เกือบทุกแห่งค่อนข้างมีกฎเหล็กเคร่งครัดจริงจังกับการสุ่มค้นหาผู้ป่วย ในสถานที่ทำงาน ตามมาตรการ “องค์กรปลอดโควิด” (Covid-free setting) มีทั้งเป็นราย 3-4 วัน รายสัปดาห์ หรือ 14 วัน ซึ่งเป็นอีกช่องทางในการช่วยลดจำนวนผู้ป่วย

กลายเป็นสิ่งจำเป็นต้องใช้เบิกทาง

แต่สิ่งที่เข้ามามีบทบาทอย่างมากจึงเป็น ชุดตรวจเร็ว (Antigen Test Kit)เรียกกันง่าย ๆ ว่า  ATK กลายเป็นอีกสิ่งจำเป็นในช่วงนี้ไปโดยปริยาย แม้ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะไฟเขียวให้เอกชนที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตและนำเข้าชุดตรวจหาเชื้อโควิดด้วยตนเองแล้วกว่า 45 รายแต่ภาพรวมราคาของชุดตรวจ ATK ไม่ว่าจะเป็นแบบ ใช้ก้าน SWAB แหย่จมูก หรือชุดตรวจแบบตรวจน้ำลาย ยังค่อนข้างมีราคาสูง ที่สำคัญยังต้องใช้บ่อย ๆ ต่อเนื่องกลายเป็นภาระไปอีก

ทีมข่าว 1/4 Special Report พูดคุยกับ อ.ภก.ดร.วิศรุต บูรณสัจจะ ภาควิชาเภสัชวิทยาและสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ว่า หลัง ศบค.คลายล็อก คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติมากขึ้น แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อถือว่ายังสูงอยู่ หลายคนเริ่มมีความรู้สึกชินกับตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต รัฐบาลก็พยายามให้ประชาชนป้องกันตัวเองด้วยการใช้ชุดตรวจเร็ว (ATK) ตรวจหาโควิด ซึ่งถ้ามีผลตรวจว่าติด จะต้องเริ่มกักตัวเองที่บ้าน มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างมาก เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อที่รัฐบาลประกาศค่อนข้างวิเคราะห์ยากมาก ถ้าดูจากตัวเลขจะเห็นว่ามีการตรวจหาเชื้อน้อยกว่าเดิม ซึ่งอาจจะทำให้มีผู้ติดเชื้อที่หลุดรอดการตรวจไปใช้ชีวิตแบบปกติ

สำหรับความหลากหลายของผู้นำเข้าชุดตรวจ ATK ถ้าเทียบกัน 2–3 เดือนก่อน ที่มีแค่ 4-5 บริษัทที่นำเข้ามา ตอนนี้ทราบว่ามีถึง 47 บริษัท ที่ขึ้นทะเบียนกับ อย. สิ่งนี้ทำให้มีชุดตรวจที่หลากหลายมากขึ้น โดยบริษัทผู้ผลิตส่วนใหญ่จะผลิตในประเทศจีน เกาหลีใต้  สหรัฐอเมริกา ฯลฯ  เมื่อมีบริษัทรับมาขายมากย่อมทำให้ราคาขายถูกลง เพราะช่วง 2-3 เดือนก่อน มีราคา 400–500 บาท ตอนนี้ราคาขายในตลาดยังอยู่ที่ชุดละ 200–450 บาท  แต่ถ้าเทียบกับค่าครองชีพของคนหาเช้ากินค่ำ ราคาชุดตรวจก็ยังถือว่าแพงอยู่ การตรวจครั้งหนึ่งต้องควักจ่าย 200–450 บาท ดังนั้นภาครัฐจำเป็นจะต้องลดภาระเหล่านี้ให้กับประชาชน และภาคเอกชน ให้เกิดอย่างทั่วถึง โดยไม่ต้องให้เขามานั่งแบกรับรายจ่ายนี้ในภาวะที่เศรษฐกิจถดถอย ต้องควบคุมราคาให้ต่ำกว่าราคานี้ หลายหน่วยงานเริ่มต้องโชว์ผลการตรวจก่อนจะเข้ามาที่ทำงานกันแล้ว

