ระยะหลังเมื่อกลุ่มผู้กระทำความผิด เป็น เจ้าหน้าที่รัฐ หรือ ผู้ที่กระทำภายใต้อำนาจหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเป็นผู้รักษากฎหมาย เมื่อมาเป็นผู้กระทำความผิดเสียเอง ฐานความผิดจึงต้องแตกต่างจากฐานความผิดต่อชีวิตและร่างกายทั่วไป ดังนั้นจำเป็นต้องบัญญัติเป็นฐานความผิดเรื่อง การกระทำทรมาน แยกออกมาต่างหากจากฐานความผิดทางอาญาทั่วไป และกำหนดโทษของผู้กระทำผิดให้สูงขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบกระบวนการยุติธรรมให้ได้อย่างแท้จริง
ร่างกฎหมายที่ต่อสู้มายาวนาน
ทีมข่าว 1/4 Special Report ยังคงเกาะติดความคืบหน้า หลังจากเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 64 สภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติเห็นชอบรับหลักการ ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการ กระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ… โดยเสียงเป็นเอกฉันท์ 363 ต่อ 0 จากผู้เข้าร่วมประชุม 365 เสียง งดออกเสียง 1 ราย และไม่ลงคะแนนเสียง 1 ราย ซึ่งเป็นการผ่านร่างกฎหมายในวาระแรก นับเป็นกฎหมายที่มีประวัติการผลักดันอย่างยาวนานกว่า 10 ปีแล้ว ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณารับร่างพ.ร.บ.ซึ่งมี 4 ร่าง ได้แก่
1.ร่างของรัฐบาลโดยกระทรวงยุติธรรม 2. ร่างของกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน 3. ร่างของพรรคประชาชาติ และ 4. ร่างของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งก็มีมติใช้ร่างของรัฐบาลเป็นร่างหลัก และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ 25 คน กำหนดระยะเวลาแปรญัตติไว้ 7 วัน ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญตอนแรกมีกำหนดจะประชุมนัดแรก ในวันที่ 21 ก.ย. แต่ก็ขยับไปเป็นวันที่ 5 ต.ค.
หลายฝ่ายตั้งความหวังว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะผ่านการรับรองของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา จนประกาศใช้มีผลเป็นกฎหมายภายในปี 2564 นี้ เพื่อป้องกันและปราบปรามไม่ให้มีการซ้อมทรมานและอุ้มหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐอีก โดยมีบรรดาบุคคลที่มีชื่ออยู่ในแวดวงสิทธิมนุษยชนถูกเสนอให้เข้าไปเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ รวมถึง นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ภรรยาของ ทนายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งถูกอุ้มบังคับให้เป็นผู้สูญหาย ตั้งแต่ ปี 2547 ถือเป็นผู้หนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรง รวมทั้งพยายามผลักดันให้เกิด พ.ร.บ. ฉบับนี้มาตั้งแต่ต้น
นางอังคณา ให้สัมภาษณ์ทีมข่าว 1/4 Special Report ว่า ในหลักการแล้วหากไม่มีกฎหมายก็ไม่มีสิทธิ เพราะฉะนั้นเราทุกคนจะมีสิทธิได้จำเป็นจะต้องมีกฎหมายบัญญัติเอาไว้ โดยเฉพาะในส่วนของเรื่องการซ้อมทรมานและการอุ้มหาย ประเทศไทยไม่มีกฎหมายที่บัญญัติไว้อย่างชัดเจน มีเพียงแค่กฎหมายในฐานความผิดที่เกี่ยวกับการทำร้ายร่างกายเท่านั้น ซึ่งไม่ได้ครอบคลุมถึง การซ้อมทรมาน ที่รวมไปถึงเรื่องการกดดันให้เกิด ผลกระทบทางจิตใจ ในส่วน การบังคับสูญหาย ก็ยังไม่มีระบุอยู่ในกฎหมาย มีเพียงความผิดฐานฆาตกรรม หรือการกักขังหน่วงเหนี่ยว
