หลาย ๆ “เรื่องร้าย ๆ” เกิดขึ้นในสังคมไทยหลากหลายรูปแบบโดย “คนไทยรุ่นใหม่” ซึ่งร้ายแรงถึงขั้น “ขบวนการวิวาทไล่ฆ่า!!” ก็มี!! และ “คำถามถึงทางแก้?” นั้น… “คำตอบดูจะยังหวังได้ยาก?”… ทั้งนี้ กรณีคนไทยรุ่นใหม่นั้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ได้สะท้อนย้ำข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มคนเจเนอเรชันใหม่ที่เรียกว่า “ซี-แอลฟา” ที่หมายถึงผู้ที่เกิดระหว่างปี 2547-2556 ซึ่งในทางประชากรศาสตร์มองว่า “เป็นเจเนอเรชันที่ในอนาคตจะยิ่งสำคัญกับสังคมไทยมาก” แต่ทว่า…

จาก “เหตุร้าย ๆ ที่เกิดต่อเนื่อง”…

“โดยซี-แอลฟา” นั้น “กลาดเกลื่อน!!”

ทั้งนี้ เกี่ยวกับ “พฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนเจเนอเรชันซี-แอลฟา” นั้นมีการศึกษาวิจัยพบว่า…คนรุ่นนี้ ใช้ชีวิตอยู่กับสมาร์ตโฟน และมีกิจกรรมต่าง ๆ บน “โลกออนไลน์” มากที่สุด…ซึ่ง “ส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิตและความคิดเห็น” ของคนเจเนอเรชันนี้ในหลายมิติ และที่สำคัญ มักแสดงความเป็นตัวเองในด้านที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งจากการศึกษาวิจัยก็มีการตั้งคำถามชวนคิดไว้ว่า… ขณะนี้สังคมไทยเตรียมสภาพแวดล้อมที่ดีที่สุดเพื่อให้คนเหล่านี้เติบโตขึ้นได้อย่างมีคุณภาพหรือยัง?? โดยขณะที่คำตอบของคำถามนี้วันนี้ยังไม่ชัด…เมื่อดูสถานการณ์ในปัจจุบันแล้วก็ “น่าตกใจ!!”…

น่าตกใจสภาพแวดล้อม “ก้าวร้าว-รุนแรง”

ก็ยิ่งทำให้เกิดคำถาม…“มีทางแก้ไขมั้ย??”

กับคำถามเรื่องทางแก้ไข…กับ “แนวทางเพื่อจะลดปัญหาความก้าวร้าว-ความรุนแรง” ของ “กลุ่มคนรุ่นใหม่” นั้น… แนวทางหนึ่งที่น่าสนใจคือ…โดยการ “ปรับคลื่นไฟฟ้าสมอง” ด้วยการ “ใช้มิวสิกบำบัด” ซึ่งเรื่องนี้ได้รับการเปิดเผยไว้โดย ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ซึ่งอยู่เบื้องหลัง “โครงการศึกษาผลกระทบของการใช้ดนตรีบำบัดในการช่วยกล่อมเกลาพฤติกรรมที่ก้าวร้าวรุนแรง” ที่ศึกษาวิจัยครั้งแรกกับเยาวชนกลุ่มเป้าหมายในสถานพินิจ เพื่อทำการศึกษาผลของการใช้ดนตรีบำบัดในการช่วยกล่อมเกลาพฤติกรรมที่ก้าวร้าวรุนแรง ภายใต้แนวคิด…

“ผลของดนตรีต่อคลื่นไฟฟ้าสมอง”…

สู่การ “ออกแบบกิจกรรมบำบัดตรงจุด”

รายละเอียดเรื่องนี้โดยสังเขป… ทาง ดร.ณรงค์ ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า… งานวิจัยนี้ศึกษาทดลองในเยาวชนกลุ่มเป้าหมายในสถานพินิจ เพื่อที่จะดูผลลัพธ์ของการใช้ดนตรีบำบัดในการแก้ไขพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง โดยเป็นโครงการที่ทำร่วมกับทีมแพทย์ คณะแพทย ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งสนับสนุนการวัดคลื่นไฟฟ้าสมองด้วยเครื่องวิเคราะห์คลื่นสัญญาณไฟฟ้าสมอง (EEG) ภายใต้ทุนวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

