ล่าสุดก็เพิ่งมีผู้เสียหายทั้งชายและหญิงเข้าร้องเรียนองค์กรหนึ่ง หลังถูกมิจฉาชีพ “ลวงให้รัก” ก่อนถูก “หลอก” จนต้อง “สูญเสียเงินทอง” เมื่อมิจฉาชีพลวงให้โอนเงินหรือซื้อทรัพย์สินให้ ก่อนจะชิ่งหนีไปอย่างไร้เยื่อใย ซึ่งกรณีลักษณะนี้ครึกโครมบ่อย ๆ แต่ก็ยังมีเหยื่อที่หลงกลอยู่เรื่อย ๆ โดยปัญหานี้ก็น่าจะสะท้อน “ปรากฏการณ์สังคม” โดยฉายภาพ… “สังคมไทยยุคนี้มีคนขี้เหงาอื้อ!!”

อย่างไรก็ตาม นอกจาก “ภัยลวงให้รัก” ที่ผุดขึ้นเรื่อย ๆ ใน “ยุคสังคมคนขี้เหงา” แล้ว ในอีกมุม…มีอีกปรากฏการณ์สังคมไทยที่ก็น่าสนใจ ซึ่งทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” เคยฉายภาพไว้บางส่วน และวันนี้ขอนำมาสะท้อนเน้น ๆ ไว้อีกมุม นั่นก็คือ… “ปรากฏการณ์แฟนเทียม” ที่เกิดขึ้นมาแข่ง “ปรากฏการณ์ Only fans” โดยตอนนี้พบว่า ในโซเชียล-โลกออนไลน์ นั้น…

“ธุรกิจช่วยคลายเหงา” กำลัง “ฮอตฮิต”

นี่เป็นธุรกิจใหม่และก็ “เกิดอาชีพใหม่”

เป็น “อีกปรากฏการณ์สังคมยุคดิจิทัล”

ทั้งนี้ กับ “รูปแบบบริการ” ลักษณะนี้จากที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ลองเข้าไปสำรวจในโลกดิจิทัล ก็พบ “บริการรองรับคนขี้เหงา” หลากหลายรูปแบบ อย่างเช่น… “บริการตั้งสเตตัสแฟนในเฟซบุ๊ก” ซึ่งสนนราคาค่าบริการ ค่าจ้าง มีตั้งแต่ไม่กี่สิบบาทจนถึงหลักหลายร้อยบาท โดยหญิงสาววัยรุ่นรายหนึ่งที่ให้บริการแบบนี้ที่เคยเป็นที่สนใจมาก ๆ เคยเปิดเผย-อธิบายเกี่ยวกับการคิด “อัตราตั้งสเตตัสเป็นแฟน” ไว้ว่า…คิด ค่าบริการ 50 บาท ต่อ 1 ชั่วโมง แต่ทั้งนี้ “ค่าบริการ” นั้นก็ ขึ้นกับความดังของผู้ให้บริการ ที่ดูได้จากยอดคนกดติดตามในโซเชียล และรวมถึง ขึ้นกับระยะเวลาที่รับโพสต์ ด้วย…

หรืออีกรูปแบบก็คือ “บริการรับเล่นเกมออนไลน์ด้วยกัน” สำหรับบริการรูปแบบนี้ ผู้ให้บริการจะเข้าไปเล่นเกมร่วมกันกับผู้รับบริการ ซึ่งผู้รับบริการสามารถขึ้นจอภาพอวดผู้เล่นเกมออนไลน์คนอื่นได้ เพื่อ ให้รู้สึกว่าเป็นเพื่อนหรือเป็นแฟนกัน โดยอัตราค่าบริการรูปแบบนี้ส่วนใหญ่จะ คิดเป็นเรตรายชั่วโมง หรือบางครั้งก็อาจจะเป็น เรตเหมาเต็มวัน

บริการแบบนี้รองรับคอเกม “หัวใจเหงา”

ขณะที่ “บริการโทรศัพท์พูดคุยแก้เหงา” ที่เป็นรูปแบบที่มีมานานในไทยนั้น ในยุคนี้นี่ก็ยังคงมีอยู่ ยังมีการรับให้บริการ ซึ่งก็สะท้อนว่ายังมีผู้สนใจบริการนี้ โดยบริการรูปแบบนี้ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะ คิดค่าจ้างตามระยะเวลา เช่น 20 บาท ต่อการพูดคุย 5 นาที หรือ 100 บาท ต่อการพูดคุย 1 ชั่วโมง โดยสิ่งที่จะเน้นมาก ๆ คือ ห้ามพูดคุยเรื่องอนาจาร

