“…มีอุปสรรคเยอะแยะมาก ๆ ครับ แต่ก็กัดฟันสู้จนวันนี้เราทำให้คนยอมรับความฝันนี้ของเราได้ เสียงนุ่ม ๆ แต่หนักเข้มจากเจ้าของฉายา “บาร์เบอร์รถเร่” วัย 42 ปี ย้ำความฝันนี้ของเขากับเรา ที่กว่าจะเดินมาถึงจุดนี้ได้ เขาก็ยอมรับว่าไม่ง่ายเลย แต่สุดท้ายเขาก็ทำได้สำเร็จ จนวันนี้ชื่อเสียงและฝีมือของเขาได้รับการยอมรับ ซึ่งวันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” จะพาไปพูดคุยกับเจ้าของเรื่องราวนี้กัน… กับ “ธนวัฒน์ ภูทองจันทร์”

ธนวัฒน์ ภูทองจันทร์ หรือ ช่างอ้วน เจ้าของร้าน รถเร่บาร์เบอร์เคลื่อนที่เร็ว เล่าให้ ทีมวิถีชีวิต ฟังว่า เขาเป็นคนเกษตรสมบรูณ์ อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ เป็นลูกคนที่ 2 ของ คุณพ่อสมศักดิ์ กับ คุณแม่สาคร ภูทองจันทร์ โดยมีพี่ชาย 1 คน และน้องชาย 1 คน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่มีอาชีพรับจ้างและค้าขาย ทั้งนี้ ช่างอ้วนเล่าย้อนว่า หลังเขาเรียนจบ ม.3 ก็ได้เข้าเรียนต่อที่กรุงเทพฯ โดยเรียน กศน. เทียบเท่าได้ชั้น ม.6 จากนั้นก็เรียนต่อปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย จนต่อมาเมื่อรู้สึกว่าร่างกายไม่ไหว จึงตัดสินใจเลิกเรียน และหันมาทำอาชีพค้าขายบริเวณย่านรามคำแหง โดยขายกระเป๋าเดินทางและกระเป๋าแฟชั่นอยู่ที่ตลาดตะวันนา ย่านบางกะปิ เนื่องจากตอนนั้นคุณพ่อเป็นคนขับรถตู้ส่งพนักงานโรงงาน ส่วนคุณแม่ทำงานเป็นแม่บ้านให้กับเจ้าของโรงงานกระเป๋า เขาจึงนำกระเป๋าจากสต๊อกที่โละทิ้งมาขายถูก ๆ แต่ขายไปขายมา กลับขายดีขึ้นเรื่อย ๆ จึงขยับมาทำงานเป็นเซลส์จัดส่งกระเป๋าให้ลูกค้าทั่วประเทศ แต่แล้วชีวิตก็มาสะดุด!!…

มีคนรู้จักยืมเงินไปแล้วไม่มีเงินใช้หนี้ เขาจึงยกร้านตัดผมให้กับเรา พร้อมกับลูกน้องเก่าของเขาอีก 2 คน แต่ด้วยความที่เราเป็นเซลส์ขายของ ไม่ค่อยได้มาดูแลร้าน ก็ให้ช่างผมเขาทำงานแล้วหักค่าใช้จ่าย เหลือเท่าไหร่ก็ส่งให้เรา แต่หลัง ๆ เริ่มขาดทุนหนัก เพราะร้านตัดผมเป็นงานที่เราทำไม่เป็น ก็เลยให้คนอื่นทำแทน ปรากฏสรุปว่าช่างผมในร้านเขารวมหัวกันโกงเงิน จนเราไม่มีค่าเช่าร้าน เราก็ต้องเอาเงินที่ได้จากการทำงานมาจ่ายค่าเช่า แถมพวกช่างผมเขามาชวนกันลาออก ก็เลยต้องปิดร้าน เพราะผมทำร้านตัดผมไม่เป็น ช่างอ้วนเล่าจุดหักเหในชีวิตให้เราฟัง

