ปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ที่สังคมโลกกำลังพูดถึงกันมากในปีนี้ เกิดจากอุณหภูมิบนดิน-ในน้ำสูงขึ้น กระแสลมมีกำลังอ่อนและเปลี่ยนทิศทาง พัดจากทางด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกไปทางด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลไปยังทวีปอเมริกาเหนือ-อเมริกาใต้ ด้วยเหตุนี้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลีย รวมทั้งประเทศไทยจึงมีฝนตกน้อยกว่าปกติ และเกิดความแห้งแล้ง แต่ชายฝั่งของทวีปอเมริกาเหนือ-ใต้ กลับมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น
วันนี้ทีมข่าว Special Report สนทนากับ ดร.ปกรณ์ เพ็ชรประยูร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมภูมิสารสนเทศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ “จิสด้า” และโฆษกจิสด้า เกี่ยวกับเอลนีโญ และภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย
อุณหภูมิพื้นดินสูงขึ้น “โลกเดือด”
ดร.ปกรณ์กล่าวว่าจิสด้าใช้ดาวเทียมในการสำรวจทรัพยากร และดาวเทียมสำรวจทั่วโลก จึงเห็นอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้นใกล้จะถึง 1.5 องศาฯ (นับจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ประมาณปีค.ศ.1850-2023) บางพื้นที่รุนแรงขึ้นไป 2 องศาฯ แต่บางพื้นที่ไม่รุนแรง
โดยเฉพาะช่วงหน้าร้อนปีนี้ (เม.ย.-ก.ค.) อุณหภูมิพื้นดินสูงขึ้นถึง 1.6-1.7 องศาฯ นี่แหละจึงเรียกกันว่า “โลกเดือด” แต่อุณหภูมิพื้นน้ำสูงขึ้นประมาณ 1.2 องศาฯ ดังนั้นเฉลี่ยทั้งโลกยังไม่ถึง 1.5 องศาฯ แต่กลัวว่าจะต้านที่ตัวเลข 1.5 องศาฯ ไว้ไม่อยู่ในช่วง 1-2 ปีนี้ จากหลายๆปัจจัย เนื่องจากกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) กำหนดไว้ไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกปรับขึ้นสูงเกิน 1.5 องศาฯ นับตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เพราะถ้าอุณภูมิเพิ่มมากไป สูงขึ้นอีกแค่ 0.5 ก็จะเกิดความเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมายในโลก
สำหรับประเทศไทยปีนี้มีอุณหภูมิสูงขึ้นในหน้าร้อน แต่เป็นช่วงระยะสั้นๆ ยังไม่น่ากลัวมาก เพราะเราอยู่ในเขตร้อนชื้น อุณหภูมิจึงไม่ผันแปรมาก แต่ประมาทไม่ได้เหมือนกัน เพราะถ้าปีหน้าร้อนขึ้นอีก อันนี้น่ากลัวแน่
ส่วนภาวะ “เอลนีโญ” เพราะอุณหภูมิผิวน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับกระแสลมพัดไปทางทวีปอเมริกา ทางนั้นจึงมีความชื้น และมีฝนตกมากขึ้น ส่งผลให้มหาสมุทรแปซิฟิกอีกด้านหนึ่ง คือทางฝั่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ มีความชื้นน้อย ร้อนขึ้นทั้งบนดินและในน้ำ แดดแรงขึ้น การก่อตัวของเมฆน้อยลง ส่งผลให้ระบบนิเวศมีปัญหา เช่น ปะการังเกิดปฏิกิริยาฟอกขาว
ขณะเดียวกันอุณหภูมิบนผิวน้ำทะเลได้สะสมพลังงานจากแสงอาทิตย์เยอะ จึงต้องปลดปล่อยพลังงานออกมา คือระเหยออกมาเป็นไอน้ำเยอะๆ จะกลายเป็นพายุใต้ฝุ่น โดยผิวน้ำทะเลบริเวณไหนมีอุณหภูมิสูงตั้งแต่ 27 องศาฯ มีโอกาสเกิดพายุไต้ฝุ่นได้ง่าย ทางอเมริกาจึงหวั่นเกรงว่าปีนี้อาจเกิดพายุเฮอริเคนรุนแรงมาก