วอนรัฐตั้งเพดานราคาให้แตะต้องได้

อ.ภก.ดร.วิศรุต  กล่าวต่อว่า ถ้ามองถึงราคาของชุดตรวจ ATK แต่ละบริษัทจะมีราคาแตกต่างกันไป แล้วแต่ว่าต้นทุนการผลิต ซึ่งสิ่งสำคัญอย่างมากคือ การสั่งซื้อ เช่น ถ้ามีความต้องการสั่งซื้อเยอะก็จะทำให้ราคาต้นทุนถูกลง อย่างชุดตรวจยี่ห้อที่รัฐบาลไปสั่งซื้อกับบริษัทผู้ผลิตในประเทศจีนโดยตรง สามารถต่อรองในราคาที่ถูกลงได้ ชุดตรวจ ATK ต้นทุนต่อชิ้น ที่ตอนนี้ร้านยาทั่วไปรับมาประมาณ 160–300 บาท ดังนั้นราคาขายที่ทั่วไปจะตกอยู่ที่ชิ้นละ 220–450 บาท

การจะทำให้ราคาของชุดตรวจถูกลง ภาครัฐจะต้องมีการตั้งเพดานราคาของชุดตรวจว่า ต่ำสุดและสูงสุดควรอยู่แค่ไหน เพราะตอนนี้เราอยู่ในสภาวะที่ฉุกเฉิน และชุดตรวจเป็นสินค้าที่ต้องควบคุมราคาอย่างเหมาะสม ถ้ามองในวันที่หน้ากากอนามัยขาดแคลนในช่วงแรก กระทรวงพาณิชย์ก็ออกนโยบายมาเพื่อควบคุมราคา แต่ตอนนี้ รัฐยังไม่มีการประกาศมาตรการด้านราคาของชุดตรวจที่ชัดเจน ทั้ง ๆ ที่รัฐพยายามรณรงค์ให้คนที่ต้องไปทำงานหรือใช้ชีวิตประจำวัน

เคยมีข้อมูลการสำรวจต้นทุนชุดตรวจว่าหากเป็นผู้ผลิตจากจีนจะมีต้นทุนราคาตั้งแต่ 40– 300 บาท ส่วนที่นำเข้าจากเกาหลี จะมีราคาที่สูงกว่า(ราคานี้ยังไม่รวมกับค่าขนส่ง และค่าการตลาด) ที่จะทำให้ราคาชุดตรวจที่นำเข้าต่อชุดสูงขึ้นไปอีก ทางที่ดีรัฐจึงต้องประกาศควบคุมราคาชุดตรวจให้อยู่ที่ชุดละ 70 บาท น่าจะเป็นราคาที่เหมาะสมในเวลานี้

ห่วงของไร้คุณภาพโผล่ขายทำปั่นป่วน

ตอนนี้มีข้อมูลจาก อย. ระบุว่า มีผู้ผลิตชุดตรวจ ATK ในไทยเพียง 1 บริษัท ทำให้เราต้องนำเข้าจากต่างประเทศจำนวนมาก เพราะถ้าดูศักยภาพ หากเราส่งเสริมให้ผลิตชุดตรวจในไทยตอนนี้อาจไม่ทันกับสถานการณ์ เนื่องจากต้องใช้การลงทุนและระยะเวลาอีกพอสมควร จะต่างจากหน้ากากอนามัย ที่มีบริษัทผู้ผลิตในไทยอยู่แล้ว เลยทำให้ราคาขายในตลาดถูกลงได้ สำหรับช่องทางการตรวจอื่นที่เพิ่มเข้ามาแล้วทำให้ชุดตรวจ ATK มีราคาถูกลงค่อนข้างยาก เพราะถ้าการตรวจแบบ RT-PCR มีข้อจำกัดที่ราคาสูง ต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์ในการตรวจ รวมถึงใช้ระยะเวลาในการทราบผลเฉลี่ย 1-3 วัน ซึ่งถ้าเทียบกับการตรวจแบบ ATK ที่เร็ว ราคาต่ำกว่า และประชาชนตรวจได้ด้วยตัวเอง โดยตอนนี้เรายังมองไม่เห็นว่าจะมีเทคโนโลยีอื่น ที่จะมาตรวจหาโควิดแทน ATK ได้เหมาะสมและดีกว่า