ถึงเวลาแล้วต้องมีกฎหมายฉบับนี้
นางอังคณา กล่าวต่อว่า เพราะฉะนั้นเมื่อไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการซ้อมทรมานและบังคับให้สูญหาย ผู้ที่กระทำโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐก็จะไม่มีความผิด และส่งผลไปถึงสิทธิในการเข้าถึงความยุติธรรมของเหยื่อได้หายไปอีกด้วย เหตุนี้ จึงมีความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องมี กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการซ้อมทรมานและบังคับบุคคลให้สูญหาย เพื่อเป็นการป้องกัน และมีมาตรการบังคับใช้กับผู้ที่กระทำผิดอย่างเป็นระบบ หากยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้อง กันการซ้อมทรมานและบังคับบุคคลให้สูญหาย จะทำให้บุคคลที่กระทำผิด โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ต้องรับโทษ จึงเกิดเรื่องราวการซ้อมทรมานและบังคับบุคคลให้สูญหายในลักษณะนี้ซ้ำซากมาโดยตลอด
จากประสบการณ์ที่ได้ทำงานกับเหยื่อหรือผู้เสียหายมานั้น พบว่าเบื้องต้น ผู้เสียหาย จะถูกทำให้เป็นคนไม่ดี เช่น กรณีทนายสมชาย ก็จะถูกกล่าวหาว่าเป็นทนายโจรบ้าง หรือกรณีนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ ที่สูญหายไปในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ก็จะถูกกล่าวหาเป็นพวกบุกรุกป่า ทำลายป่า ล่าสัตว์ป่า ทำให้บางครั้งเมื่อสังคมทั่วไปมองว่า ผู้เสียหายนั้นเป็นคนไม่ดีหากจะถูกซ้อมถูกทรมานหรือถูกทำให้หายไปกำจัดออกสังคมก็ไม่เห็นแปลกแต่อย่างใด สิ่งนี้จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังจะสนับสนุนทำให้ เจ้าหน้าที่รัฐ ใช้อำนาจลักษณะนี้เพิ่มมากขึ้น
อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักการหรือสาระสำคัญ ของ ร่างพ.ร.บ.ฯ ฉบับนี้ ที่ควรคงไว้ คือ 1.การระบุว่าการบังคับบุคคลให้สูญหายนั้น เป็นอาชญากรรมต่อเนื่องที่ไม่มีอายุความ เพราะ “คนหาย” ที่ไม่รู้ที่อยู่ และชะตากรรมนั้นก็เป็นเพียงแค่คนหาย เจ้าหน้าที่รัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรีบดำเนินการสืบสวนสอบสวน จนกว่าจะทราบชะตากรรม และจะสิ้นสุดการสืบสวนสอบสวน เมื่อพบว่าบุคคลนั้นอยู่ในที่ใด ถูกกักขังในที่แห่งใด หรือพบชิ้นส่วน เช่น กระดูก อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย โดยเมื่อทราบที่อยู่และชะตากรรมแล้วนั้น การบังคับสูญหายก็จะสิ้นสุดลง โดยจะเริ่มนับอายุความทันที เช่น พบว่าเสียชีวิตก็จะมีอายุความ 20 ปี แต่หากไม่รู้ชะตากรรม ก็ยังคงเป็นบุคคลที่สูญหาย
2.เรื่องของนิยามคำว่า การทรมาน โดยเฉพาะนิยามคำว่า “การทรมาน” ของสหประชาชาติ นั้น ไม่ได้หมายถึงการทำร้ายร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วย เช่น การบังคับให้ถอดเสื้อผ้า ให้อยู่ในสภาวะที่น่าอับอาย หรืออยู่ในสภาวะที่ไร้อำนาจ ไม่สามารถกระทำการอย่างไรได้ ก็เป็นการทรมานอีกลักษณะหนึ่ง เพราะฉะนั้นคำนิยาม หรือคำจำกัดความของการบังคับสูญหายและการซ้อมทรมาน จะต้องตีความและระบุให้ชัดเจน
