เมื่อประมาณ 6 ปีก่อน จังหวัดขอนแก่นและภาคเอกชนประกาศชัดด้วยความมั่นใจว่าจะเริ่มก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้ารางเบา(แทรม) จ.ขอนแก่น สายสีแดง ช่วงสำราญ-ท่าพระ ระยะทาง 26 กิโลเมตร(กม.) วงเงิน 2.3 หมื่นล้านบาท  ตั้งแต่ปี 2562 ก่อนสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 และจะเปิดบริการปี 2565 เพื่อเป็นรถไฟฟ้าสายแรกในต่างจังหวัดที่ดำเนินการโดยท้องถิ่นและพลังของชาวขอนแก่นไม่ใช้งบประมาณจากรัฐบาล 

อัปเดตสถานะโครงการล่าสุดถึงวันนี้  ยังไม่สามารถก่อสร้างได้  อยู่ในขั้นตอนการเจรจาเงินกู้ระยะยาวกับสถาบันการเงินรายใหม่ในประเทศจีน ที่จะให้บริษัท ขอนแก่นทรานซิสเต็มท์ จำกัด (KKTS) ซึ่งเป็นวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของ 5 เทศบาลจังหวัดขอนแก่น เจ้าของโครงการ ประกอบด้วย เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลเมืองศิลา เทศบาลตำบลเมืองเก่า เทศบาลตำบลสำราญ และเทศบาลตำบลท่าพระ เพื่อใช้เงินลงทุนโครงการฯ 

หลังจากกิจการร่วมค้า CKKM-CRRC CONSORTIUM มีบริษัท ช ทวี จำกัด(มหาชน) เป็นบริษัทนำ และบริษัท CRRC Nanjing Puzhen จำกัด ผู้ประสานงานด้านการเงินโครงการฯ ได้เจรจาสถาบันการเงินในประเทศจีนรายหนึ่งแล้ว แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ จึงต้องหารายใหม่  

สาเหตุที่สถาบันการเงินในประเทศจีนรายแรกไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากยังไม่มั่นใจเรื่องการคุ้มทุน และการใช้คืนทุน รวมถึงยังต้องการความชัดเจนว่าโครงการจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เพราะขณะนี้เรื่องพื้นที่การก่อสร้างยังมีปัญหาอยู่ โดยเฉพาะที่ดินของศูนย์วิจัยข้าว กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อใช้สร้างโรงจอด และศูนย์ซ่อมบำรุง(Depot) ประมาณ 200 ไร่ ซึ่งยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ นับตั้งแต่กรมธนารักษ์ได้ให้ร่างทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับกรมการข้าว กระทรวงเกษตรฯ ตั้งแต่ปลายปี 2562 ในการให้ KKTS เข้ามาใช้พื้นที่  

เร็วๆ นี้ทางจังหวัดขอนแก่น เตรียมเข้าหารือรมว.เกษตรและสหกรณ์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วน หากได้ที่ดินในส่วนนี้ก็สามารถนำไปเจรจากับสถาบันการเงินได้อย่างหนักแน่นมากขึ้น  เพราะปัจจุบันประชาชนในพื้นที่ยังคงมีความต้องการให้โครงการแทรมขอนแก่นเกิดขึ้น ซึ่งทางจังหวัด และ KKTS จะพยายามให้ถึงที่สุดจนกว่าจะหมดแรง 

 KKTS ยังคงให้โครงการเป็นแทรมล้อเหล็กเหมือนเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง จะทำให้ถึงที่สุดก่อน แต่สุดท้ายหากไปต่อไม่ได้จริงๆ และคิดแบบรวดเร็วที่สุด ก็ต้องให้รัฐบาลส่วนกลางนำกลับไปดำเนินการต่อ แต่เวลานี้ KKTS ยังมีความตั้งใจที่จะทำให้เกิดขึ้นให้ได้

ดังนั้นกรอบเวลาดำเนินโครงการต้องขยับออกไปทั้งหมด และยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะเริ่มก่อสร้าง และก่อสร้างแล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการได้เมื่อใด เพราะปัจจัยหลักทั้งเรื่องเงิน และที่ดิน ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน หากเรื่องเหล่านี้ได้ข้อยุติ จะเริ่มก่อสร้างโครงการฯ ได้ทันที โดยจะใช้เวลาประมาณ 3 ปี 