ทำผมผู้หญิงก็ได้

ก่อนจะเล่าต่อไปว่า หลังปิดร้านก็นึกเสียดายทำเล จึงตัดสินใจไปเรียนตัดผมกับ อาจารย์อำภา ที่ศูนย์ฝึกอาชีพรามคำแหง ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วเขาก็เป็นคนชอบแต่งตัว ชอบแต่งผมอยู่แล้ว ซึ่งสมัยนั้นเสียค่าลงทะเบียน 30 บาท โดยเรียนหลักสูตร 90 วัน เมื่อเรียนจบได้ใบประกาศ ทางอาจารย์อำภาก็พาไปทำงานที่ร้านของลูกศิษย์ โดยแนะนำให้เขายอมควักเนื้อจ่ายค่าเช่าไปก่อนระหว่างที่ทำงานที่ร้านนี้ ช่างอ้วนบอกว่า อาศัยครูพักลักจำ ทำอยู่นาน 5 เดือน ก็ตัดสินใจมาลงทุนเปิดร้านของตัวเอง โดยเริ่มจากบริการสระไดร์และตัดทรงง่าย ๆ ซึ่งปรากฏลูกค้าชอบและถูกใจ จึงเริ่มมีลูกค้ามากขึ้น

เขาบอกว่า ตอนนั้นยังไม่ค่อยถนัดการตัดผมผู้ชาย เพราะเรียนทำผมผู้หญิงมา ทีนี้มีลูกค้าที่มาเป็นคู่แฟน แล้วแฟนของลูกค้าที่เป็นผู้ชายอยากตัดผมด้วย แต่ไม่ถนัดก็เลยต้องปฏิเสธ พอกลับมาคิดก็รู้สึกเสียดาย จึงไปหาข้อมูลกับคนรู้จักเพราะอยากจะฝึกหัดการตัดผมผู้ชายเพิ่ม ซึ่งคนรู้จักแนะนำให้ไปที่ร้านของ อาจารย์ประเสริฐศักดิ์ เขาก็เลยลองเข้าไปดู ปรากฏพอเจออาจารย์ประเสริฐศักดิ์ อาจารย์ได้ทักเรื่องสีผม พอคุยไปคุยมาเขาจึงได้เล่าทุกสิ่งให้อาจารย์ฟัง พออาจารย์ฟังจบก็เลยชวนให้เขามาอยู่ด้วย พร้อมบอกว่าจะสอนวิชาให้ เขาจึงคว้าโอกาสนี้ เพราะรู้ว่าคนที่จะเรียนกับอาจารย์ได้ต้องซื้อคอร์สแพงมาก ซึ่งตอนหลังเมื่อไปสอบถามว่าทำไมอาจารย์ถึงรับเขาเป็นลูกศิษย์ อาจารย์ก็บอกเขาว่า มองเห็นความทะเยอทะยานของเขาจึงอยากจะส่งเสริม อีกทั้งบุคลิกท่าทางเขาน่าจะทำผมให้ลูกค้าผู้ชายได้ โดยเขาได้ทำงานอยู่นานจนเริ่มมีลูกค้าติดใจฝีมือ

ตัดผมผู้ชายก็ดี

ช่างอ้วน เล่าอีกว่า ถ้ามีเวลาว่างเขาจะชอบไปเดินหาซื้อหนังสือออกแบบทรงผมมาดูเป็นอาหารสมอง ซึ่งตอนนั้นเขาเหมือนคนไม่อิ่มความรู้ อยากหาความรู้ใหม่ ๆ มาใส่ตัวอยู่เสมอ ต่อมาอาจารย์ประเสริฐศักดิ์ก็ได้พาเขาไปแนะนำตัวกับ อาจารย์เบญ ซึ่งเป็นอาจารย์ที่โดดเด่นการแต่งทรงผมในสไตล์ทรงพังก์ของเมืองไทย ทำให้เขาได้เรียนรู้วิชาใหม่ ๆ นี้เพิ่ม และต่อมาเขายังได้รู้จักกับ อาจารย์หน่อย ที่เกศเกล้า ซึ่งเป็นคนสอนวิชาทรงผมตีโป่ง หรือที่เรียกกันว่าทรงฟาร่า ก็ได้วิชาเพิ่มอีก แต่ต่อมาเส้นทางชีวิตก็เปลี่ยนอีก เพราะเขาหันมาเน้นศึกษาการทำสีผม-สีเคมี ที่ร้านเรืองฤทธิ์ โดยทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย

