ทั้งนี้ ข้อมูลนี้มีการเผยแพร่ไว้ทางเว็บบล็อกชื่อ “บาว นาคร” และก็มีการเผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ www.gotoknow.org ซึ่งเป็นบทความที่จัดทำไว้โดย ผศ.บุญยิ่ง ประทุม นักวิชาการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช โดยมีเนื้อหา “ยึดโยงการเมืองไทย” ที่น่าพินิจ…

มีการ “ฉายภาพเกมการเมืองในไทย”

“การเมือง เกมและการช่วงชิงอำนาจ”

ทั้งนี้ ในแหล่งข้อมูลดังกล่าวข้างต้นมีการระบุไว้ว่าบทความดังกล่าวนี้จัดทำไว้เมื่อปี 2551 และได้มีการปรับปรุงในปี 2555 อย่างไรก็ตาม เนื้อหาในชุดข้อมูลนี้เมื่อพินิจเทียบเคียงกับ “สถานการณ์การเมืองประเทศไทย ปี 2566”ก็ยังคง “ร่วมสมัย” …ซึ่งต่อเนื่องจาก “ทฤษฎีเกม” ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” สะท้อนต่อข้อมูลไปในตอนที่แล้ว…นักวิชาการท่านดังกล่าวก็ได้สะท้อนถึง “เกมการเมืองไทย” เอาไว้ หลักใหญ่ใจความมีว่า… เมื่อนำทฤษฎีเกมมาวิเคราะห์กับสถานการณ์การเมืองไทย จะเห็นได้ว่า… เป็นการ “เล่นเกมแห่งอำนาจ” อย่างชัดเจน โดยมีผู้เล่นอยู่หลาย ๆ ฝ่าย ซึ่งสามารถ แบ่งออกได้เป็น 2 ขั้ว อย่างชัดเจน คือ 1.กลุ่มอำนาจเก่า 2.กลุ่มอำนาจใหม่ …ซึ่งเมื่อนำทฤษฎีเกมเข้ามาวิเคราะห์แล้ว ก็จะเห็นได้ว่าเป็น…

“เกมแห่งการแย่งชิงและรักษาอำนาจ” 

ทาง ผศ.บุญยิ่ง ได้ระบุถึงเกมการเมืองในไทยในเชิงวิชาการไว้ต่อไปว่า… เกมแห่งอำนาจของการเมืองไทยมีปัจจัยที่จะต้องนำมาศึกษาและวิเคราะห์เพื่อประกอบในกลยุทธ์ที่ใช้ต่อสู้เพื่อแย่งชิงและรักษาอำนาจ โดยที่ เกมแห่งอำนาจของการเมืองไทยมีปัจจัยแตกต่างและมากกว่าประเทศอื่น พอสมควร ซึ่งที่ว่าแตกต่างจากประเทศอื่นก็คือ…โดยปกติแล้วการตัดสินเกมแห่งอำนาจเพื่อชัยชนะทางการเมือง ในบรรดาประเทศประชาธิปไตยทั่ว ๆ ไป “ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ชี้ขาด” ก็คือ “ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง” ขณะที่“ผู้ที่ทำหน้าที่คอยตรวจสอบ และรักษากติกา” ก็คือ “องค์กรที่จัดการเลือกตั้ง” และ “องค์กรตุลาการ” ที่พิจารณาพิพากษาคดีในกรณีที่มีปัญหาในด้านความชอบด้วยกฎหมายเกิดขึ้น แต่ทว่า…

“ประเทศไทย นอกเหนือจากปัจจัยที่ว่ามานี้แล้วยังมีปัจจัยอื่นที่จะต้องนำมาพิจารณาอีก อาทิ กลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่อยู่เบื้องหลังพรรคการเมือง กลุ่มอำมาตยาธิปไตย กลุ่มพลังอำนาจทั้งในระบบและนอกระบบ ตลอดจนผู้คนที่ประชาชนให้ความเคารพนับถือในสังคม เป็นต้น” …ทางนักวิชาการท่านดังกล่าวระบุไว้

