นี่เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งจากการสะท้อนผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้โดย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในโอกาสที่นำคณะลงพื้นที่ รพ.มะเร็งลำปาง เยี่ยมชมการขับเคลื่อนนโยบายมะเร็งครบวงจร โครงการ “ให้บริการวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV“ ขับเคลื่อน “ควิกวิน 100 วัน เอชพีวีวัคซีน (Quick WIN 100 วัน HPV VACCINE)”…

เพื่อลดอัตราการป่วยเสียชีวิต

จากภัย “โรคมะเร็งปากมดลูก”…

ทั้งนี้ ทาง ทพ.อรรถพร ลงพื้นที่พร้อมด้วย จินตนา สันถวเมตต์ ผู้อำนวยการกลุ่มจังหวัด สปสช.เขต 1 เชียงใหม่ โดยมี นพ.นพรัตน์ วัชรขจรกุล รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง (สสจ.ลำปาง) นพ.วีรวัต อุครานันท์ ผู้อำนวยการ รพ.มะเร็งลำปาง ร่วมให้ข้อมูลการดำเนินโครงการฯ ซึ่ง จ.ลำปาง เป็นหนึ่งในพื้นที่ดำเนินการที่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้แล้ว สะท้อนถึงความมุ่งมั่นและความร่วมมือของบุคลากร ตลอดจนเครือข่ายบริการในจังหวัด ที่ช่วยเป็นกำลังเสริมให้ระบบสุขภาพของประเทศไทย จากที่ สปสช. สนับสนุนการดำเนินนโยบายมะเร็งครบวงจร ของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข

“Quick WIN 100 วัน HPV VACCINE” นั้น เป็นการ ฉีดวัคซีนให้กับหญิงไทยกลุ่มเป้าหมาย อายุ 11-20 ปี ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดย “บริการวัคซีนมะเร็งปากมดลูก” หรือ “วัคซีนเอชพีวี (HPV Vaccine)” นี่เป็นสิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งทาง ทพ.อรรถพร ยังได้สะท้อนข้อมูลบริการนี้ไว้อีกว่า… สปสช.ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และมุ่งเน้นให้บรรลุเป้าหมายตามโครงการฯ ในปีงบประมาณ 2567 ซึ่งตั้งแต่เริ่มโครงการฯ ต้นเดือน พ.ย. 2566 มีหลายพื้นที่ที่ได้ดำเนินการเร่งให้บริการวัคซีนเอชพีวีแล้ว โดยโรงพยาบาลหลายแห่งได้จัดบริการเชิงรุกด้วย

ลำปางเป็นหนึ่งในพื้นที่ดำเนินการที่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้แล้ว ขณะที่การตรวจมะเร็งปากมดลูกนั้นปัจจุบันก็ตรวจง่ายมาก สามารถตรวจได้เองสำหรับสตรีกลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยง อายุตั้งแต่ 30-60 ปี สามารถเก็บสิ่งส่งตรวจด้วยตัวเอง ซึ่งอาจจะไปที่ร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการ เมื่อเก็บสิ่งส่งตรวจแล้วก็สามารถจะนำเข้าแล็บเพื่อตรวจดูดีเอ็นเอว่ามีเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกหรือไม่ ซึ่งมีความแม่นยำ” …รองเลขาฯ สปสช. ระบุ

ด้าน นพ.นพรัตน์ รองนายแพทย์ สสจ.ลำปาง นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน สะท้อนว่า… หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศนโยบาย “Quick WIN 100 วัน HPV VACCINE” สสจ.ลำปาง ก็ร่วมกับโรงพยาบาล และหน่วยบริการเครือข่าย จัดทำแผนให้บริการวัคซีน ซึ่งได้ให้บริการวัคซีนเอชพีวีไปกว่า 12,954 คนแล้ว โดยเป็นจังหวัดลำดับ 3 ในเขตสุขภาพที่ 1 ที่ได้ให้บริการวัคซีนจำนวนมาก ยังเหลือเป้าหมายอีกแค่ราว 1,615 คน ที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 15 ม.ค. 2567 ทั้งนี้ สสจ.ลำปาง ได้รับโล่เกียรติคุณฉีดวัคซีนเอชพีวีระดับยอดเยี่ยมจาก รมว.สาธารณสุข เมื่อ 13 ธ.ค. 2566 ในงานเชิดชูเกียรติและขอบคุณภาคีเครือข่าย “1-M doses HPV Vaccine : together We Succeed”…ทาง นพ.นพรัตน์ ระบุไว้