“หลักการ–สาระสำคัญ” ที่ควรคงไว้
3.คำนิยามของเหยื่อ หรือ “ผู้เสียหาย” ก็มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เช่น คดีบิลลี่ ภรรยานายบิลลี่ได้เข้าร้องเรียนหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมานานหลายปี แต่สุดท้ายมีการแจ้งว่า ภรรยานายบิลลี่ ไม่มีอำนาจร้องเรียนเรื่องการหายตัวไปของบิลลี่ เพราะเป็นภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมาย ทั้งที่ความเป็นจริง ได้ใช้ชีวิตอยู่กินด้วยกันมาและมีการรับรองบุตรอยู่แล้ว หรือกรณีของทนายสมชาย ปรากฏว่าหลังจากที่ทางครอบครัวได้ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีต่อศาล ต่อมาศาลได้มีความเห็นว่า เนื่องจากไม่ปรากฏว่าทนายสมชายบาดเจ็บสาหัส หรือถึงแก่ชีวิต ทำให้ผู้ที่จะสามารถร้องศาลได้ หรือขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในการฟ้องร้องคดี ต้องเป็นตัวทนายสมชายเองเท่านั้น
“ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขนิยามของคำว่าเหยื่อ หรือผู้เสียหายใหม่ เช่นกรณีบิลลี่ กฎหมายไทยจะมองแค่เพียงว่า ผู้เสียหายมีสถานะตามกฎหมายถูกต้องหรือไม่ ซึ่งหากภรรยานายบิลลี่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ก็ไม่มีการรับรองสิทธิแต่อย่างใดในฐานะผู้เสียหาย หรือบางกรณีบุคคลที่มีลักษณะคู่ชีวิตที่เป็นเพศเดียวกัน หากวันใดคนใดสูญหายไปหรือถูกซ้อมทรมาน จนสาหัส คู่ชีวิตที่เป็นเพศเดียวกันก็ไม่สามารถร้องเรียนเอาผิดต่อเจ้าหน้าที่ที่กระทำได้”
4.นิยามของคำว่า ผู้บังคับบัญชา ในหลักการของสหประชาติ ได้ให้ความหมายว่าผู้บังคับบัญชาที่รู้หรือสั่งการ หรือไม่ได้สั่งการแต่รู้ และไม่ได้ห้ามปราม ต้องรับผิดชอบร่วมกันด้วยกับผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำผิด แต่อย่างไรก็ตามในกฎหมายได้ระบุเพิ่มเติมไว้ว่าหาก ผู้ที่รู้ หรือ สั่งการ ให้การที่เป็นประโยชน์ หรือเป็นพยาน สมควรได้รับการลดโทษ จึงถือว่าเป็นหลักการสำคัญอีกประการหนึ่ง และ5.สาระสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือการไม่ผลักดันบุคคลไปสู่อันตราย เช่นการส่งกลับ ส่งผู้ร้ายข้ามแดน หากรู้ว่าการส่งกลับนั้น ทำให้ผู้ที่ถูกส่งกลับจะได้รับอันตราย ก็ไม่ควรที่จะมีการส่งกลับแต่อย่างใด
นางอังคณา กล่าวทิ้งท้าย ว่า ข้อที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ องค์ประกอบของคณะกรรมการในคดี ตามอนุสัญญาฯ การบังคับบุคคลให้สูญหายและการซ้อมทรมานนั้น จำเป็นจะต้องแต่งตั้งบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและเข้าใจในกฎหมาย รวมไปถึงจะต้องให้ญาติของผู้สูญหาย หรือผู้ถูกซ้อมทรมาน เข้าร่วมอยู่ในคณะกรรมการด้วย และคณะทำงานที่ทำการสืบสวนสอบสวนคดีการซ้อมทรมานหรือบังคับให้บุคคลสูญหาย ควรจะให้ทางพนักงานอัยการ และศาล เข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการสืบสวนสอบสวนพร้อมกันตั้งแต่ต้น จะทำให้การสืบสวนสอบสวน เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม โปร่งใสและเป็นกลาง สร้างความเชื่อมั่นให้กับทางญาติผู้เสียหาย.