นอกจากนั้นยังมี “บริการส่องโซเชียลแฟนเก่า” อีกต่างหาก เนื่องจากบางคนเมื่อเลิกรากับคนรักเก่าแล้วก็มักจะถูก “บล็อก” หรือ “ปิดกั้น” ทำให้เข้าไปติดตามความเคลื่อนไหวไม่ได้ โดย บริการนี้จะเน้นกลุ่มลูกค้าที่ยังตัดใจจากอดีตคนรักไม่ได้ ซึ่งผู้ให้บริการจะเข้าไปส่องโพสต์หรือสตอรี่ของแฟนเก่าให้ โดยบางรายก็ให้บริการในอัตราที่ไม่แพง คือ ค่าบริการ 10 บาท ต่อ 1 วัน รวมถึงมีการ แคปหน้าจอแฟนเก่าส่งให้ เป็นบริการเสริม ด้วย …นี่ก็ “บริการเพื่อคนขี้เหงา” อีกรูปแบบ

นี่เป็น “อาชีพสุดแสดชวนอึ้ง” ที่เกิดขึ้น

แม้จะดูแปลก…แต่ต้องเชื่อว่ามีอยู่จริง!!

และกับ “ปรากฏการณ์ยุคคนขี้เหงาในโลกโซเชียล” นี้ กรณีนี้ก็ได้มี “มุมวิเคราะห์” จากทาง นพ.สิทธา ลิขิตนุกูล แพทย์สังคมสื่อสารเพื่อคุณธรรม เจ้าของเพจ “คุณหมอสตอรี่” ที่เคยสะท้อนถึงปรากฏการณ์นี้ไว้กับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ว่า… กรณีโลกโซเชียลยุคปัจจุบันมักมี “กิจกรรมแปลก-บริการแปลก” เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “บริการโพสต์บอกรัก” หรือ “รับจ้างตั้งสเตตัสแฟน” เพื่อแลกค่าบริการ จากกรณีนี้ก็ต้องมองต่อไปถึงอีกกรณี คือกรณีทำให้คนหลงรัก หรือ “หลอกให้คนอื่นรัก” ที่กรณีหลังนี้ กำลังเป็น “ปัญหาที่ลุกลามขึ้นเรื่อย ๆ” เช่น “หลอกให้โอนเงิน-หลอกเรื่องแต่งงาน”

เรื่องหลอกแบบนี้มีเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน!!

ทางเจ้าของเพจคุณหมอสตอรี่เคยสะท้อนไว้อีกว่า… “สิ่งที่น่าเป็นห่วง” ในตอนนี้คือ…ปัจจุบัน “ทุกความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นมีมูลค่า” และจุดที่สำคัญก็คือ “คนที่ขาดทักษะทางสังคม” นั้น…บางคนก็อาจจะ “แยกไม่ได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความสัมพันธ์จริงหรือความสัมพันธ์หลอก??” ซึ่งก็อาจจะมี “สิ่งน่ากลัว” ที่จะเกิดตามมาคือ…“ความสัมพันธ์ปลอมที่เข้ามาพร้อมการแสวงหาผลประโยชน์” หรือ “ใช้ความสัมพันธ์เป็นเครื่องมือหลอกลวง” ซึ่งหลัง ๆ มีแนวโน้มเช่นนี้

ทั้งนี้ ในส่วนของการมี “บริการตั้งสเตตัสแฟนเทียม” เกิดขึ้นนั้น คุณหมอสิทธา ลิขิตนุกูล เจ้าของเพจดังกล่าว สะท้อนถึงปรากฏการณ์แบบนี้เอาไว้ว่า… เรื่องนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ยิ่งฉายภาพ “ไทยยุคสังคมขี้เหงา” ที่แม้จะมีเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้คนเชื่อมหากันได้สะดวกสบายขึ้น แต่เอาเข้าจริง ๆ กับ “ความสัมพันธ์ในโลกความจริง” ที่ไม่ใช่โลกออนไลน์นั้น…ก็ “มีคนจำนวนไม่น้อยที่มีปัญหานี้!!” …ซึ่งที่น่าห่วงคือสังคมยุคใหม่นั้นต้องยอมรับว่า…บางคนก็ ขาดทักษะวิเคราะห์แยกแยะ

ที่ไม่หลอก…ที่แยกแยะได้…ก็ว่ากันไป…

แต่ก็…“ระวังที่หลอก” “ระวังแยกไม่ได้”

“หวังคลายเหงา” จะ “กลายเป็นทุกข์”.