ทั้งนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้กรมควบคุมมลพิษได้รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ว่า… ขณะนี้เริ่มตรวจพบค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานแล้วในหลายพื้นที่ ซึ่งประเทศไทยได้ปรับปรุงค่ามาตรฐานใหม่ กำหนดค่าการตรวจวัดใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2566 จากเดิมที่มีค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ก็ลดลงมาเป็น 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยจากการปรับปรุงค่ามาตรฐานใหม่นี้…

ดัชนีคุณภาพอากาศของไทย “เข้มขึ้น”

เพื่อให้การแจ้งเตือนมีประสิทธิภาพขึ้น

สามารถ “แจ้งเตือนประชาชนได้เร็วขึ้น”

ทั้งนี้ การที่ “วิกฤติฝุ่นจิ๋วพิษรอบใหม่หวนกลับมาไวมากกว่าที่คิด” ก็คือการที่ “ธรรมชาติได้ส่งสัญญาณเตือนซ้ำเร็วขึ้น” ก็เป็นโอกาสที่คนไทย-ประเทศไทยจะได้ตื่นตัวและเตรียมตัวรับมือกับวิกฤติดังกล่าวนี้กันแต่เนิ่น ๆ ซึ่งคนไทยก็ต้องช่วยกันลดการทำให้เกิดฝุ่น ขณะที่ “การแก้ปัญหาฝุ่นพิษ” นับจากนี้ไป…โดยภาครัฐนั้นก็ต้อง “รอดูกึ๋น-รอดูฝีมือรัฐบาลใหม่” ว่าจะมีไอเดีย-จะมีฝีมือทำได้ดีกว่ารัฐบาลเก่าหรือไม่? อย่างไรก็ดี กับ “แนวทางลดปัญหาฝุ่น PM2.5” นี่ก็มีอีกหนึ่ง “ตัวช่วย” ที่น่าสนใจ นั่นคือ… “ดัชนีชี้วัดเกี่ยวกับสารก่อเกิดมลพิษฝุ่น PM2.5” ที่ได้จากการเก็บรวบรวมข้อมูลของสารต่าง ๆ…

เพื่อจะใช้เป็น“ข้อมูลวางแผนนโยบาย”

โดยจัดทำ“ฐานข้อมูลการปล่อยมลพิษ”

กับการ“แก้ไขปัญหาวิกฤติฝุ่น PM2.5” โดยใช้ “ตัวช่วย” ดังกล่าวนี้ ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูล ที่มาของตัวช่วยที่ว่านี้มาจากแนวคิดการ“จัดทำฐานข้อมูลบัญชีการปล่อยมลพิษสารตั้งต้นก่อฝุ่น PM2.5 ทุติยภูมิ” ที่ได้ถูกเสนอแนะไว้โดยนักวิชาการ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย ผศ.ดร.จิรทยา เริ่มมนตรี ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดทำฐานบัญชีในเรื่องนี้ไว้ โดยระบุว่า… ในประเทศไทยปัญหาหมอกควันเกิดจากความเข้มข้นของฝุ่นละออง PM10 และ PM2.5 เป็นสำคัญ ที่มักจะมีปริมาณสูงเกินค่ามาตรฐาน โดยส่วนใหญ่ปัญหานี้จะพบมากในช่วงฤดูแล้งของทุกปี ในพื้นที่ภาคเหนือ กับพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งมี “ปัญหารุนแรงด้านมลพิษฝุ่น” ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ท่านดังกล่าวระบุไว้อีกว่า… งานวิจัยส่วนใหญ่ในประเทศไทยมักเป็นการประเมินเฉพาะในส่วนของฝุ่น PM2.5 ปฐมภูมิ ที่เกิดจากการปล่อยโดยตรงในแหล่งกำเนิด แต่งานวิจัย ฝุ่น PM2.5 ทุติยภูมิ ฝุ่นที่ เกิดจากการรวมตัวหรือการแปลงสภาพของมลพิษปฐมภูมิที่อยู่ในบรรยากาศ ยังมีการศึกษาน้อยมาก ซึ่ง… ประเทศไทยจำเป็นต้องมีฐานข้อมูล ทั้งบัญชีการปล่อยฝุ่น PM2.5 ปฐมภูมิ และบัญชีของมลพิษสารตั้งต้นที่สามารถก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 ทุติยภูมิได้ ต้องมี 2 บัญชีนี้ ควบคู่ไปกับการใช้แบบจำลองคุณภาพอากาศ ที่ใช้หลักฟิสิกส์เคมี…

