รวมถึงเรื่องสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งที่สอง  นายกฯ เศรษฐา  ระบุว่า..”สะพานสุไหงโก-ลก 2 มีการพูดคุยกันมาหลาย 10 ปีแล้ว เชื่อว่าหากทั้งสองประเทศช่วยกันผลักดันสะพานนี้จะสำเร็จโดยเร็ว  และอยากเชิญนายกรัฐมนตรีมาเลเซียมาที่ชายแดนเพื่อร่วมกันผลักดันให้สำเร็จโดยเร็ว “

ล่าสุด  กรมทางหลวง (ทล.) ได้จัดเตรียมแผนงานโครงการสะพานคู่ขนานข้ามแม่น้ำโก-ลก ที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส หรือ สะพานสุไหงโก-ลก แห่งที่ 2  สถานะของโครงการขณะนี้  ฝ่ายมาเลเซียรับผิดชอบออกแบบ และจะส่งรูปแบบสะพานให้ไทยพิจารณาภายในเดือนพ.ย.2566 จากนั้นจะประชุมด้านเทคนิคช่วงปลายปี  

นอกจากนี้กระทรวงคมนาคมจะพิจารณาเรื่องผลกระทบจากการก่อสร้างสะพานเนื่องจากบริเวณก่อสร้างเป็นพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีประชาชนอาศัยอยู่เป็นเวลานาน ต้องหารือกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อลดผลกระทบให้มากที่สุด

โครงการสะพานคู่ขนานข้ามแม่น้ำโก-ลก ใช้งบประมาณก่อสร้าง 220 ล้านบาท ไม่รวมถนนแต่ละฝั่ง แบ่งเป็นฝั่งไทย 110 ล้านบาท ฝั่งมาเลเซีย 110 ล้านบาท แบ่งความรับผิดชอบกึ่งกลางสะพาน  กรมทางหลวงเตรียมศึกษารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ในปี 2567 ขณะเดียวกันเตรียมขอจัดตั้งงบประมาณปี 2568 จำนวน 160 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างสะพาน 110 ล้านบาท และงานถนนและสิ่งประกอบ 50 ล้านบาท หากได้รับงบฯ จะเริ่มก่อสร้างในปี 2568 ให้แล้วเสร็จเปิดบริการได้ประมาณปี 2570

รูปแบบของสะพานตัวใหม่จะอยู่คู่ขนานสะพานเดิม คือสะพานโก-ลก หรือ สะพานรันเตาปันจัง-สุไหงโก-ลก พื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เชื่อมรันเตาปันจัง รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย มีระยะห่างจากสะพานเดิม 8 เมตร  เป็นสะพานคอนกรีต ความยาว 116 เมตร รองรับรถยนต์ขนาด 2 ช่องจราจร พร้อมทางรถจักรยานยนต์(จยย.) 1 ช่อง และทางเท้าอีก 1 ช่อง มีหลังคาคลุมสำหรับคนเดินเท้า สะพานใหม่จะรับรถทิศทางขาออกจากประเทศมาเลเซียมุ่งหน้าเข้าประเทศไทย 

การออกแบบสะพานได้นำสถาปัตยกรรม “เรือกอและ” มาใช้ เพื่อสะท้อนภูมิปัญญาท้องถิ่นของทั้งสองประเทศที่มีความคล้ายคลึงกันด้วย เนื่องจากเรือกอและ เป็นเรือประมงท้องถิ่นในภาคใต้ตอนล่างของไทยและชายฝั่งตะวันออกของมาเลเซียฝั่งตะวันตก

ขณะเดียวกันจะปรับปรุงสะพานโก-ลกเดิมซึ่งเป็นสะพานมิตรภาพไทย-มาเลเซียแห่งแรกที่เปิดบริการมาตั้งแต่ปี 2516-ปัจจุบัน (ปี 2566) ระยะเวลา 50 ปี เป็นสะพานคอนกรีต ความยาว 109 เมตร ขนาด 2 ช่องจราจร มีทางเท้าสองข้าง   จะปรับปรุงใหม่ขนาด 2 ช่องเหมือนเดิม เพิ่มทางรถ จยย. 1 ช่อง และ ทางเท้า 1 ช่อง มีหลังคาคลุมสำหรับคนเดินเท้า ซึ่งสะพานตัวเดิมนี้จะรับรถทิศทางขาออกจากไทย มุ่งหน้าเข้ามาเลเซีย 

เมื่อสะพานใหม่แล้วเสร็จ จะทำให้มีสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก จากเดิมขนาด 2 ช่องจราจร รวมเป็น 4 ช่องจราจร ทิศทางละ 2 ช่อง

ข้อมูลจากด่านศุลกากรเก็บสถิติการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย ผ่านด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก มีมูลค่าสูงที่สุดใน จ.นราธิวาส โดยในปีงบประมาณ 2566 มีมูลค่านำเข้าสูงถึง 1,088 ล้านบาท  สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ไม้แปรรูป ปลาทะเลทั้งตัวแช่เย็น ยางมะตอย และมีมูลค่าส่งออก 1,456 ล้านบาทสินค้าส่งออกที่สำคัญ เช่น ปลาทะเลทั้งตัวแช่เย็น ผลไม้สด แป้งมันสำปะหลังสำเร็จรูป เป็นต้น

ส่วนการเดินทางเข้า-ออกด่านพรมแดนสุไหงโกลกในปี 2566 รวมทั้งสิ้น2.68 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน(65)กว่า 121.61% เป็นผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักรไทย 1.33 ล้านคน และออกจากราชอาณาจักรไทย 1.35 ล้านค

โครงการสะพานคู่ขนานข้ามแม่น้ำโก-ลก เกี่ยวข้องกับหลายแผนงานทั้งแผนงานยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย, การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือไทย-มาเลเซีย (JC) การพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย และแผนงานพัฒนาของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)

นอกจากช่วยลดความแออัดของปริมาณการจราจรสะพานตัวแรก  อำนวยความสะดวกการเดินทาง และกระตุ้นเศรษฐกิจการค้าชายแดนระหว่างสองประเทศมากขึ้นแล้ว สะพานคู่ขนานข้ามแม่น้ำโก-ลกยังเป็นสัญลักษณ์กระชับมิตรภาพระหว่างไทย-มาเลเซียให้แน่นแฟ้นยาวนาน


คอลัมน์ มุมคนเมือง
โดย ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง