ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเสียงเครื่องเสียง-เครื่องดนตรี หรือเสียงเฮฮาปาร์ตี้ ก็ต้องระวัง “สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้ผู้อื่น” โดยช่วงเทศกาลปีใหม่มัก “เกิดดราม่า” ทุกปี รวมถึงเป็นชนวนเหตุ “ทะเลาะวิวาท” ก็มีประจำ ซึ่ง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ขอร่วมเตือนไว้… “ระวังอย่าดังไปจนเกิดปัญหา”…

ระวัง “ก่อปัญหามลพิษทางเสียง”

ที่ไม่เพียง “ทำให้เกิดกรณีพิพาท”

เผลอ ๆ จะถึงขั้น “ทำให้ติดคุก!!”

ทั้งนี้ เกี่ยวกับเรื่อง “เสียงดัง” จนเป็น “มลพิษทางเสียง” นั้นเป็นปัญหาที่มักมาพร้อม “เทศกาลต่าง ๆ” รวมถึง “เทศกาลปีใหม่” จากการที่มีการเฉลิมฉลองอย่างสนุกสนาน จนบางครั้งอาจเกิดการ “ใช้เสียงดังอึกทึกครึกโครม” จนนำไปสู่การกระทบกระทั่ง หรือ ทำให้คนบางกลุ่มได้รับผลกระทบจากเสียง เช่น เด็กทารก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย ผู้มีโรคประจำตัวบางอย่าง ซึ่งกับเรื่อง “ปัญหามลพิษทางเสียง” นี่ทางวิชาการก็มีการศึกษา อย่างโครงการที่ชื่อว่า “โครงการวิจัยการศึกษาแนวทางจัดการปัญหาข้อร้องทุกข์ของประชาชน : กรณีเหตุเดือดร้อนรำคาญด้านเสียง” โดยการสนับสนุนของ สกสว.

หลังมีแนวโน้ม “เกิดปัญหาเพิ่มขึ้น”

และ “ผู้ได้รับผลกระทบมีไม่น้อย!!”

การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ “ปัญหามลพิษทางเสียง” โครงการนี้…เป็นผลงานของ สิทธิเดช พงศ์กิจวรสิน และคณะ โดยทางผู้ศึกษาวิจัยได้สะท้อนถึงเรื่องนี้ไว้ โดยสังเขปนั้นมีว่า… นอกจากปัญหามลพิษทางอากาศที่ไทยต้องเผชิญแล้ว อีกปัญหาที่กระทบประชาชนไม่แพ้กัน…คือ “มลพิษทางเสียง” ที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปในทุก ๆ พื้นที่ ดังนั้นปัญหามลพิษทางเสียงจึงมีความสำคัญไม่แพ้ปัญหามลพิษในด้านอื่น ๆ ซึ่งที่ผ่านมาพบแนวโน้มการร้องเรียนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยกว่าครึ่งหนึ่งเป็นการร้องเรียนกรณี ปัญหาเสียงรบกวนจากร้านค้า-ร้านอาหาร และรองลงมาก็คือ ปัญหาเสียงจากบ้านเรือนและบุคคล

สำหรับ “อำนาจในการจัดการปัญหาทางเสียง” โดยเฉพาะเมื่อมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบ “ร้องทุกข์-ร้องเรียน” นั้น คณะวิจัยได้ฉายภาพไว้ว่า… อำนาจเรื่องนี้มักจะเป็น หน่วยงานระดับท้องถิ่น ที่เป็นผู้มีความรับผิดชอบหลักในการสั่งการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเสียง โดยเป็นอำนาจความรับผิดชอบตามที่ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ได้บัญญัติไว้ โดยจุดประสงค์ที่ให้อำนาจหน่วยงานท้องถิ่นมากกว่าหน่วยงานระดับจังหวัดนั้น ก็มีเป้าหมายสำคัญ นั่นคือ…

