรือที่เรียกว่า “ปอดบวม” โรคนี้เกิดจากการอักเสบของเนื้อปอด โดยเฉพาะที่บริเวณถุงลมของปอด ซึ่งผู้ป่วยปอดอักเสบอาจมีอาการที่แตกต่างกันไป ขึ้นกับเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ อายุผู้ป่วย และความรุนแรงของโรค โดยทั่วไปมักมีอาการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนนำมาก่อน เช่น ไอ เจ็บคอ มีไข้ มีน้ำมูก หายใจหอบเหนื่อย แต่บางรายก็อาจมีอาการไม่เฉพาะเจาะจง อาทิ มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย หรือบางรายอาจหนาวสั่น

การรักษาโรคปอดอักเสบนั้น แพทย์จะพิจารณา รักษาตามอาการและสาเหตุเป็นหลัก หากเป็นปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ แพทย์จะให้รับประทานยาฆ่าเชื้อตามชนิดของเชื้อที่ตรวจพบ และนัดติดตามอาการเป็นระยะ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นจำเป็นต้องตรวจหา
สาเหตุอื่นเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ ที่สำคัญ หากเป็นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้อายุ 65 ปีขึ้นไป หรือมีโรคประจำตัวเรื้อรัง อาจต้องอยู่โรงพยาบาลเพื่อเฝ้าดูอาการใกล้ชิด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์เป็นสำคัญ…

เหล่านี้เป็น “5 โรค” ที่มัก “พบได้บ่อย”

มักปรากฎ “หลังผ่านช่วงสงกรานต์”…

“เช็กลิสต์” กันไว้ “อย่าได้ประมาท!!”.