ขณะนี้กิจการร่วมค้า CKKM-CRRC CONSORTIUM ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลงานเหมาออกแบบ ก่อสร้างงานโยธา และโครงสร้าง พร้อมทั้งการผลิต ติดตั้งระบบแทรม และการพัฒนาเมือง ยังยืนราคาเดิมให้อยู่  ทาง KKTS  ต้องหาเงินกู้เอง ซึ่ง KKTS ได้กำหนดไว้ในเงื่อนไขการประมูลงานเหมาออกแบบ ก่อสร้างงานโยธา และโครงสร้างฯ ว่า ผู้ชนะประมูลต้องหาแหล่งเงินกู้มาให้ KKTS ด้วย.

โครงการแทรมขอนแก่น สายสีแดง ช่วงสำราญ-ท่าพระ ระยะทาง 26 กม. มี 20 สถานี เป็นสถานีระดับดิน 12 สถานี และยกระดับ 8 สถานี มีศูนย์ Depot อยู่ภายในศูนย์วิจัยข้าว ผลการศึกษาระบุว่า อัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 15 บาท ไปจนถึง 25 บาท คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการอยู่ที่ประมาณ 6 หมื่นคนต่อวัน 

แทรมขอนแก่น  ที่เคยสดใส และดูเหมือนจะเข็มแข็งที่สุดจากคำประกาศของจังหวัดขอนแก่นและภาคเอกชน ว่าจะเป็นต้นแบบรถไฟฟ้าในต่างจังหวัดสายแรก  แม้วันนี้ยังไม่หมดแรง  แต่ก็ยังไปไม่รอด  สภาพไม่ต่างกับโครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยวหรือโมโนเรลหาดใหญ่  จ. สงขลา ที่ผู้บริหารอบจ.สงขลาเคยลั่นวาจาจะก่อสร้างให้สำเร็จ เป็นรถไฟฟ้าสายแรกในต่างจังหวัด  ระยะหลังมานี้เงียบกริบ  ด้วยเหตุผลเดียวกันคือไม่มีเงินลงทุน

หรือแม้แต่โครงการแทรมอีก 4 จังหวัดทั้ง ภูเก็ต  เชียงใหม่ นครราชสีมาและพิษณุโลก  ของรัฐบาลส่วนกลางเองที่กระทรวงคมนาคมมอบหมายการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ก่อสร้าง  และนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ  ผู้ว่าการ ฯรฟม. ก็ออกข่าวประชาสัมพันธ์ลั่นวาจาจะก่อสร้างแทรมภูเก็ตให้เป็นรถไฟฟ้าสายแรกของรฟม.ในต่างจังหวัด

แม้ผลการศึกษาจะเสร็จเรียบร้อย แต่ในช่วงที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นรมว. คมนาคม  กลับมีนโยบายให้รื้อผลการศึกษาใหม่ เปลี่ยนเป็น ART(Arterial Rapid Transit, Automated Rapid Transit) หรือ เออาร์ที รถเมล์ไฟฟ้าล้อยาง  คล้ายรถเมล์บีอาร์ที  และเป็นต้นแบบให้4จังหวัดที่รฟม.ศึกษาอยู่ด้วย  เพื่อลดต้นทุนการก่อสร้าง  

เมื่อกระทรวงคมนาคมเปลี่ยนผ่านสู่ยุค นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ  รมว.คมนาคม   ได้สั่งการให้รฟม.ชะลอโครงการรถไฟฟ้าในต่างจังหวัดทั้งหมด  ขอทำรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯและผลักดันนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยให้สำเร็จก่อน    โดยในส่วนของจ. ภูเก็ตให้เร่งรัดโครงการถนน อาทิ โครงการทางพิเศษ(ทางด่วน) สายกะทู้-ป่าตอง เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางของประชาชนและเป็นทางเลือกในช่วงก่อสร้างรถไฟฟ้าภูเก็ต

รถไฟฟ้าทั้ง 6 จังหวัดได้แค่แจ้งเกิด…สร้างความหวังและความฝันของผู้คนที่จะได้เห็นรถไฟฟ้าในเมืองภูมิภาคและเมืองท่องเที่ยวสำคัญของไทย….แต่ยังไม่สามารถก่อสร้างได้จบที่รุ่นนี้

___________________

นายสปีด