ที่ผมหันมาทำสีเพราะมองว่าได้เงินเยอะ และตอนนั้นก็หลงระเริงตามสังคมด้วย เสื้อผ้าจะต้องเป็นแบรนด์เนม เพราะอยากเหมือนช่างผมคนอื่น ๆ ที่เขาโด่งดังตอนนั้น กาแฟก็ต้องกินจากร้านแพง ๆ แต่นั่งรถเมล์กลับบ้านทุกวันหลังเลิกงาน (หัวเราะ) ซึ่งนิสัยนี้ทำให้ผมไม่มีเงินเหลือเลย เพราะวงการช่างผมก็เหมือนวงการบันเทิง ถ้าไม่แข็งจริง ๆ ก็อยู่ยาก ตอนนั้นผมอยากเซตทรงผมเป็น ผมเลยมาอยู่ที่ร้านกาโม่ ทำอยู่ 2 ปีกว่า ๆ  ก็รู้สึกว่าขาบวมและปวดมาก ปรากฏพอไปหาหมอจึงรู้ว่าตัวเองเป็นลิ่มเลือดที่ขาอุดตัน ตอนนั้นขาดำคล้ำเลย รักษายังไงก็ไม่หาย จนมีคนบอกว่าผมโดนคุณไสย แนะนำให้ไปบวช เราก็ไปบวชที่อุดรธานีอยู่ถึง 2 ปี จนรู้สึกว่าขาดีขึ้นแล้วจึงสึกออกมา

หลังสึกออกมาช่างอ้วนก็ไปทำงานเหมือนเดิมอีกหลายร้าน และสุดท้ายก็เปิดร้านตัดผมในตลาดนัดย่านลาดกระบัง จนเริ่มมีลูกค้าติด ปรากฏมีโครงการก่อสร้างขึ้น ตลาดนัดแห่งนี้ก็เลยต้องยกเลิก และมาถึงจุดนี้นี่เองที่ช่างอ้วนตัดสินใจกลับไปเปิดร้านตัดผมเล็ก ๆ ที่บ้านเกิด โดยเขาบอกว่าตอนนั้นเงินก็ไม่มี แต่ก็พอจะหยิบยืมได้ ครั้นพอจะตั้งหลักทำร้าน คุณยายของเขาก็เสียชีวิตลง ซึ่งน้าที่อยู่ต่างประเทศบอกให้คุณแม่ของเขาย้ายมาอยู่ที่บ้านคุณยาย เพราะไม่อยากให้บ้านถูกทิ้งร้าง โดยน้าจะให้เงินสร้างบ้าน ซึ่งบ้านหลังนี้จะอยู่ตรงสี่แยกกลางหมู่บ้านพอดี แต่ถึงทุกวันนี้บ้านหลังนั้นก็ยังทำไม่เสร็จ ผนังก็ยังไม่ได้ฉาบ พื้นบ้านก็ไม่ได้เท แต่ก็อยู่ไปแบบนั้น จนมาเกิดโควิด-19 ระบาด ซึ่งก็เป็นช่วงที่เขาเกิด ไอเดียบาร์เบอร์รถเร่ พอดี

ช่างอ้วน เล่าเรื่องนี้ให้ฟังว่า แม้โควิด-19 จะมาแล้ว แต่เขาก็ชวนคุณแม่ให้ไปทำอาชีพค้าขายด้วยกัน โดยเขาลงทุนซื้อรถพ่วงข้างมาใส่มอเตอร์ไซค์ เพื่อตระเวนขายลูกชิ้นปิ้งตามหมู่บ้าน ซึ่งก็ทำให้มีโอกาสได้ไปพบเจอผู้คนตามหมู่บ้านต่าง ๆ อยู่ประมาณ 4 เดือน จนเมื่อโควิด-19 ระบาดรุนแรงมากขึ้น และมีมาตรการต่าง ๆ ออกมา ประกอบกับกลัวติดเชื้อ จึงหยุดออกขาย และหันมาค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ หน้าบ้านแทน จนเมื่อมีคนที่รู้จักเห็นว่าอยู่บ้าน ก็เลยมาขอให้ช่วยตัดผมให้หน่อย