อีกทั้งยังระบุไว้ถึง “เกมการเมืองไทย” โดยชี้ไว้ถึง “ประเด็นที่สำคัญที่สุด” ว่า… เกมการต่อสู้ การช่วงชิงอำนาจทางการเมือง ที่เห็น ๆ อยู่นั้น นอกเหนือจากปัจจัยที่กล่าวมาแล้ว… “ที่สำคัญที่สุดคือ ทำอย่างไรจะทำให้เกิดผลประโยชน์มากที่สุดสำหรับประชาชนและประเทศชาติโดยรวม” และทำอย่างไรจึงจะหาทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการเมืองไทยในปัจจุบัน

ประเด็นที่สำคัญนี้…“วันนี้ก็ยิ่งน่าคิด”…

“ไม่รู้ผู้เล่นทั้งหลายในเกมคิดแค่ไหน??”

ในข้อมูลบทความที่เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในไทยเกี่ยวกับ“เกมการเมืองไทย” ที่จัดทำและเผยแพร่ไว้โดย ผศ.บุญยิ่ง ประทุม ที่กับเมืองไทยเราในยามนี้ก็ยังคง “ร่วมสมัย” นั้น ยังมีส่วนที่ขยายความประเด็นสำคัญข้างต้นไว้ว่า…

ปัญหาที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ ไม่ได้มีเพียงแค่การช่วงชิงอำนาจ ความเป็นใหญ่ทางการเมืองเท่านั้น มีปัญหาอื่น ๆ อีกที่ “รอรัฐบาลใหม่เข้ามาแก้ไขปัญหา” เช่น ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาเศรษฐกิจ เช่น น้ำมันแพง ราคาสินค้าแพงขึ้น ปัญหาค่าครองชีพของประชาชน ปัญหาการว่างงาน ปัญหาอาชญากรรม ปัญหายาเสพติด ปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปัญหาความขัดแย้งและความแตกแยกทางความคิดของคนในสังคม ปัญหาเด็กและเยาวชน ปัญหาด้านพลังงาน ปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ …เหล่านี้เป็นปัญหาอันหนักอึ้งที่ รอรัฐบาลใหม่ ผู้นำประเทศคนใหม่ มาจัดการ เพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศชาติ

อย่างไรก็ตาม… ปัญหาทุกอย่าง นอกจากการแก้ไขปัญหาโดยรัฐบาลแล้ว ส่วนที่สำคัญคือ ประชาชนในประเทศเองต้องมีความร่วมมือ สามัคคีกันเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ดังกล่าว ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และอย่างยั่งยืน …นี่เป็น “อีกประเด็นสำคัญ” ที่นักวิชาการท่านเดิมชี้ไว้ ขณะที่ “ทฤษฎีเกมกับการเมืองไทย” ก็ได้ระบุไว้ด้วยว่า… ทางเลือกทางออกที่ดีที่สุดนั้นจะเป็นอย่างไร จะเป็นไปตามทฤษฎีเกมหรือไม่อย่างไร การนำทฤษฎีเกมมาประยุกต์ใช้กับการเมืองไทยที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันนั้น ผลจะออกมาในรูปแบบไหนนั้น ต้องรอลุ้นกันต่อไป ด้วยความน่าสนใจอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ พินิจข้อมูลบทความ “การเมือง เกมและการช่วงชิงอำนาจ” แล้ว… “ไทยตอนนี้ยิ่งน่าคิดถึงผล??” ซึ่งทฤษฎีเกมดัง กับประเภทเกม “เกมที่มีผลรวมไม่เป็นศูนย์ (nonzero-sum games)” ที่สะท้อนต่อไว้ในตอนที่แล้ว ก็ “น่าหวัง” ในส่วนที่ “ทุกฝ่ายเป็นผู้ชนะทั้งหมด (win-win)” แต่ก็ “น่ากังวล” ในส่วนที่ตรงข้าม คือ “ทุกฝ่ายเป็นผู้แพ้ทั้งหมด (loss-loss)”

หาก “ผู้เล่นเกมการเมืองแพ้ทุกฝ่าย”…

แล้วกับ “ประเทศ-ประชาชนล่ะ??”…

“สภาพจะยิ่งย่ำแย่สักแค่ไหน??”.