เอแคลร์จำได้ว่า ตั้งแต่เด็ก เวลาไปงานวันเกิดคนอื่นจะกินเค้กไม่ได้เลยค่ะ กินช็อกโกแลตก็ไม่ได้ ดื่มนมก็ไม่ได้ กินไข่ก็ไม่ได้ ถ้าลืมเช็ดเหงื่อจะมีผื่นแดง ๆ โผล่มาทั่วตัวเลยค่ะ ทำให้เอแคลร์รู้สึกทั้งเจ็บทั้งคัน…“ …นี่เป็นส่วนหนึ่งจากคำบอกเล่ากับ “ทีมวิถีชีวิต” ของ น้องเอแคลร์ หรือ ณภัทร ศักดิ์พรทรัพย์…ซึ่งจากผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพจนทำให้มีข้อจำกัดหลายอย่างในชีวิต วันนี้เธอคนนี้กลายเป็นอีกหนึ่ง “ผู้ที่ทำงานเพื่อการเสริมสร้างความเสมอภาคทางสุขภาพในประเทศไทย” และวันนี้เราจะมาดูเรื่องราววิถีชีวิตของเธอคนนี้กัน…

“ณภัทร ศักดิ์พรทรัพย์” หรือ “น้องเอแคลร์” ปัจจุบันอายุ 17 ปี กำลังศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียน ICS เธอเป็นลูกสาวคนโตในจำนวนลูก ๆ 3 คนของคุณพ่อ วิศาล ศักดิ์พรทรัพย์ นักธุรกิจ-นักลงทุน กับคุณแม่ ปิติพร พนาภัทร์ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Digital Platforms and Products Chief Digital Banking Office โดย เอแคลร์ เล่าให้ฟังว่า เธอเป็นเด็กที่เกิดก่อนกำหนด และประสบปัญหาทางสุขภาพมากมาย เป็นภูมิแพ้ทางผิวหนัง แพ้อาหารต่าง ๆ แพ้แม้กระทั่งเหงื่อของตัวเอง อีกทั้งยังเป็นโรคสันหลังคด (mildscoliosis) ซึ่งปัญหาทางสุขภาพพวกนี้ทำให้ชีวิตเธอต้องมีข้อจำกัดหลายอย่าง

พอเอแคลร์เริ่มโตขึ้น และได้มีโอกาสไปเยี่ยมชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศไทยกับชมรมที่โรงเรียน ไปแจกถุงเท้าให้กับเด็ก ๆ มีเด็กชายคนหนึ่งเดินเข้ามาขอบคุณ และบอกว่าอยากจะใช้ เพราะมีถุงเท้าอยู่คู่เดียวก็ยับเยินมาก ๆ เอแคลร์คิดว่าน้องคงไม่สามารถซื้อถุงเท้าสำหรับหลายวัน แล้วถ้าไม่สบายล่ะจะเข้าถึงการรักษากับแพทย์ได้อย่างไร รู้สึกว่าจริง ๆ แล้วตัวเองโชคดีมากเพราะสามารถเข้าถึงการรักษาของแพทย์มาตลอด ขณะที่หลาย ๆ คนในประเทศไทยไม่สามารถเข้าถึงการรักษา เลยเป็นแรงบันดาลใจที่จะทำโครงการเอาชนะภูมิแพ้เอแคลร์ กล่าว

พร้อมทั้งเล่าให้ฟังต่อไปว่า ตอนแรกก็คิดว่า…แล้วควรจะช่วยคนอื่นอย่างไร? ซึ่งปกติที่โรงเรียนก็จะมีคนระดมทุนและบริจาคอุปกรณ์อะไรพวกนี้ แต่ส่วนตัวพอสรุปแล้ว คิด ๆ แล้วก็อยากช่วยคนอื่นกันก่อนแก้เกี่ยวกับภูมิแพ้ เนื่องจาก ครีมบำรุงผิว ที่ดี ๆ มีราคาแพง ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งตัวเธอเองเป็นผู้มีประสบการณ์จากโรคภูมิแพ้ เวลาที่เป็นภูมิแพ้นอกจากยากินแล้ว ก็ยังต้องการครีมบำรุงผิวด้วย ผิวต้องชุ่มชื้นเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง นี่จึงเป็นที่มาของแรงบันดาลใจที่จะ ผลิตครีมบำรุงผิวขึ้นมาเอง และมอบให้ชุมชนต่าง ๆ เพื่อที่จะลดความไม่เสมอภาค ในประเทศไทย

เอแคลร์ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหานี้ และได้พบคำว่า health equity หรือความเสมอภาคทางด้านสุขภาพ ซึ่ง WHO หรือ World Health Organization ก็ระบุว่า สุขภาพเป็นสิทธิมนุษยชน หรือ human right เพราะทุก ๆ คนบนโลกใบนี้ควรที่จะได้เข้าถึงการรักษาของแพทย์ จึงเป็นที่มาของแรงบันดาลใจให้เอแคลร์ทำงานเพื่อการเสริมสร้างความเสมอภาคทางสุขภาพในประเทศไทย

