หนึ่งในสัตว์เลี้ยงที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน มีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณีและวิถีชีวิตของคนในสังคม โดยที่โดดเด่นคงต้องกล่าวถึง แมว หรือ วิฬาร์…

“แมว”เพื่อนคู่ใจของคนเลี้ยงคนรักแมว หากย้อนไปที่ประวัติความเป็นมา แมวมีเรื่องน่ารู้หลายมิติ โดยเฉพาะกับวิถีปัจจุบัน ทั้งนี้นำเรื่องแมว วิฬาร์ วิลาส : การเดินทางของแมวในวิถีไทย ชวนมองรอบด้าน ชวนรู้จักแมวมงคลของไทยที่บันทึกในสมุดไทย ตำราดูแมว โดย ดร.ประสิทธิชัย เลิศรัตนเคหกาล ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนาห้องสมุด สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร พาย้อนการเดินทาง เล่าเรื่องน่ารู้ที่นำมาจัดแสดงว่า ด้วยที่แมวเป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงที่มีการเลี้ยงมายาวนาน ทั้งมีหลากหลายมิติทั้งในด้านวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ เกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตผู้คนในปัจจุบัน และไม่เพียงเฉพาะประเทศไทย อีกหลายประเทศมีเรื่องราวของแมวปรากฏเช่นกัน

กลุ่มวิจัยฯ โดยสำนักหอสมุดแห่งชาติจึงรวบรวมนำความรู้ เกี่ยวกับแมวรอบด้านเผยแพร่ นอกจากประวัติความเป็นมาของวิฬาร์หรือแมวในยุคสมัยต่าง ๆ นำเรื่องราวแมวมงคลไทยวันสำคัญที่เกี่ยวกับแมวทั่วโลก นำความน่ารักที่เป็นเอกลักษณ์ของแมว ฯลฯ บอกเล่าผ่านนิทรรศการวิฬาร์ วิลาส : การเดินทางของแมวในวิถีไทย ซึ่งแสดงต่อเนื่องถึงเดือนพฤศจิกายน ณ ห้องวชิรญาณ หอสมุดแห่งชาติ

“หอสมุดแห่งชาติเรามีทรัพยากรสารสนเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเอกสารโบราณ หนังสือหายาก แผ่นเสียง มีตำราที่เกี่ยวกับแมว การดูลักษณะแมวฯลฯ ซึ่งจัดเก็บอนุรักษ์และพร้อมเผยแพร่ ครั้งนี้รวบรวมนำมาจัดแสดง โดยการเดินทางของแมวฯ มีเนื้อหาทั้งในอดีต และปัจจุบัน อีกทั้งออกแบบเกม นำตำราแมวจากเล่มจริงเผยแพร่ในระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งมีคิวอาร์โค้ด รวมถึงขยายภาพวาดแมวจาก
ตำราในสมุดไทยออกมาให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น ฯลฯ ให้คนรักแมวและผู้ที่สนใจสืบค้นเข้าถึงข้อมูล เรียนรู้ในเรื่องราวของแมวทุกมิติไปด้วยกัน”

เอกสารโบราณ ตำราดูลักษณะแมวเป็นหนึ่งในไฮไลต์ โดย วัฒนา พึ่งชื่น นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากรร่วมให้ความรู้เล่าถึงเอกสารโบราณตำราดูลักษณะแมวในส่วนนี้ว่า เอกสารโบราณ ประเภทหนังสือสมุดไทยที่นำมาจัดแสดง มีสามเลขที่ โดยเป็นหมวดใหญ่ในเรื่องตำราและหมวดย่อยในเรื่องสัตวศาสตร์  โดยภาพรวมจากที่ศึกษาหลายฉบับที่กล่าวถึงแมวไทยและตำราแมวโบราณ จะพูดตรงกัน โดยแมวที่เป็นมงคล มี 17 ชนิด และแมวที่เป็นโทษ เลี้ยงไว้ไม่เกิดประโยชน์มี 6 ชนิด

“แมวที่เป็นมงคล 17 ชนิดในที่นี้อาจมีลักลั่นกันบ้าง แต่จะอยู่ประมาณนี้ โดย แมวมงคลในตำราแมวโบราณ ได้แก่ วิลาศ นิลรัตน์ ศุภลักษณ์ หรือ ทองแดง แมวเก้าแต้ม  มาเลศ แซมเศวต  รัตนกัมพล  วิเชียรมาศ นิลจักร  มุลิลา กรอบแว่น หรืออานม้า ปัดเสวตร หรือปัดตลอด กระจอก สิงหเสพย์ การเวก  จตุบท  และโกนจา

