ทั้งนี้ รูปแบบต่าง ๆ ในการต้มตุ๋นคนไทยนั้นก็มีทั้งแบบใหม่ ๆ แบบเดิม ๆ และนอกจาก “ไทยตุ๋นไทย” ด้วยกันเองแล้ว…กรณี “ต่างชาติตุ๋นไทย” นี่ก็ดุขึ้นเรื่อย ๆ… อย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีกระแสอื้ออึงกรณี “หลอกให้รักแล้วตุ๋น” โดยหนุ่มต่างชาติรายหนึ่งตีสนิทหญิงไทยฐานะดี ทำทีว่าจีบแล้วก็หลอกให้ลงทุน ซึ่งพอได้เงินแล้วก็ชิ่ง…

“ถูกต้มตุ๋น” นับวัน “มีเหยื่อเพิ่มขึ้น”

โดยมี “มุมมองของการตกเป็นเหยื่อ”

เรื่องนี้ “มีมุมจิตวิเคราะห์” ที่ก็ “น่าคิด”

สำหรับมุมจิตวิทยาที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลในวันนี้…เป็นการวิเคราะห์การ “ตกเป็นเหยื่อตุ๋น” โดยมีการอธิบายไว้ผ่านบทความ “จิตวิทยาของการตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ (Victim of scams)” โดย ดร.สุภสิรี จันทวรินทร์ อาจารย์แขนงวิชาจิตวิทยาปริชาน ที่เผยแพร่อยู่ใน www.psy.chula.ac.th ของ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งโดยสังเขปนั้นมีการระบุไว้ว่า…ปัจจุบันมีข่าวต่อเนื่องเกี่ยวกับกรณีที่ประชาชนถูกหลอกลวง ถูกฉ้อโกงทรัพย์ ทางโทรศัพท์ และทางออนไลน์ เช่น หลอกให้โอนเงิน หลอกให้โอนเงินซื้อสินค้า หลอกให้ลงทุนทรัพย์สิน…นี่เป็นกรณีที่เกิดบ่อย ๆ

“กลยุทธ์ของมิจฉาชีพ” ที่มักจะใช้ในการ “หลอกลวงเหยื่อ” นั้น ส่วนใหญ่ก็มักหนีไม่พ้นการ“ให้สัญญากับเหยื่อ” ว่า…จะให้ทรัพย์สิน เงินทอง สินค้า หรือผลตอบแทนที่มากกว่า ซึ่ง “ภัยฉ้อโกงทรัพย์” ถือว่าเป็น อาชญากรรมที่เกิดขึ้นบ่อยสุดในยุคนี้!! และก็ “สร้างความเสียหาย” รวมถึง “สร้างบาดแผลทางจิตใจให้กับเหยื่อมาก ๆ ด้วย” อย่างไรก็ตาม…แต่สังคมก็มักจะมีการตั้งคำถามว่า… เหตุใดมีคนตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพกลุ่มนี้อยู่เรื่อย ๆ เหตุนี้จึงทำให้นักจิตวิทยาเกิดความสนใจที่จะ “ศึกษากระบวนการทางจิตวิทยาของเหยื่อ” เพื่อที่จะทำความเข้าใจ“ลักษณะส่วนบุคคล??” ที่จะ…

“ทำให้มีความเสี่ยงจะตกเป็นเหยื่อ??”

ทั้งนี้ ในแหล่งข้อมูลดังกล่าวมีการระบุไว้อีกว่า… “เทคนิคหลอกลวงทางจิตวิทยา” ที่มิจฉาชีพนำมาใช้นั้น มักจะไม่เลือกใช้กลยุทธ์ใดกลยุทธ์หนึ่ง แต่ มีการใช้กลยุทธ์ที่หลากหลายรูปแบบ โดยงานวิจัยทางจิตวิทยาพบการใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ ของมิจฉาชีพเพื่อหลอกลวงเหยื่อถึง มากกว่า 580 รูปแบบ ทั้งการหลอกลวงทางโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต แต่ “จิตวิทยาของการโน้มน้าวใจ” ที่มิจฉาชีพนิยมใช้จะ “มี 2 ประเภทหลัก ๆ” คือ… “การอ้างอำนาจ” และ “การกดดันโดยการจำกัดเวลา หรือจำนวนรางวัลตอบแทน” และก็มีเสริมด้วย “การสร้างความเชื่อใจ” ด้วยการทำให้เหยื่อคล้อยตามเห็นด้วย