ครีม Claire’s Choice ที่ผลิตบริจาค

ทั้งนี้ คนมักถามเธอว่าเอาทุนทรัพย์จากไหนมาผลิตครีม? เอแคลร์ อธิบายให้ฟังว่า มาจากการระดมทุนที่ เทใจดอทคอม เพราะเคยฝึกงานที่นี่ ซึ่งเวลาพูดถึงการช่วยเหลือสังคม หลาย ๆ คนมักนึกถึงองค์กรไม่แสวงกำไรหรือกิจการเพื่อสังคมที่ทำโครงการต่าง ๆ สำหรับชุมชนทั่วประเทศไทย ซึ่ง เทใจ เป็นแหล่งที่รวมโครงการพวกนี้ เป็นพื้นที่สำหรับคนที่อยากเปลี่ยนแปลงสังคมและเป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้โครงการพวกนี้เป็นจริงได้… ครีมที่ผลิต จำนวน 1,500 หลอด คุณพ่อช่วยสนับสนุนทุน 500 หลอด และได้จากการระดมทุนจากเทใจดอทคอม 1,000 หลอด …เอแคลร์ กล่าว พร้อมเล่าว่า…

ช่วงฝึกงานที่เทใจ เอแคลร์ได้ช่วยสร้างคอนเทนต์บนโซเชียลมีเดียสำหรับโครงการต่าง ๆ หนึ่งในโครงการที่รู้สึกประทับใจที่สุดคือ โครงการปลากด ซึ่งมุ่งพัฒนาอุปกรณ์กายภาพบำบัดเพื่อเด็กที่มีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรง เด็กพวกนี้กายภาพ บำบัดเป็นสิ่งที่เจ็บปวดและไม่สนุก โครงการปลากดจึงตั้งใจจะเชื่อมอุปกรณ์กายภาพบำบัดกับเกมที่เด็กชอบ อย่างเช่น Mario ซึ่งเอแคลร์รู้สึกว่าโครงการนี้เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการเสริมสร้าง health equity“

นำครีมไปมอบให้น้อง ๆ “กันก่อนแก้”

นอกจากนี้ เธอยังได้ฝึกงานที่บริษัท “Meticuly” ซึ่งผลิตกระดูกเทียมไทเทเนียม โดยใช้เทคโนโลยีพิมพ์ 3 มิติ ในราคาย่อมเยาสำหรับคนไทย ซึ่ง เอแคลร์ บอกว่า ก็ถือเป็นการเสริมสร้าง health equity อีกด้านหนึ่งได้ และรู้สึกสนใจในการประยุกต์เทคโนโลยี AI ของ Meticuly ซึ่งทำให้กระบวน การผลิตเร็วถึง 1-7 วัน อีกทั้งเธอยังเป็นคิวเรเตอร์สำหรับ “TEDx บางขุนเทียน” เพราะประทับใจในอีเวนต์มาตลอด และรู้สึกว่าเป็นวิธีที่สร้างแรงบันดาลใจและปลูกข้อคิดในคนรุ่นใหม่ ผ่านการเป็นคิวเรเตอร์ โดยเอแคลร์ได้ทำงานกับหลาย ๆ คนผู้ซึ่งมีประสบการณ์หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของโครงการบนเทใจ หรือ activist สำหรับสภาพแวดล้อม และเจ้าหน้าที่ต่างก็ให้ความรู้และได้สร้างแรงบันดาลใจให้เอแคลร์เช่นกัน

เมื่อผ่านประสบการณ์พวกนี้ เอแคลร์ได้รับแรงบันดาลใจที่จะสร้างโครงการของตัวเอง ที่ช่วยรับมือปัญหาที่ตัวเองคุ้นเคยอย่างยิ่ง หรือภูมิแพ้นั่นเอง ซึ่งในปี 2016 กระทรวงสาธารณสุขคาดว่าประมาณ 18% ของเด็กไทยมีภูมิแพ้ เอแคลร์จึงตัดสินใจผลิตครีมบำรุง Claire‘s Choice เป็นวิธีที่ป้องกันภูมิแพ้ตั้งแต่แรก หรือเป็น preventative measure นั่นเอง ซึ่งเอแคลร์ได้บริจาคครีมบำรุงผิวไปให้ชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย เช่น โรงเรียนบ้านคลองประสงค์ จ.กระบี่คริสตจักรที่สมุทรปราการและราชบุรี หรือโรงพยาบาลศิริราช นอกจากนี้ คิดว่าการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต้องเริ่มต้นด้วยการให้ความรู้ จึงจัดกิจกรรมสอนเด็ก ๆ ที่คริสตจักรเกี่ยวกับสุขภาพโดยรวมและภูมิแพ้