แต่อย่างไรก็ตามหากจะขมวดสรุป การเลี้ยงแมวของคนโบราณ แมวเป็นสัตว์มงคลให้ลาภ ยศเสริมความสุข ส่วนปัจจุบันจุดประสงค์การเลี้ยงอาจเปลี่ยนไปจากอดีต ไม่ได้มองเฉพาะความมงคล  และด้วยที่สภาพสังคมเปลี่ยนไป เป็นครอบครัวเล็ก สัตว์เลี้ยงต่าง ๆ ที่นำมาเลี้ยงไว้จึงเป็นดั่งเพื่อนคู่ใจ เป็นมิตรภาพระหว่างกัน เป็นความสุขคลายความเหงาจุดประสงค์การเลี้ยงจึงต่างไปจากอดีต”

นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ วัฒนาอธิบายเพิ่มอีกว่า แมวไทยเป็นสัตว์ที่มีเอกลักษณ์เด่น มีความสวยงาม สง่างาม มีบุคลิกที่น่าสนใจ ทั้งความรักเจ้าของ มีความน่ารักซื่อสัตย์ ขี้อ้อน ฯลฯ ซึ่งก็เช่นเดียวกับสุนัข อีกหนึ่งเพื่อนรักสัตว์เลี้ยงในลำดับต้น ๆ ที่ต้องกล่าวถึง

วัฒนา พึ่งชื่นและ ดร.ประสิทธิชัย เลิศรัตนเคหกาล

จากลักษณะนิสัย บุคลิกที่โดดเด่นของแมวจึงทำให้ผู้เป็นทาสแมวหลงใหล และด้วยที่แมวมีประวัติกล่าวถึงมายาวนานจึงมีตำราเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะแมวไทย  มีตำราแมว ฉบับต่าง ๆ  อย่างในนิทรรศการอธิบายลักษณะบอกไว้ ทั้งมีภาพวาดขยายจากภาพในสมุดไทย อย่างเช่น แมวศุภลักษณ์ หรือทองแดง มีสีน้ำตาลเข้มเหมือนสีทองแดงเสมอกันทั้งตัว ตามีสีเหลืองเป็นประกาย เลี้ยงไว้แล้วจะแคล้วคลาดจากภยันตราย แมวมาเลศ หรือดอกเลา มีขนเรียบสีดอกเลา โคนขนจะมีสีขุ่น ๆ เทา ขณะที่ส่วนปลายมีสีเงิน ตาเป็นประกายคล้ายหยดน้ำค้างบนใบบัว

ขณะที่ แซมเศวต มีขนสีดำแซมขาว ขนบางและสั้น รูปร่างเพรียว มีนัยน์ตาดั่งหิ่งห้อย แมวนิลจักร มีลำตัวดำสนิทเหมือนปีกกา คอมีขนสีขาวอยู่รอบเหมือนกับปลอกคอ จตุบท มีลำตัวสีดำ เท้าทั้งสี่ข้างมีสีขาว ตาสีเหลืองเหมือนดอกโสน แมวโกญจา มีสีดำละเอียด นัยน์ตาสีดอกบวบแรกแย้ม ปากและหางเรียว ท่าทางการเดินสง่างามเหมือนสิงโต ฯลฯ บอกลักษณะโดดเด่น  

ในส่วนที่ไม่เป็นมงคล ต้องห้ามของคนโบราณ 6 ชนิด อย่างเช่น หีณโทษ ประกอบเพลิง ถ้านำมาเลี้ยงก็จะเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นโทษ ฯลฯ หรืออย่างแมวที่เมื่อคลอดลูกแล้วกินลูกตัวเอง หรือแมวที่ลูกตายตั้งแต่อยู่ในท้อง คนโบราณจะห้ามเลี้ยง แต่จากที่กล่าวจุดประสงค์การเลี้ยงในปัจจุบันเปลี่ยนไป การเลี้ยงแมวเป็นความสุข เป็นเพื่อนคู่ใจ เป็นมิตรภาพระหว่างกัน

ครอบครัวไทยในอดีตเป็นครอบครัวใหญ่อยู่ร่วมกัน การเลี้ยงแมว มีแมวเพื่อเสริมความเป็นมงคล เป็นสัตว์นำโชค การย้อนกลับไปศึกษาเอกสารโบราณ ตำราแมวโบราณทำให้เห็นแง่มุมเหล่านี้ โดยแมวมีความผูกพันกับมนุษย์มายาวนาน เอกสารโบราณได้รวบรวมองค์ความรู้ต่าง ๆ เป็นขั้นตอนเป็นระเบียบอย่างชัดเจนโดยที่นำมาจัดแสดงในส่วนนี้เป็นสายมงคล คัดแยกลักษณะดี สง่างาม น่ารัก มีเอกลักษณ์โดดเด่นให้เห็น  