ส่วน นพ.วีรวัต ผอ.รพ.มะเร็งลำปางกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุถึงการบรรลุเป้าหมายว่า… ประเด็นสำคัญคือเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สปสช. ในการกำหนดนโยบาย สนับสนุนวัคซีน รวมถึงขับเคลื่อน และในส่วนของพื้นที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสจ.ลำปาง ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ในการขับเคลื่อนสุขภาพที่ดีของ จ.ลำปาง เมื่อมีการฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกแล้ว และรวมถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในกลุ่มเป้าหมายที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปด้วย

“มะเร็งปากมดลูก” เป็น “มะเร็งอันดับต้นที่พบมากในผู้หญิงไทย” สาเหตุ “เกิดจากเชื้อเอชพีวี (Human Papilloma virus : HPV)” ที่ติดต่อจากเพศสัมพันธ์ ทำให้เกิดมะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด และหูดอวัยวะเพศด้วย ซึ่งการป้องกันโดยฉีดวัคซีนเอชพีวีให้ครบถ้วนตั้งแต่อายุยังน้อยจะช่วยให้ห่างไกลจากโรคได้ โดยวัคซีนมีผลข้างเคียงน้อย มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันไวรัสเอชพีวี ประสิทธิภาพวัคซีนป้องกันเชื้อได้นานเกือบ 10 ปี

“ในส่วนของ จ.ลำปาง นี้ รพ.ลำปาง โรงพยาบาลเครือข่าย นอกจากให้บริการที่หน่วยบริการแล้ว ยังจัดทีม ให้บริการเชิงรุกในสถานศึกษา ฉีดให้กับนักเรียนหญิง นักศึกษาหญิง อาทิ โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย โรงเรียนปงสนุก วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครลำปาง มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เป็นต้น” …ทาง นพ.วีรวัต ระบุ …ซึ่งสำหรับที่มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางนั้น ทางคณะ สปสช. ก็ได้ไปเยี่ยมชมการฉีดวัคซีนให้กับนักศึกษาหญิงของมหาวิทยาลัยที่เป็นกลุ่มเป้าหมายด้วย

ทั้งนี้… “การได้รับวัคซีนมะเร็งปากมดลูกจากโครงการนี้ก็รู้สึกดี เพราะเป็นการช่วยสุขภาพ การได้รับวัคซีนตอนอายุน้อย ๆ จะมีประสิทธิภาพดีกว่า ส่วนการรับวัคซีนเข็มที่ 2 ต้องมีระยะห่าง 6 เดือน” …นี่เป็นการระบุของ จันทวรรณ ปัญโญเหียง อายุ 18 ปี นักศึกษาหญิงมหาวิทยาลัยนี้ ขณะที่นักศึกษาหญิงอีกคนคือ ชนิภรณ์ ลอยมาปิง อายุ 20 ปี ก็ระบุว่า… “ได้ลงทะเบียนเพื่อรับวัคซีน ที่มาบริการถึงมหาวิทยาลัย และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย การรับวัคซีนจะช่วยให้ไม่เป็นมะเร็งปากมดลูก โดยขึ้นอยู่กับการดูแลตัวเองด้วย” …อย่างไรก็ดี นักศึกษารายนี้ยังบอกว่า…

“แนะนำหญิงไทยทุกคนให้ฉีดวัคซีน…

เพื่อช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูก”.