กับคุณพ่อ น้องชาย คุณแม่ และน้องสาว

เอแคลร์ ยังบอกด้วยว่า ’จริง ๆ เป็นคนกลัวการเริ่มค่ะ เพราะมันเป็นจุดที่ยากที่สุด แต่พอมีทิศทางแล้วต่อไปมันก็ลื่นเลยค่ะ อย่างตอนทำครีมก็ประสบกับปัญหาหลายด้าน แต่พอมีทิศทางแล้ว ต่อให้มีปัญหาอะไรมาก็หาทางออกได้ เจอปัญหา หยุด แล้วก็วางแผน ที่ผ่านมาคุณพ่อคุณแม่ก็คอยเป็นกำลังใจ และให้คำแนะนำตลอด“

ถามว่า… เส้นทางในอนาคตจะช่วยคนตลอดไป? หรือคิดว่าสิ่งที่ทำอยู่จะช่วยในเรื่องคอนเน็กชันหรือโอกาสอย่างอื่นอีก? ทาง น้องเอแคลร์ หรือ ณภัทร ศักดิ์พรทรัพย์ เธอบอกว่า ตอนนี้เพิ่งเรียนอยู่ ม.6 หลังจากโฟกัสโครงการการเอาชนะภูมิแพ้ เธอก็ยังต้องเรียนหนังสือ… สิ่งที่สนใจคือ วิทยาศาสตร์ และธุรกิจ ก็อยากเรียนทั้ง 2 สาขานี้ เพราะสามารถใช้ความรู้มาคิดทำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในอนาคต ซึ่งเป็นความสนใจของเอแคลร์ตั้งแต่แรก

เพื่อที่จะช่วยสังคมได้“.

คุณแม่ปิติพร น้องเอแคลร์ คุณพ่อวิศาล

มุมคิด ‘พ่อแม่ของลูกยุคใหม่’

สำหรับ คุณแม่ปิติพร คุณแม่ของ เอแคลร์ บอกว่า การเป็น พ่อแม่ของลูกยุคใหม่ นั้น คิดว่าคงต้องฟังให้
เยอะ ๆ อาจจะ สร้างสมดุลระหว่างชี้นำชี้แนะกับส่งเสริมสนับสนุน เพราะว่าเด็กยุคใหม่เขาสามารถหาข้อมูล มีการเข้าถึง และมีบางอย่างที่เขาจะรู้เยอะกว่าเราด้วยซ้ำ เช่น เทคโนโลยี และอื่น ๆ… ในฐานะที่เป็นแม่ก็อยากจะมองและค่อย ๆ เดินไปด้วยกันกับลูก คอยประคอง ไม่ให้เขานอกลู่นอกทาง แต่จะฟังเขาด้วยว่าจริตหรือสิ่งที่เขาอยากทำคืออะไร ก็จะส่งเสริมให้ไปในทางที่ดี แทนที่จะมองแล้วปรับแต่จุดด้อย ก็จะมองจุดแข็งและเสริมจุดแข็งเขาไปด้วยแต่ชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบบางอย่างก็เลือกที่จะไม่ทำให้ลูก เราต้องการฝึก ไม่งั้นมันจะง่ายไปสำหรับเขา ซึ่งชีวิตจริงมันไม่ง่ายไปตลอดชีวิต เราต้องให้เขาเรียนรู้ด้วยตัวเองด้วย

ส่วน คุณพ่อวิศาล คุณพ่อของ เอแคลร์ ก็เสริมว่า จะให้แนวคิดกับลูก เรื่องแรกคือ ลำดับความสำคัญ เพราะพอยิ่งโตขึ้นมันก็จะมีหลาย ๆ อย่างเข้ามา เช่น การเรียน กิจกรรม และสิ่งที่สนใจ จะให้เวลาให้น้ำหนักกับทุกอย่างพร้อม ๆ กันไม่ได้…  ’ต้องให้เขาลำดับความสำคัญให้ถูกต้อง แล้วชีวิตจึงจะไปได้ดี… อีกเรื่องคือ บริหารความคาดหวัง จะบอกลูกเสมอว่า ทำให้ดีที่สุด แต่ถ้าเกิดล้ม ก็อย่าไปคิดมาก ก็อย่าไปเสียใจ ให้พยายามต่อไป… เด็กแต่ละคนมีความเก่งและจุดเด่นไม่เหมือนกัน ยุคนี้อยากให้เขาโตขึ้นโดยมีความมั่นใจในความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ใช่อยู่ในกรอบที่ผู้ใหญ่สร้าง เราต้องเปลี่ยนบทบาทจากพ่อแม่ยุคก่อนที่เป็นผู้ชี้นำทาง มาเป็นผู้ร่วมทาง“.

เชาวลี ชุมขำ : รายงาน / จุมพล นพทิพย์ : ภาพ