ตอนนั้นผมก็เอาต้นมะพร้าวตัดเป็นท่อน ๆ มาทำเป็นเก้าอี้ เอากระจกที่คุณแม่ใช้ส่องหน้ามาแปะตรงเสาบ้าน ซึ่งอุปกรณ์ตัดผมเรามีพร้อมแล้ว เราก็ตัดผมให้คนนั้น พอทำไปทำมาก็เริ่มมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเรื่อย ๆ จนตัดผมให้คนทั้งหมู่บ้านครบหมด ทำให้เกิดไอเดียว่า บางคนออกจากบ้านไม่ได้ เพราะไม่กล้าออกมา ถ้าอย่างนั้นเรายกร้านไปหาลูกค้าเลยดีกว่า ก็เลยเอารถพ่วงขายลูกชิ้นปิ้งคันเดิมมาดัดแปลงใหม่ โดยแกะพ่วงข้างออก เอาอุปกรณ์ใส่กระเป๋าเป้ ตอนแรกพอไปถามเขาว่าตัดผมไหม คนก็ปฏิเสธ เพราะเราแปลกหน้า หรือบางคนก็บอกผมยังไม่ยาวไม่ตัด หรือบ้างก็บอกว่ามีร้านประจำแล้ว แรก ๆ ก็ท้อบ้าง แต่อาศัยตื๊อเรื่อย ๆ จนมีคนยอมตัดผมด้วย พอออกมาดี เขาก็เอาไปเล่าให้คนอื่นฟัง ก็เลยเริ่มเป็นที่รู้จักแบบปากต่อปากช่างอ้วนเล่าถึงช่วงเริ่มต้นของ รถเร่บาร์เบอร์

อย่างไรก็ตาม ต่อมาก็เกิดอุปสรรค เพราะที่บ้านมีรถมอเตอร์ไซค์แค่คันเดียว ทำให้เวลาที่เขาเอารถออกไปตัดผมที่บ้านก็จะไม่มีรถไปซื้อของที่ตลาด โดยคนที่บ้านต้องรอเขาคนเดียว และวันไหนเขากลับดึกคนที่บ้านก็จะไม่ได้กินข้าว เพราะไม่มีรถ จนที่สุดเขาจึงขอให้คุณพ่อช่วยไปออกรถคันใหม่ให้ โดยเขาจะผ่อนเอง เพราะคำนวณแล้วว่าไหว ตัดผมหัวละแค่ไม่กี่สิบบาท วันหนึ่งก็ยังมีรายได้ราว 400-500 บาท ทั้งนี้ เขาเล่าให้เราฟังอีกว่า รถเร่บาร์เบอร์ นี้เขาได้ต้นแบบจาก รถเร่ขายหอมและกระเทียมซึ่งเขาก็ได้ไอเดียการทำ สปอตโฆษณา เพื่อใช้ประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จัก รถเร่ตัดผม ของเขา โดยเน้นทำสปอตโฆษณาให้สั้น กระชับ เข้าใจง่าย โดยจะประกาศตลอดเส้นทางที่รถวิ่งไป เพื่อให้คนรู้ว่า…รถตัดผมมาแล้ว

ระหว่างรถวิ่งไปก็เปิดสปอตประกาศว่า รถตัดผมเคลื่อนที่มาให้บริการตัดผมถึงบ้านแล้ว ไม่ต้องสงสัย อย่ามัวแต่นั่งฟัง นี่คือช่างตัดผมมืออาชีพ พ่อแม่พี่น้องทุกท่านไม่ต้องกลัวว่าเราจะตัดไม่เป็น เราเป็นช่างตัดผมมานานกว่า 10 ปีแล้ว ทีนี้พอคนรู้จักมากขึ้น ก็ขยายเป็นลูกโซ่จากหมู่บ้านหนึ่งไปหมู่บ้านที่ 2 ที่ 3 จากตำบลนี้ไปตำบลอื่น ไปอำเภออื่น จนคนรู้จักร้านของเราทั้งจังหวัดแล้ว โดยเวลาทำการก็จะเริ่มออกจากบ้านตั้งแต่ 08.00-18.00 . แล้วก็กลับบ้าน โดยจะมาเปิดร้านต่อที่หน้าบ้านช่วง 19.00-22.00 . เพราะมีลูกค้ามารอทุกวัน เขาเล่าไว้