หากมองเทียบกับนโยบายของสิงคโปร์ ถ้าไม่ต้องการโชว์ผลการตรวจ ATK เมื่อต้องการจะเข้าไปใช้บริการ จะต้องมีข้อมูลการฉีดวัคซีนครบตามที่กำหนด แต่สิ่งนี้สำหรับไทย ก็ต้องถามกลับไปยังรัฐว่า ถ้าไม่อยากให้ประชาชนแบกรับภาระจากชุดตรวจ จะต้องมีวัคซีนมาให้บริการกับประชาชนอย่างเพียงพอ แต่ถ้าดูสถิติผู้ที่รับวัคซีนก็ยังถือว่าน้อยอยู่ แม้ภาครัฐไทยจะประกาศว่า ฉีดให้กับประชากรได้แล้ว 50%  ซึ่งตัวเลขนี้เป็นสถิติของการตั้งเป้าหมาย

แม้ตอนนี้หน่วยงานรัฐมีนโยบาย ให้ประชาชนและผู้ประกอบการลงทะเบียนออนไลน์ เพื่อขอรับชุดตรวจ ATK แต่ก็ดูเหมือนว่า รัฐเองจะย่ำอยู่กับปัญหาเดิมเพราะหลายครั้งที่ผ่านมาก็ให้ประชาชนลงทะเบียนผ่านออนไลน์ แต่ก็ยังไม่ทั่วถึง เพราะหลายคนก็ยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี สุดท้ายก็เพิ่มภาระให้กับประชาชนในคนที่ลงทะเบียนไม่ได้ ก็ต้องนั่งรถไปที่หน่วยงาน หรือต้องลางานเพื่อมาลงทะเบียน หากมองในประเทศอื่น ๆ ไม่ต้องมีการลงทะเบียนออนไลน์ แต่จะจัดส่งชุดตรวจไปตามบ้าน สิ่งนี้ขึ้นอยู่กับว่าภาครัฐจะบริหารจัดการกับข้อมูลประชากรที่มีอย่างไรให้มีประสิทธิภาพและทั่วถึง

ที่น่าเป็นห่วงยิ่งขึ้นไปอีก เริ่มมีผู้ลักลอบขายชุดตรวจบนโลกออนไลน์ ซึ่งเสี่ยงอย่างมาก หากซื้อได้ชุดตรวจที่ไม่มีประสิทธิภาพผลตรวจไม่ตรงจริง ยิ่งจะกลับกลายเป็นปัญหาไม่จบสิ้น

7 ปัจจัย การใช้ชุดตรวจ ATK

  1. 1. การเลือกซื้อชุดตรวจ ATK ที่เหมาะสม ต้องผ่านการรับรองจาก อย. 2. การตรวจอาทิตย์ละครั้งอาจเสี่ยงที่จะตรวจไม่พบเชื้อในกรณีที่เชื้อยังไม่ฟักตัวเต็มที่ เพราะปกติเชื้อจะฟักตัวเต็มที่ใน 3–4 วัน ซึ่งเสี่ยงที่คนนั้นจะแพร่เชื้อต่อได้ 3. สิงคโปร์เคยตรวจ อาทิตย์ละ 1 ครั้ง แต่ไม่สามารถควบคุมได้ เลยต้องเปลี่ยนมาตรวจอาทิตย์ละ 2 ครั้ง เพื่อจะหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อได้ 4. ATK จะตรวจพบในคนที่มีเชื้อโควิดในปริมาณที่สูง ดังนั้นในช่วงวันแรก ๆ ที่ติดเชื้อ จะตรวจไม่พบ 5. การตรวจบ่อย ๆ ถ้าทำอย่างไม่ถูกวิธี เสี่ยงที่จะทำให้โพรงจมูกอักเสบ 6. ในมุมกลับกันหากเชื่อมั่นในผลตรวจมากเกินไป ซึ่งมีโอกาสที่ผลจะคลาดเคลื่อนได้ หากมีการปนเปื้อนของชุดตรวจ อาจทำให้คนนั้นเสียโอกาสในการใช้ชีวิต และ 7. การทิ้งขยะชุดตรวจ ควรใส่ในถุงซิปล็อก และซ้อนด้วยถุงพลาสติกอีก 2 ชั้น เพื่อลดการปนเปื้อน.