การออกแบบ “กิจกรรม” สำหรับกลุ่มเป้าหมาย ได้ออกแบบไว้เป็น 2 ลักษณะ คือ… กิจกรรมแรก เลือกเพลงที่มีอยู่แล้วและเกี่ยวข้องกับกลุ่มเป้าหมาย สำหรับวงดนตรีขนาดเล็ก ให้กลุ่มเป้าหมายใช้เล่นกระชับความสัมพันธ์ และอีกกิจกรรมเป็นการ แต่งเพลงขึ้นมาโดยเฉพาะ …เพื่อจะทำการ “วัดคลื่นไฟฟ้าสมอง” สำหรับนำไปเปรียบเทียบกัน ทั้งนี้ ในปัจจุบันโครงการนี้ยังอยู่ระหว่างการเก็บข้อมูล โดยหวังให้ผลวิจัยนี้สามารถช่วย “ลดความรุนแรงในเยาวชนกลุ่มเสี่ยง” ได้ อันจะนำไปสู่การ “ลดพฤติกรรมที่ก้าวร้าวรุนแรง” ในเยาวชน ลดปัญหาการใช้ความรุนแรงในกลุ่มวัยรุ่น ในกลุ่มเยาวชนของไทย

ก็น่าลุ้นให้สำเร็จเพื่อ “ใช้ประโยชน์”

ใช้เป็น “ทางเลือกลดความรุนแรง”

ทั้งนี้… ผศ.ดร.นัทธี เชียงชะนา หัวหน้าสาขาวิชาดนตรีบำบัด วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ เสริมข้อมูลเรื่องนี้ไว้ว่า… ในขณะที่เราฟัง ร้อง หรือเล่นดนตรีนั้น จะสามารถกระตุ้นการทำงานของสมองได้หลายส่วน อาทิ สมองส่วนควบคุมการมอง การได้ยิน และการเคลื่อนไหว โดยที่สมองของคนเรานั้นจะมียีนส์ที่ทำหน้าที่คอยควบคุมจังหวะและเวลา ที่มีความสอดคล้องกับจังหวะดนตรี (Rhythm) ซึ่งมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ค้นพบว่า… จังหวะดนตรีมีผลต่อการทำงานของเซลล์สมอง นอกจากนี้ ยัง ส่งผลต่อทักษะการคิดเชิงบริหาร (Executive Functions) และโดยเฉพาะ การควบคุมตัวเอง (Inhibitory Control)…

อย่างหลังนี่ “มีผลต่อการลดพฤติกรรม”

รวมถึงลด “เสพติดความก้าวร้าวรุนแรง”

นอกจากนี้ หัวหน้าสาขาวิชาดนตรีบำบัดยังระบุไว้ด้วยว่า… การฝึกฝนทักษะเรื่องนี้ สามารถ “ฝึกได้ตั้งแต่วัยเยาว์” ผ่านทาง “กิจกรรมทำตามคำสั่งจากเนื้อเพลง” หรือ “กิจกรรมดนตรีแบบผู้นำ-ผู้ตาม” โดยผลลัพธ์ที่ได้จากกิจกรรมดนตรีบำบัดรูปแบบนี้นอกจากจะนำมาใช้เพื่อ “ฝึกทักษะ EF ด้านการควบคุมตัวเอง” ได้อย่างดีแล้ว ยังช่วย “ลดแนวโน้มการเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงในอนาคตในกลุ่มเยาวชน-วัยรุ่น” ได้ด้วย …ทาง ผศ.ดร.นัทธี ชี้ไว้ถึง “ประโยชน์” จากเรื่องนี้…

“พึ่งพาดนตรี” ใช้ “จูนคลื่นไฟฟ้าสมอง”

“ดนตรีบำบัดแบบตรงจุด” ใช้กับวัยโจ๋

“ลดแนวโน้มก้าวร้าว” ในวัยคึกคะนอง

น่าลอง…“ลดภัยรุนแรงในสังคมไทย?”.