ทั้งเรื่อง “คุณภาพนักเรียน-ห้องเรียน”

รวมถึง “คุณภาพการสอน-บุคลากรครู”

เพื่อ “ตั้งรับปรับตัวกับโลกที่เปลี่ยนไป”

และเกี่ยวกับ “การยกระดับการศึกษาไทย” นี่เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีประเด็นน่าพิจารณาจากเวทีเสวนา “10 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลง เส้นทางที่ผ่านมา และอนาคตของการศึกษาไทย” จัดโดย สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ และ มูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ (Teach For Thailand) ซึ่งนอกจากแถลงถึงผลสำเร็จตลอด 10 ปีที่ผ่านมาแล้ว ในเวทีดังกล่าวยังเชิญ “ครูผู้นำ” จากทั่วประเทศไทยมาบอกเล่าข้อมูล รวมถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเสนอแนะมุมมองต่อการจัดการเรียนการสอน โดยเป็น “มุมสะท้อน” ที่น่าจะ “มีประโยชน์ต่ออนาคตการศึกษาไทย” ภายใต้ยุคแห่งความเปลี่ยนแปลง… ซึ่งที่มาของการเกิดมุมสะท้อน-เสียงสะท้อนเรื่องนี้กรณีนี้เป็นเช่นไร? วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็นำมาให้ลองพิจารณากัน…

ทั้งนี้ เวทีเสวนาดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ให้ “เครือข่ายครูผู้นำ” จากทั่วประเทศได้มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดูแลนักเรียน รวมถึง เสนอแนะแนวทางการ “สร้างความเปลี่ยนแปลง” ให้แก่ภาคการศึกษาของประเทศไทย โดยมีเป้าหมายที่สำคัญก็คือ…การ “ลดเหลื่อมล้ำ” และการ “เพิ่มโอกาส” เพื่อให้ เด็กไทยสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพมากขึ้น โดยตั้งเป้าเอาไว้ว่า…ภายในปี 2026 เครือข่ายครูผู้นำเหล่านี้จะเข้าถึงและช่วยเหลือนักเรียนได้กว่า 500,000 คน

“ลดเหลื่อมล้ำ-เพิ่มโอกาส” เด็กไทย

“เป้าหมาย” นี้…นับว่า “น่าสนใจมาก”

สำหรับ “เสียงสะท้อนของครูผู้นำ” ที่ได้มาบอกเล่าประสบการณ์นั้น ก็มีมุมมองน่าสนใจในหลาย ๆ มิติ โดยเฉพาะเป็น เสียงที่สะท้อนจากบุคลากรครูที่ต้องเผชิญกับ “อุปสรรคปัญหา” ที่เกิดขึ้นจริง ๆ ทั้งนี้ ทาง ยุทธกฤต เฉลิมไทย หรือ “ครูนัท” ครูผู้นำรุ่น 1 และผู้ก่อตั้งเครือข่าย Education for the Deaf (EDeaf) ที่มีเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในกลุ่มผู้บกพร่องทางการได้ยิน ได้สะท้อนไว้ว่า… ปัญหาการศึกษาไทยมีหลายมิติและซับซ้อน ซึ่งอยากทำให้สังคมไทยหันมาสนใจปัญหาการศึกษาจริงจัง จึงตัดสินใจร่วม โครงการ “ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง” ที่มีการจัดขึ้น โดยเข้าร่วมมา 2 ปีแล้ว

จากระยะเวลา 2 ปีที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ ทาง “ครูนัท” บอกไว้ว่า… ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีอย่างมาก เพราะทำให้ได้มีโอกาสร่วมงานกับหลาย ๆ องค์กร ที่ช่วยเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติได้หลายอย่าง โดยผลลัพธ์ที่ได้จากการร่วมโครงการฯ นี้ สำหรับตนเองก็ได้นำความรู้และแนวคิดไปใช้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับนักเรียน เพื่อน ๆ ครู และกับชุมชนด้วย ซึ่งกิจกรรมนี้จะเป็นประโยชน์มากในอนาคต…เพราะช่วยให้ครูได้ค้นพบ “ศักยภาพ” ของตัวเอง รวมถึงเติม “พลัง” ให้กับตัวครู เพื่อการ…

“เปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยให้ดีขึ้น”

ขณะที่ วรัทยา ไชยศิลป์ หรือ “ครูแพรว” ครูผู้นำรุ่น 9 บอกเล่าไว้ว่า… การได้เข้ามาทำงานร่วมกับทางโครงการฯ ทำให้มองเห็นและเข้าใจปัญหาของการศึกษาไทย ตลอดจนมีโอกาสเรียนรู้วิถีชุมชนและสังคมไปพร้อมกัน ทำให้เกิดแรงบันดาลใจอยากทำงานด้านการศึกษาต่อ และที่สำคัญ…ผลที่ได้คือ ช่วยเพิ่มทักษะการปรับตัว ให้กับตนเองมากขึ้น ซึ่งมองว่านี่เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะ ช่วยทำให้ครูเกิดความกล้าที่จะเผชิญหน้ากับอุปสรรค และพร้อมที่จะเข้าไปช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นของนักเรียน หรือแม้แต่ครูด้วยกันเอง …ทาง “ครูแพรว” สะท้อนไว้ถึงอีกประเด็นน่าพิจารณา ที่ก็ฉายภาพว่า…

“การเป็นครูในยุคใหม่…ต้องอัปสกิล”

ทางด้าน วิชิตพล ผลโภค ผู้ก่อตั้งมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ก็ได้สะท้อนไว้ในเวทีดังกล่าวว่า… กว่า 10 ปีที่ผ่านมา ทางมูลนิธิฯ ได้เฟ้นหาคนจากหลากหลายสาขาอาชีพเพื่อนำมาร่วมโครงการ โดยโครงการเกี่ยวกับครูนี้มุ่งพัฒนาให้กลายเป็น “ครูผู้นำการเปลี่ยน แปลง” โดยมีการส่งไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ที่ขาดแคลนครู เพื่อให้เรียนรู้ปัญหาการศึกษาที่นักเรียน ครู และชุมชนต้องเจอ รวมถึงเพื่อให้เกิดความเข้าใจว่า ปัญหาการศึกษาของไทยมีความซับซ้อนและลึกซึ้ง ไม่ง่ายที่จะแก้ปัญหาให้สำเร็จได้โดยเร็ว โดยจะต้องได้รับความเชื่อมั่น และต้องลงทุนอย่างจริงจัง ทั้งกับคนและระบบ จึงจะแก้ได้สำเร็จ

“เราหวังว่าอีก 3 ปีจะสามารถเข้าถึงนักเรียนได้ 100,000 คน ผ่านการทำงานของครูผู้นำฯ เหล่านี้ โดยคาดหวังว่า…ความพยายามนี้จะสัมฤทธิผล สามารถช่วยแก้ไขปัญหาการศึกษาของไทยได้ ซึ่งยังมีเด็กอีกหลายล้านคนที่ไม่ได้รับโอกาส” …เป็นเป้าหมายที่ทางผู้ก่อตั้งมูลนิธิฯ ดังกล่าวระบุไว้…ในฐานะ อีกหนึ่ง “แรงขับเคลื่อนในการแก้ปัญหา” เพื่อเด็ก ๆ

“ช่วยเด็ก ๆ” ผ่าน “กระบวนการครูผู้นำ”

“เปิดมุมมอง” เพื่อ “ให้เข้าใจอุปสรรค”

เข้าใจ “เพื่อให้รู้ว่าจะแก้ปัญหายังไง?”.