ได้ผลงานก่อสร้าง 3.77% เร็วกว่าแผน 0.42% สำหรับโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่สายเหนือช่วงเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ ระยะทาง 323 กิโลเมตร(กม.) วงเงิน 7.29 หมื่นล้านบาทของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ที่ประชาชนในเส้นทางเฝ้ารอคอยมาทั้งชีวิต โดยมีแผนเปิดบริการในปี 2571

โครงการแบ่งก่อสร้างเป็น 3 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 104 กม. มีกลุ่มกิจการร่วมค้า ไอทีดี-เนาวรัตน์ ประกอบด้วย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง  คืบหน้า 2.36% เร็วกว่าแผน 0.64% สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย ระยะทาง 135 กม. มีกิจการร่วมค้า ซีเคเอสที-ดีซี 2 ประกอบด้วย บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท บุรีรัมย์พนาสิทธิ์ จำกัด เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 5.21% เร็วกว่าแผน 0.85% 

และสัญญาที่ 3 ช่วง ช่วงเชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 84 กม. มีกิจการร่วมค้า ซีเคเอสที-ดีซี 3 ประกอบด้วย บริษัท ช.การช่างฯ บริษัท ซิโน-ไทยฯ และบริษัท เชียงใหม่คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 3.70% ช้ากว่าแผน 0.32% 

รฟท.กำลังเร่งงานเวนคืนที่ดิน  งานขุดเจาะอุโมงค์รถไฟ 4 อุโมงค์  ได้แก่ อุโมงค์แม่กา จ.พะเยา ความยาว 2.7 กม. อุโมงค์ดอยหลวง จ.เชียงราย ความยาว 3.4 กม. อุโมงค์สอง จ.แพร่  และอุโมงค์งาว จ.ลำปาง ความยาว 6.2 กม. ความโดดเด่น(ไฮไลท์) สำคัญเมื่อสร้างเสร็จจะเป็นอุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ทำลายสถิติอุโมงค์รถไฟขุนตานที่ยาวที่สุดในขณะนี้ 1.5 กม.รวมทั้งกำลังถมดินงานคันทางรถไฟและสร้างสะพานโค้งดินถม อีกหนึ่งไฮไลท์โครงการฯ เป็นสะพานรถไฟโค้งหล่อสำเร็จ (Backfilled arch bridge) แห่งแรกของประเทศไทย  

สะพานรถไฟโค้งหล่อสำเร็จ ได้ต้นแบบเทคโนโลยี BEBO Arch จากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งใช้งานกันมาแล้วทั่วโลก ประเทศไทยใช้เวลาพิจารณาข้อดีข้อเสียเทคโนโลยีนี้มานานกว่า 5 ปีก่อนนำเข้ามาใช้  เนื่องจากช่วยลดระยะเวลาการก่อสร้างจากเดิมได้ 1 เท่า ประหยัดค่าใช้จ่าย10-20% ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้ซีเมนต์ รวมถึงเหล็ก และเพิ่มความสูงให้ทางลอด(Clearance) ได้มากกว่าการทำสะพานแบบเดิม

ที่ผ่านมาโครงการทางรถไฟสายต่างๆ จะใช้รูปแบบสะพานข้ามจุดตัดกับถนน ประกอบด้วย 1.สะพานธรรมดา แบ่งเป็น สะพานคานคอนกรีตรูปตัวไอ (I-Girder)   และสะพานคานคอนกรีตหน้าตัดรูปตัวยู (U-Girder)  มีค่าก่อสร้างสูง 2.สะพานแบบท่อคอนกรีตสี่เหลี่ยม (Box culvert) ที่ผ่านมาเจอปัญหาทางเดินด้านข้าง(Sideway) แคบ ไม่สามารถเพิ่มความสูงให้ทางลอด และบดบังทัศนียภาพ