ส่วนเรื่องรายได้นั้น ช่างอ้วนบอกว่า รายได้แต่ละวันไม่แน่นอน แต่กลม ๆ ต่อเดือนอยู่ที่เลข 6 หลัก ซึ่งในแต่ละวันก็ไม่ได้มีเป้าหมายว่าจะต้องตัดผมได้กี่หัว ส่วนระยะทางไปไกลสุดคือ ไป-กลับ 300 กิโลเมตร… ทุกวันนี้มีความสุขทุกครั้งที่ออกเดินทางไป เพราะนอกจากได้ทำอาชีพที่รักแล้ว ยังได้ท่องเที่ยวไปในตัวด้วย เขาบอกเล่าเรื่องนี้พร้อมรอยยิ้ม

สมัยยังเฟี้ยว-ยังทำงานในเมือง

ช่างอ้วนธนวัฒน์เจ้าของบาร์เบอร์รถเร่อันโด่งดังบอกกับทีมวิถีชีวิต ทิ้งท้ายว่า เขาคิดว่าใบประกาศไม่ได้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของช่างผม แต่ความสำเร็จของช่างทำผมคือคำชมจากลูกค้ามากกว่า ที่ทำให้มีกำลังใจเดินบนถนนอาชีพนี้มาได้นานขนาดนี้

ดังนั้น สิ่งสำคัญของช่างผมทุกคนคือสั่งสมประสบการณ์ให้มากที่สุดเพื่อบริการลูกค้าให้ดีที่สุด… ถามว่าอาชีพนี้ทำแล้วเหนื่อยไหม? ยอมรับว่าเหนื่อย แต่ก็มีความสุข และเป็นอาชีพที่หากินได้ทุกวัน ซึ่งช่างตัดผมก็เหนื่อยเหมือนอาชีพก่อสร้าง แต่มันเหนื่อยคนละอย่างคนละแบบกัน ที่สำคัญคืออาชีพตัดผมนี้ถือเป็นอาชีพที่มันไม่มีวันทำให้เราอด ที่จะอดก็คือเราไม่ทำมัน ซึ่งก็คงเหมือนยอดต้นไม้ ที่ยิ่งเราเด็ดยอดออกเท่าไหร่

มันก็จะยิ่งงอกใหม่เรื่อย ๆ“.

‘ชอบและรัก…เหนื่อยก็สนุก’

“ธนวัฒน์ ภูทองจันทร์” หรือ “ช่างอ้วน” ยังบอกเล่าไว้ด้วยว่า ทุกวันนี้ถึงแม้ในสายตาคนอื่น ๆ อาจจะมองว่าตัวเขาลำบาก แต่เขามีความสุขกับอาชีพนี้ที่สุดแล้ว เพราะอาชีพตัดผม-ทำผมเป็นงานที่เขาชอบและรัก แม้จะเหนื่อย แต่ก็สนุก ทำให้ไม่เคยรู้สึกเบื่อเลยที่ต้องเดินทางเพื่อไปตัดผม-ทำผมให้ลูกค้า ซึ่งเขาตั้งใจว่าจะทำอาชีพนี้ต่อไปเรื่อย ๆ จนตาย หรือทำไม่ไหวจริง ๆ ส่วนความคิดที่ว่าอยากจะให้ใครมาสานต่ออาชีพนี้หรือไม่ เรื่องนี้ช่างอ้วนบอกว่า ’ความจริงก็อยากจะให้ครอบครัวและพี่น้องมาสืบสานอาชีพนี้ เพราะสามารถเลี้ยงตัวเอง เลี้ยงครอบครัวได้ แต่ก็อย่างว่า…หากคนไหนไม่ชอบอาชีพนี้ ก็คงทำได้ไม่ดี ซึ่งก็ต้องขึ้นกับคนที่อยากจะรับไม้ต่อด้วยว่า…สนใจและรักอาชีพนี้มั้ย?“.

เชาวลี ชุมขำ : รายงาน