เพื่อจะให้ปัญหายุติลงโดยเร็วที่สุด

จึงให้อำนาจหน่วยงานท้องถิ่นมาก

แต่จากผลการศึกษา “การจัดการแก้ไขปัญหาเสียง” นั้น ได้พบว่า… การแก้ไขปัญหานี้ยังคงมีข้อจำกัดหลาย ๆ ประการ จนทำให้การแก้ปัญหาทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร อาทิ… ปัญหาในกระบวนการป้องกัน ที่มีสาเหตุจากการกระทำที่ผิดต่อกฎหมาย เช่น ออกแบบอาคารไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด หรือจากช่องโหว่กฎหมายทำให้เกิดการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติที่ถูกต้อง, ปัญหาในกระบวนการรับเรื่องร้องทุกข์ เช่น ประชาชนขาดความเข้าใจเกี่ยวกับช่องทางร้องทุกข์ที่ถูกต้อง จากความซ้ำซ้อนของหน่วยงานที่รับเรื่องร้องทุกข์, ปัญหาในกระบวนการแก้ไข จากความไม่พร้อมของหน่วยงานระดับท้องถิ่น ที่ยังขาดแคลนอุปกรณ์ บุคลากร ขาดการสนับสนุนจากหน่วยงานระดับสูง …นี่เป็นอุปสรรคการแก้ปัญหา “มลพิษทางเสียง”

และในรายงานศึกษาวิจัยดังกล่าวก็ได้จัดทำ “ข้อเสนอแนะเพื่อแก้ปัญหามลพิษเสียง” เอาไว้ดังต่อไปนี้คือ… เพิ่มความเข้มงวดในการติดตามปัญหา, เพิ่มบทลงโทษของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง, สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับช่องทางร้องทุกข์ที่ถูกต้องและสอดคล้องกับปัญหา, จัดทำระบบฐานข้อมูลออนไลน์, ปรับรูปแบบการส่งเรื่องร้องทุกข์เป็นแบบออนไลน์, เร่งพัฒนาบุคลากร และสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพ …นี่เป็นแนวทางที่มีการเสนอแนะไว้

ทั้งนี้ แม้ที่สะท้อนต่อข้อมูลมานี้จะฉายภาพการแก้ปัญหาที่ยังมีข้อติดขัด แต่…ที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ต้องขอร่วมเตือนให้ “ระวังก่อมลพิษทางเสียง” ที่เผลอ ๆ “อาจถึงขั้นทำให้ติดคุกได้” นั้น ก็เพราะมี “ข้อกฎหมายกรณีเพื่อนบ้านใช้เสียงดังก่อความเดือดร้อนรำคาญ” โดยใน เว็บไซต์กระทรวงยุติธรรม ให้ข้อมูลไว้ว่า… กรณีเพื่อนบ้านส่งเสียงดังรบกวน ไม่ว่าจะพูดคุย เปิดเพลงสังสรรค์ซึ่ง เสียงดังโดยไม่มีเหตุจำเป็น อาจเข้าข่ายเป็น “ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา” คือ…

มาตรา 370 ผู้ใดส่งเสียง ทำให้เกิดเสียง หรือกระทำความอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันสมควร จนประชาชนตกใจหรือเดือดร้อน จะ มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท และก็มี มาตรา 397 ที่บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ ต่อผู้อื่นอันเป็นการรังแก ข่มเหงคุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอาย หรือเดือดร้อนรำคาญ จะ มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000-10,000 บาท จำคุกไม่เกิน 1 เดือนหรือทั้งจำทั้งปรับ…ซึ่ง “ทำเสียงดังให้ผู้อื่นเดือดร้อนรำคาญ” นี่ก็ “น่าคิดนะ!!”…

ดังนั้น “อึกทึกปีใหม่กันแต่พอควร”

โดยที่ “ไม่ดังไป-ไม่เดือดร้อนผู้อื่น”

“ไม่เสี่ยงโดนโทษอาญารับปีใหม่”.