ในการ“จำลองปฏิกิริยาในบรรยากาศ”

เพื่อจะ “จำลองภาพสถานการณ์มลพิษ”

จากความจำเป็นดังกล่าว ผศ.ดร.จิรทยา ระบุไว้ว่า… ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้เกิด โครงการศึกษาวิจัยด้านการจัดทำแนวทางการจัดการฝุ่น PM2.5 โดยศึกษาการเกิดอนุภาคทุติยภูมิ (Secondary Aerosol Formation) ขึ้นมา เพื่อจะทำการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งมีระบบแบบจำลองที่ประกอบด้วย “ระบบบัญชีการปล่อยมลพิษทางอากาศที่เป็นปัจจุบัน” ได้แก่ ฝุ่น PM10 ปฐมภูมิ, ก๊าซเรือนกระจก, ฝุ่น PM2.5 ปฐมภูมิ และฝุ่น PM2.5 ทุติยภูมิ เช่น แอมโมเนีย โดยสามารถนำข้อมูลที่ได้มาใช้เป็น ข้อมูลพื้นฐาน ในการกำหนดการปล่อยมลพิษทางอากาศของไทย รวมถึง…

สามารถนำมา“ใช้เพื่อสร้างฉากทัศน์”

สถานการณ์จำลอง“ให้เห็นผลที่จะเกิด”

ทั้งนี้ นอกจากจะเป็น “ตัวช่วย” เพื่อให้ไทยมี “ข้อมูลนำไปใช้วางแผน” กับนำไป “ใช้จำลองสถานการณ์ฝุ่นพิษที่จะเกิดขึ้น” แล้ว…ในอนาคตฐานข้อมูลดังกล่าวนี้ทางคณะผู้ศึกษาวิจัยก็ยังได้เตรียม จะต่อยอดไปสู่การพัฒนาการสร้างแบบจำลองคุณภาพทางอากาศ เพื่อศึกษาถึงอิทธิพลของการปล่อยสาร Precursors ต่อผลกระทบการเกิดฝุ่น PM2.5 ต่อไป ซึ่งมีประโยชน์กับไทยมากในการนำข้อมูลมาใช้เพื่อวางแผน รับมือกับปัญหาวิกฤติมลพิษฝุ่น ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะ “วิกฤติฝุ่น PM2.5” ที่ในระยะหลัง ในช่วง 4-5 ปีมานี้ “ไทยต้องเผชิญวิกฤตินี้รุนแรงมากขึ้น” ในช่วงเดือน ธ.ค. ถึง ก.พ.

“การจัดทำฐานบัญชีการปล่อยมลพิษสารตั้งต้นก่อฝุ่น PM2.5 ทุติยภูมิ จะช่วยให้รัฐและทุกภาคส่วนมีข้อมูลนำไปใช้ในการกำหนดมาตรการควบคุมการเกิดมลพิษ เพื่อให้การรับมือต่อมหันตภัยที่เกิดจากฝุ่น PM2.5 ทำได้รอบด้านมากยิ่งขึ้น” …ทาง ผศ.ดร.จิรทยา เริ่มมนตรี ระบุไว้ถึง “ฐานข้อมูลการปล่อยมลพิษ-สารก่อเกิดฝุ่น PM2.5”

ก็น่าติดตามดูการนำไปใช้-การขยายผล

“ตัวช่วย” ให้ “คนไทยพ้นวังวนปัญหา”…

พ้น “วิกฤติฝุ่นพิษ”…ที่ “ร้ายถึงชีวิต!!”.