แล้งแน่!อาจลากยาวถึงปี68
ดร.ปกรณ์กล่าวต่อไปว่าสำหรับประเทศไทย “เอลนีโญ” เข้ามาตั้งแต่กลางปี 66 ดังนั้นปีนี้จึงแล้งอย่างแน่นอน เพราะฝนตกน้อย ฝนตกมากในกรุงเทพฯ แต่ไม่ตกในพื้นที่ภาคกลาง ไม่ตกบริเวณเหนือเขื่อน ทำให้น้ำในเขื่อนมีน้อย ปลายปีนี้จึงแล้งแน่ ต่อเนื่องไปถึงต้นปีหน้า
โดยปีนี้ผลกระทบจากภัยแล้งจะน้อยกว่าปีหน้า เพราะยังมีอิทธิพลจากความชื้นจากดินและน้ำในเขื่อนที่กักเก็บไว้เมื่อปี 65 จากภาวะ “ลานีญา” ทำให้ฝนตกมากในปี 65 น้ำในเขื่อนจึงมีมาก
แต่ปีนี้แล้งเพราะฝนตกน้อย ไม่มีน้ำ ส่วนปีหน้าจะแล้งมากขึ้นเพราะไม่มีต้นทุนความชื้นเหลืออยู่แล้ว และยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าเอลนีโญจะหมดไปเมื่อไหร่ แต่ถ้าอยู่ถึงปลายปี 67 จะทำให้ต้นปี 68 เจอภัยแล้งหนักอีก
เมื่อเอลนีโญสลายไปแล้ว ต้องรอดูว่าจะมีสภาวะเป็น “กลาง” ในช่วงเวลาหนึ่ง หรือเข้าสู่ “ลานีญา” เลย! โดยลานีญาจะทำให้มีฝนตกชุกในปริมาณมาก ซึ่งเป็นภาวะที่ตรงข้ามกับเอลนีโญ
เตรียมพร้อม-ตื่นตัวสูง!ความรุนแรงจะไม่มาก
ดังนั้นจึงต้องวางแผนในการกักเก็บน้ำให้ดี ต้องวางแผนในการจัดสรรน้ำในทุกกิจกรรม โดยเฉพาะการเพาะปลูกพืช การทำนาปรัง ต้องเตรียมตัวรับมือ แต่เท่าที่เห็นบรรยากาศในตอนนี้ต้องยอมรับว่าหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมตัวรับมือกันอย่างเต็มที่ มีความตื่นตัวสูง และมองไปข้างหน้า 2-3 ปี ถ้าเราตื่นตัวและเตรียมการกันขนาดนี้ ปัญหาความรุนแรงจะไม่มาก
“จิสด้าไปสำรวจพื้นที่ในจ.ชัยนาท-อุทัยธานี เห็นสัญญาณจากการวัดความชื้นในดิน ปรากฏว่าดินแห้ง นี่คือตัวบ่งชี้ว่าจะเกิดภัยแล้ง แต่หวังว่าเดือนก.ย.-ต.ค.นี้ จะมีพายุไต้ฝุ่นพัดเข้ามาในประเทศไทยบ้าง อย่างถูกที่ถูกทางบ้าง คือเข้ามาบริเวณเหนือเขื่อน เพื่อมีน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง”
ไม่ใช่ว่ามีเอลนีโญแล้วจะไม่เกิดพายุใต้ฝุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิก แต่พายุใต้ฝุ่นยังก่อตัวตามปกติ หลังจากนั้นจะหมุนไปหาแหล่งความชื้น ถ้าเกาะไต้หวันมีความชื้นมากกว่าเวียดนาม-ไทย พายุไต้ฝุ่นจะเบี่ยงขึ้นไปทางเกาะไต้หวัน ไม่มาเวียดนาม-ไทย นี่คือปรากฎการณ์ตามธรรมชาติที่ทำให้เกิดภัยแล้งหรือน้ำท่วม และเขื่อนจะมีน้ำก็ต้องมีพายุไต้ฝุ่นเข้ามา
“สำหรับจิสด้าเรามีทั้งแอพพลิเคชั่นเช็คแล้ง-เช็คน้ำ-เช็คฝุ่น นอกจากจะส่องดูเรื่องน้ำ ยังส่องดูพื้นที่การเกษตรด้วย โดยมีการประชุมประสานงาน แลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานอื่นอยู่ตลอดเวลา เช่น กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) โดยจะดูว่าพื้นที่ไหนเก็บเกี่ยวข้าวหรือยัง รออีก 1 สัปดาห์ได้หรือไม่ ให้ชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวก่อนจึงปล่อยน้ำเข้าทุ่ง เพราะนาข้าวมีพื้นที่กว้างใหญ่ เป็นทุ่งรองรับน้ำ รับน้ำได้ปริมาณเท่าไหร่ ปล่อยน้ำเข้าไปตรงไหนแล้วเสียหายน้อยที่สุด เราทำงานบูรณาการกัน จิสด้าดูพื้นที่น้ำและพื้นที่ทางการเกษตร ส่วนกรมชลประทานและสทนช. คอยบริหารจัดการน้ำและปล่อยน้ำ ถ้าอยู่ในสถานการณ์ตรึงเครียดจะประชุมกันทุกวัน” โฆษกจิสด้ากล่าว