เมื่อวันที่ 24 มิ.ย 2566 ณ ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ (FAR) จัดงานเปิดตัว เครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ (MovED)  มูฟดิ “มูฟไปข้างหน้า เพื่อสร้างสังคมที่เคารพความแตกต่างหลากหลาย ไม่เลือกปฏิบัติ” โดยมี น.ส.สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล น.ส.ชญา ธนุสศรทัตต์ มิสแกรนด์ลำพูน  ร่วมเวทีเสวนา “สังคมไทยกับสถานการณ์การตีตรา และการเลือกปฏิบัติ สู่ ทางออกทางรอดที่เป็นรูปธรรม”

นพ.สุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ไทยคือ 1 ในประเทศที่ให้การรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (The Universal Declaration of Human Rights) มาตั้งแต่ปี 2491 แต่ยังปรากฏสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ โดยเฉพาะการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลเกิดขึ้นมากเป็นอันดับต้นๆ การเปิดตัวเครือข่าย MovED จะเป็นพลังประชาชนที่มุ่งมั่นสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมนี้ เป็นสังคมที่ทุกคนได้รับการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม กทม. ตั้งมั่นที่จะใช้นโยบาย 9 ดี ที่อิงตามฐานคิดการส่งเสริม และปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน พัฒนาสังคมที่ไร้การเลือกปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส.กล่าวว่า แม้ในภาพรวมดูเหมือนสังคมไทยจะเปิดกว้าง แต่ปัญหาการตีตรา และเลือกปฏิบัติยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุแห่งความแตกต่างด้านฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม เพศสภาพ อาชีพ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์  ความพิการหรือผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ทำให้ต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาวะหลากหลายรูปแบบ สสส. ให้ความสำคัญกับการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทุกรูปแบบ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความเปราะบาง จึงสานพลังภาคีเครือข่ายผลักดันกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลการทำความเข้าใจกับสถานประกอบการเพื่อจ้างงานคนพิการมากกว่า 50,000 ตำแหน่ง การสร้างความเข้าใจกับสังคมเพื่อลดอคติกับกลุ่มชาติพันธุ์ แรงงานข้ามชาติ กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และกลุ่มที่มีความเปราะบางทับซ้อน รวมถึงการสนับสนุนเครือข่าย ทั้งหมดนี้เพื่อนำพาไปสู่สังคมที่เท่าเทียม เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะปลอดจากการถูกตีตราและถูกเลือกปฏิบัติ

นางสาวจารุณี ศิริพันธุ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ (FAR) และกองเลขาเครือข่ายมูฟดิ (MovED) กล่าวว่า จากปัญหาการเลือกปฏิบัติที่เกิดขึ้น สร้างผลกระทบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หากปล่อยให้เกิดขึ้นต่อเนื่อง ยิ่งส่งผลต่อการแบ่งเขาแบ่งเรา และให้ความสำคัญกับการเคารพความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นน้อยลงจึงร่วมมือกับ 13 เครือข่าย และนักวิชาการ จัดตั้งเครือข่าย MovED ใช้กระบวนการที่เป็นรูปธรรมให้คนตระหนักรู้ เท่าทัน อคติ และความคิดอัตโนมัติด้านลบของตนเองที่ตีตราผู้อื่น เพื่อหยุดการเลือกปฏิบัติได้ทันท่วงที (Reduce) ใช้สื่อสาธารณะทำให้สังคมมองเห็นความคิดอัตโนมัติด้านลบของตัวเอง และของผู้อื่นซ้ำๆ ในหลากหลายสถานการณ์ของชีวิตประจำวัน (Repeat) ชวนสังคมใช้วิธีพูดแบบใหม่ และทำแบบใหม่เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติให้หมดไป (Reproduce) 

อยากชวนผู้คนในสังคมลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงมูฟเรื่องนี้ไปด้วยกัน โดยจับตาการสื่อสารสาธารณะที่เป็นการตีตรา ด้อยค่า เหมารวม พร้อมตั้งคำถาม สื่อสารข้อเท็จจริงกับสังคมสาธารณะ รวมไปถึงการร่วมผลักดันให้กฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลเกิดขึ้นจริง และฝากไปถึงรัฐบาลใหม่ที่ต้องรีบนำกฎหมายฉบับดังกล่าวผลักดันเข้าสู่สภาโดยเร็ว ด้วยความเชื่อว่าจะก่อให้เกิดสังคมที่ไร้การตีตรา และไม่เลือกปฏิบัติได้ในที่สุด โดยเริ่มจากวันนี้” นางสาวจารุณี กล่าว