สะพานรถไฟโค้งหล่อสำเร็จจะใช้ก่อสร้างตลอดเส้นทางโครงการทั้ง 3 สัญญา เบื้องต้นในสัญญาที่ 1ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 104 กม.  ใช้สะพานโค้งประมาณ 22-23 สะพาน ส่วนสัญญาที่ 2 และ 3 อยู่ระหว่างพิจารณาจำนวน เพราะบางจุดที่กายภาพของถนนไม่เหมาะสม อาจต้องใช้สะพานรูปแบบเดิม อาทิ ถนนที่มีมุมตัดเอียงมากๆ หากใช้สะพานโค้งต้องถมดินด้านหลังค่อนข้างมาก และทำให้สะพานยาวเกินไป ยืนยันว่าการทำสะพานโค้งมีความปลอดภัย ไม่มีปัญหาทรุดตัว การออกแบบได้คำนึงถึงน้ำหนักบรรทุกอย่างรอบด้าน และเป็นไปตามมาตรฐานที่ รฟท. กำหนด

ขณะนี้เริ่มก่อสร้างสะพานโค้งแล้วในพื้นที่สัญญาที่ 1 บริเวณ กม.539+700 บ้านปงป่าหวาย อ.เด่นชัย จ.แพร่ สะพานยาว 33.6 เมตร กว้าง 16.46 เมตร หนา 30.5 เซนติเมตร สูงจากพื้นถนน 4.2 เมตร (เดิมออกแบบไว้ 4 เมตร แต่ชาวบ้านขอมากกว่า 4 เมตร เนื่องจากมีรถเกี่ยวข้าว และรถบรรทุกวิ่งผ่าน) การถมดินจะสูง 5 เมตรจากพื้นดินถึงรางรถไฟ งานถมดินคันทางรถไฟเป็นงานปกติของการก่อสร้างทางรถไฟระดับดินเพื่อเป็นฐานรองรับรถไฟ

การออกแบบสะพานโค้งในแต่ละจุด มีความยาวไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง อาทิ มุมตัดกันระหว่างถนนและทางรถไฟ รวมถึงความสูงของดินถมที่อยู่หลังสะพานโค้ง เป็นต้น การทำสะพานโค้งคำนึงถึงปัญหาน้ำท่วม ได้พิจารณาการไหลของน้ำในคลอง ตลอดจนนำปริมาณน้ำในรอบ 50 ปี และ 100 ปีมาคำนวณออกแบบ นอกจากนี้ยังได้วางแผนร่วมกับกรมชลประทาน และวิศวกรรมทางด้านแหล่งน้ำด้วย

ขั้นตอนการทำสะพานจะเริ่มจากการทำฐานราก ใช้เวลาประมาณ 14 วันถึง 1 เดือน จากนั้นจะนำชิ้นส่วนโค้งหล่อสำเร็จที่มีการหล่อชิ้นงานคอนกรีตที่โรงงานใน จ.พระนครศรีอยุธยา มาประกอบในพื้นที่ก่อสร้าง ใช้เวลาติดตั้งประมาณ 3 วัน และหล่อคอนกรีตเชื่อมชิ้นงาน  ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการบดอัดดินต่อไป รวมใช้เวลาประมาณ 3 เดือนจึงแล้วเสร็จทั้งหมด ปิดการจราจรแบบวันต่อวันได้ ไม่จำเป็นต้องปิดเป็นเดือน 

การติดตั้งสะพานรถไฟโค้งหล่อสำเร็จจุดแรกจะแล้วเสร็จประมาณเดือน ม.ค.-ก.พ.2567 เทียบกับสะพานแบบเดิมที่ผ่านมา 1 ตัว ต้องทำฐานราก เสา และวางคาน ใช้เวลาก่อสร้างจนแล้วเสร็จอย่างต่ำประมาณ 6 เดือน 

โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มีแนวเส้นทางผ่านพื้นที่ใน จ.แพร่  ลำปาง  พะเยา และเชียงรายเมื่อเปิดบริการจะลดระยะเวลาการเดินทางด้วยรถยนต์กว่า 1-1.30 ชม. สร้างมูลค่าเพิ่มทั้งด้านการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจการค้า เชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้าน เปิดประตูสู่การค้าชายแดนภาคเหนือ  

 เป็นเส้นทางรถไฟที่มีทัศนียภาพสวยงามของธรรมชาติตลอดทาง ผ่านเทือกเขา ตื่นตาตื่นใจกับประสบการณ์ใหม่ลอดอุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในประเทศไทยและวิ่งบนสะพานโค้งหล่อสำเร็จแห่งแรกของไทย  

__________________

นายสปีด