“จากงานวิจัยหลาย ๆ ชิ้นที่ศึกษาเรื่องนี้ พบว่า…มิจฉาชีพมักเลือกใช้เทคนิคทางจิตวิทยาด้วยการโน้มน้าวทางอารมณ์มากกว่าที่จะโน้มน้าวด้วยเหตุผล เช่น จงใจจำกัดระยะเวลาการส่งข้อมูลหรือโอนเงิน จำกัดจำนวนสินค้าที่จำหน่าย หรือการจำกัดจำนวนผู้ร่วมลงทุน เพื่อให้เหยื่อต้องรีบส่งข้อมูลหรือโอนเงินให้เพื่อที่จะได้รับผลตอบแทนที่ล่อตาล่อใจ” …เป็นบางส่วนของ “เทคนิคทางจิตวิทยา” ที่มิจฉาชีพนิยมนำมาใช้เพื่อ “หลอกล่อเหยื่อ-ตุ๋นเหยื่อ”

แล้ว ลักษณะส่วนบุคคลเช่นไรที่เสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อ??… ประเด็นนี้ ดร.สุภสิรี จันทวรินทร์ ได้ระบุไว้ว่า… อันที่จริงทุกคนทุกเพศทุกวัยสามารถเป็นเป้าหมายการหลอกลวงฉ้อโกงได้ทั้งสิ้น แต่ผลสำรวจก็พบว่า… “เพศหญิง” มักจะตกเป็นเป้าหมายมากกว่าเพศชาย โดยเฉพาะการตกเป็น“เหยื่อฉ้อโกงทรัพย์สิน” ส่วน “ผู้สูงวัย” มักจะตกเป็น “เหยื่อถูกหลอกผ่านข้อมูลส่วนตัว” ขณะที่กลุ่ม “ผู้มีการศึกษาดี-รายได้ค่อนข้างสูง” มักตกเป็น “เหยื่อถูกหลอกร่วมลงทุน”

ส่วน “ลักษณะนิสัยเสี่ยง” ที่จะยิ่งเพิ่มแนวโน้มการตกเป็นเหยื่อนั้น จากงานวิจัยทางจิตวิทยาพบว่า… มี 3 ลักษณะที่สำคัญ ดังนี้… นิสัยและพฤติกรรมเสี่ยง (risk-taking) เช่น มีนิสัยกล้าลองทำสิ่งใหม่ ๆ หรือ “มีนิสัยชอบแบกรับความเสี่ยง” ซึ่งนิสัยเช่นนี้มีแนวโน้มตอบสนองต่อข้อเสนอมิจฉาชีพมากกว่าคนที่ไม่ชอบเสี่ยงถึง 2 เท่า เพราะผู้ที่มีนิสัยแบบนี้ มักจะไม่ค่อยใส่ใจประเมินระดับความเสี่ยงของข้อเสนอ แต่มุ่งความสนใจไปที่รางวัลผลตอบแทนที่จะได้รับจากการเสี่ยง

ถัดมา… เป็นเรื่อง ความสามารถในการควบคุมตนเอง (self-control) โดยคนที่มีแนวโน้มเป็นเหยื่อการฉ้อโกงทรัพย์ มักจะ “มีความสามารถของการกำกับควบคุมตนเองในระดับที่ต่ำ” เช่น มีนิสัยชอบซื้อของโดยไม่ยั้งคิด มีความบกพร่องในการควบคุมตนเอง ยิ่งถูกมิจฉาชีพใช้กลยุทธ์การจำกัดเวลาหรือจำกัดจำนวน ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการตกเป็นเหยื่อถูกหลอกได้ง่ายขึ้น เนื่องจากผู้ที่มีลักษณะส่วนบุคคลเช่นนี้นั้น… มักจะไม่สามารถยับยั้งการตัดสินใจชนิดหุนหันพลันแล่นได้!!

อีกลักษณะคือ… ความสามารถในการจัดการอารมณ์ (emotional competence) หมายถึงความฉลาดทางอารมณ์ หรือความสามารถในการรับรู้และควบคุมอารมณ์ของตนเอง โดยบุคคลที่ “มีทักษะการจัดการและควบคุมอารมณ์ตนเองในระดับที่ต่ำ” ก็มักมีความสามารถในการไตร่ตรองข้อมูลลดลง และ อาจตัดสินใจทางการเงินโดยใช้อารมณ์ชั่วขณะ เช่น กลัวพลาดโอกาสทำกำไร จึงมีแนวโน้มตอบรับข้อเสนอการล่อลวงทรัพย์สินมากกว่าบุคคลที่กำกับอารมณ์ตนเองได้ดี

เหล่านี้นี่เป็น…“อีกแง่มุมกรณีถูกต้มตุ๋น”

“มุมจิตวิเคราะห์” กับ “ผู้เสี่ยงเป็นเหยื่อ”

“รีบเช็กกันด่วน!!” เรา “เข้าข่ายมั้ย??”.