หลาย ๆ เหตุการณ์นั้น…หนึ่งใน “สารตั้งต้นของเหตุการณ์” มักมีการระบุสาเหตุส่วนหนึ่งว่าอาจเกิดจาก “โรคทางใจ-อาการทางจิต” ที่ส่งผลต่อการควบคุมความคิด อารมณ์ พฤติกรรม โดยในไทยในระยะหลัง ๆ หลายครั้ง-หลายเหตุการณ์ “ความรุนแรง” ที่เกิดขึ้นนั้น…

ไม่เพียงทำให้ผู้คน “อกสั่นหวั่นผวา”…

แต่ยังดูเหมือน “เป็นภัยที่ใกล้ตัวยิ่งขึ้น”

ภัยที่มีปุจฉา “มีปัจจัยจากสุขภาพจิต?”

ทั้งนี้ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นระยะหลัง ๆ มักมีปัจจัยเชื่อมโยงกรณีสุขภาพจิตด้วย ซึ่ง “ปัญหาสุขภาพจิต” นี้ก่อนหน้านี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็เพิ่งสะท้อนต่อข้อมูลรายงานวิจัยที่พบ “ตัวเลขน่าตกใจ” กรณี “ผู้ป่วยจิตเวชในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นรวดเร็ว” เป็น 2.3 ล้านคน ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ที่เป็นผลจาก “โครงสร้างสังคมที่เปลี่ยนไป” และ “การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว” รวมถึง “การเข้าสู่ยุคสังคมดิจิทัล” ด้วย โดยปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อวิถีชีวิต จิตใจ อารมณ์ พฤติกรรมของผู้คน …ซึ่งก็สะท้อนได้จาก “ร่องรอยความรุนแรง” ของเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้ “ไทยต้องมีแผนรับมือ” ปัญหานี้

และกับ “มุมวิชาการ” ที่สะท้อนผ่านรายงาน-บทความเพื่อเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหา ที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็จะสะท้อนต่อข้อมูลในวันนี้ คือแนวทางข้อเสนอแนะจากนักวิจัยเครือข่ายของ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ที่ได้มีการเสนอไว้ให้ไทย “ศึกษาองค์ความรู้และบทเรียน” ทั้งจากกรณีในต่างประเทศและในไทยเอง เพื่อที่จะเห็นภาพการ “จัดระบบบริการจิตเวช” ของประเทศไทย รวมถึงนำข้อมูลที่ได้มาใช้เพื่อ “จัดระบบบริการจิตเวชให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น” เพื่อ…

ยกระดับระบบบริการจิตเวชให้ดียิ่งขึ้น

อันจะส่งผล “ทำให้จำนวนผู้ป่วยลดลง”

สำหรับข้อเสนอนี้เป็นส่วนหนึ่งในรายงานวิจัยที่จัดทำโดย พญ.โชษิตา ภาวสุทธิไพศิฐ สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ที่ศึกษาเรื่องนี้ภายใต้หัวข้อวิจัย “การทบทวนวรรณกรรม เรื่องระบบบริการจิตเวชครบวงจร” โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อ พัฒนาระบบบริการจิตเวชครบวงจร” เพื่อใช้ “เป็นทางออกของการแก้ปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้น” โดยได้มีการนำกรณีศึกษาในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ อาทิ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ มาถอดบทเรียน ซึ่งประเทศเหล่านี้ต่างให้ความสำคัญกับ “ระบบสุขภาพองค์รวม”

ที่ไทยน่าจะนำเรื่องนี้มา“ถอดบทเรียน”

เพื่อการ“อัปเกรดระบบบริการจิตเวช”

ในรายงานวิจัยนี้ได้เผยผลการศึกษาโดยระบุไว้ว่า… จากการวิเคราะห์และถอดบทเรียน “ตัวอย่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ” ในการ “จัดระบบบริการทางจิตเวช” นั้น พบว่า… มีจุดเหมือนกัน 2 ด้านใหญ่ ๆ ได้แก่ มีการกำหนดนโยบายกับแผนกลยุทธ์ด้านสุขภาพจิตที่ “คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน” และ มีการพัฒนาศักยภาพการให้บริการด้านสุขภาพจิต “ไปสู่ชุมชนแบบทั่วถึง” โดยเฉพาะการเข้าถึงบริการดูแลรักษาและฟื้นฟูสุขภาพจิต อาทิ ออสเตรเลีย ที่เน้นดูแลสุขภาพจิตชุมชนแบบบูรณาการ โดยมีทีมสหวิชาชีพดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน ทั้งยังมีรูปแบบบริการที่หลากหลายด้วย ทำให้…

“ตอบสนองผู้ป่วยจิตเวชได้หลายกลุ่ม”

ทาง พญ.โชษิตา ผู้ศึกษาวิจัย ได้ให้ข้อมูลไว้ในรายงานนี้ว่า… การแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตของไทยที่จริงก็มีแผนงานและยุทธศาสตร์ที่มีความก้าวหน้ามากกว่าในอดีต แต่ในทางปฏิบัติจริงกลับพบว่า “ยังมีอุปสรรค” เนื่องจากหลายพื้นที่ “ยังไม่มีความพร้อม” โดย ปัญหาสำคัญที่พบคือ…ความขาดแคลนบุคลากรทางด้านจิตเวช ที่พบมากที่สุดในหลายพื้นที่ส่วนปัญหาอื่นที่พบนั้น มีอาทิ… ขั้นตอนบำบัดที่ยุ่งยากซับซ้อน,  บุคลากรในระบบย้ายพื้นที่ทำงานบ่อย และการไม่มีพื้นที่เหมาะสมในการให้บริการ เป็นต้น โดยปัญหาเหล่านี้ล้วนทำให้เกิดอุปสรรคในการให้บริการและการเข้าถึงบริการในระบบ ที่สะท้อนว่า…

“การสนับสนุนเชิงนโยบายจากรัฐ” นั้น

ยัง “ไม่ครอบคลุม-มีช่องว่าง-แยกส่วน”

ทั้งนี้ จากอุปสรรคที่เกิดขึ้น พญ.โชษิตา นักวิจัยเครือข่าย สวรส. จึงจัดทำ “ข้อเสนอเชิงนโยบาย” เพื่อ “ปิดช่องว่าง-ยกระดับระบบบริการจิตเวชของไทย” ที่โดยสรุปนั้นมีดังนี้… 1.จัดทำแผนกระจายทรัพยากร ที่สอดคล้องกับสัดส่วนประชากรและภาระงาน 2.เพิ่มการสร้างการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายในทุกระดับ โดยเน้นที่พื้นที่ซึ่งมีความขาดแคลนก่อน 3.ปรับรูปแบบวิธีการดูแลที่หลากหลายในการจัดบริการ เพื่ออุดช่องโหว่ 4.บูรณาการความรู้ด้านสุขภาพจิต แบบองค์รวม 5.เพิ่มระบบการค้นหาเชิงรุกและดูแลผู้ป่วยจิตเวชครั้งแรก …นี่เป็นข้อเสนอผ่านมุมวิชาการศึกษาวิจัย

“เป้าหมาย” คือ “ลดอัตราผู้ป่วยจิตเวช”

“ยกระดับระบบบริการจิตเวชเร่งด่วน”

ที่ก็น่าจะมีผล “ลดเหตุร้ายที่โยงจิต??”.