“เอกสารโบราณที่นำมาจัดแสดง นำมาเพียง 3 ฉบับในสมัยรัตนโกสินทร์ แต่อย่างไรแล้วจากที่ได้กล่าว แมวมีการเลี้ยงมายาวนาน ในด้านการบันทึกเรื่องราวแง่มุมต่าง ๆ เชื่อว่ามีเก่าแก่กว่านี้ แต่ด้วยที่เป็นเอกสารโบราณ ประเภทหนังสือสมุดไทยอาจย่อมสลายไปตามธรรมชาติ แต่ที่สืบค้นเป็นรูปธรรมที่ทำเป็นตำราจะเป็นสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นต่อเนื่องกับรัตนโกสินทร์ตอนกลาง ประมวลบอกเล่า ลักษณะ ผิวพรรณ สีขน บอกถึงคุณลักษณะเด่น ๆ บอกความเป็นมงคล อีกทั้งแม้แมวดีที่เสียชีวิตไปแล้ว กระดูกที่เหลือก็จะมีการเก็บไว้ เป็นคุณสมบัติดี เป็นมงคล โดยเอกสารโบราณกล่าวไว้ชัดเจน  เป็นต้น”

จากที่กล่าวแม้จุดประสงค์การเลี้ยงจะเปลี่ยนไป แมวยังคงเป็นสัตว์เลี้ยงที่คงครองใจ เป็นเพื่อนคู่ใจ การเลี้ยงแมวหรือเลี้ยงสัตว์ใด ๆ ถือเป็นบุญที่ให้เขาได้อยู่ ได้กิน ได้มีความปลอดภัย โดยนักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ วัฒนาอธิบายเพิ่มอีกว่า  เอกสารโบราณ ตำราแมวนอกจาก 3 ฉบับดังกล่าว ในสมัยอยุธยา สุโขทัยก็น่าจะมี

 โดยที่น่าสนใจที่ สิ่งที่บันทึกไว้ในตำราหนังสือสมุดไทยจะเขียนรูปประกอบ แสดงลักษณะให้เห็นชัดเจนขึ้น โดยหนังสือสมุดไทยเหมาะกับการวาดภาพให้เห็นลักษณะที่แท้จริง คู่ไปกับการเขียนอธิบายด้วยตัวอักษร โดยถ้าย้อนกลับไปศึกษาจะศึกษาได้ทั้งในด้านภาษา ศิลปะวิทยาการ การใช้สีธรรมชาติ การนำหรดานนำมาฝนวาดแต้มลงในรูปภาพ ฯลฯ

แต่แม้หนังสือสมุดไทยจะเหมาะกับการบันทึก แต่ก็มีข้อจำกัด โดยหนังสือสมุดไทยจะมีอายุสั้นที่สุดในบรรดาเอกสารโบราณทั้ง 3 ประเภท โดยจารึก จะมีอายุยาวนานด้วยที่เป็นหิน เป็นโลหะ ขณะที่คัมภีร์ใบลานมีอายุอยู่รองลงมา แต่ก็มากกว่าหนังสือสมุดไทย โดยหนังสือสมุดไทย หากโดนความชื้นก็จะเกิดราขึ้นได้ง่าย หรือถ้าเปียกน้ำ แช่อยู่ในน้ำก็จะเปื่อยยุ่ย สลายไป ฯลฯ  ทั้งนี้ในส่วนที่ปรากฏอยู่นั้นมีความสำคัญ  โดยถ้าได้อ่านจะเห็นถึงความน่าทึ่ง โดยเฉพาะแมวไทยที่เป็นมงคลมีอยู่หลายชนิด บอกเล่าถึงความนิยมเลี้ยงแมวในวิถีไทยครั้งอดีต

“สมุดไทยหนึ่งเล่ม บางครั้งมีหลายเนื้อหาอยู่ในเล่มเดียวกัน คนโบราณเวลาที่บันทึกองค์ความรู้ จะบันทึกไว้หลากหลายในสมุดไทย โดยเมื่อผลิตหนังสือสมุดไทยขึ้นมาแล้วหลังจากบันทึกเรื่องหลักที่ต้องการแล้ว หน้าว่างที่เหลือไว้ หากปล่อยเปล่า จะไม่เกิดประโยชน์ เรื่องที่มีความสำคัญอื่น ๆ ก็จะนำมาบันทึกไว้ โดยบางทีก็มีตำราแมวอยู่ ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าน่าจะมีเรื่องที่เกี่ยวกับแมวอยู่อีกไม่น้อย ซึ่งต้องศึกษากันต่อไป”  เป็นอีกส่วนหนึ่งที่พาย้อนกลับไปศึกษาเรื่องแมวผ่านเอกสารโบราณสมุดไทย

บอกเล่าการเดินทางของแมว เรื่องน่ารู้จากอดีตจวบปัจจุบัน. 

พงษ์พรรณ บุญเลิศ