…เป็นใจความสำคัญที่ระบุไว้โดย รศ.นพ.วัชรพงศ์ ปิยะภาณี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำคลินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยวและการเดินทาง (Thai Travel Clinic) ที่สะท้อนเรื่องนี้เพื่อย้ำความสำคัญในการต้องมี เครือข่ายเฝ้าระวังโรคติดเชื้อ ที่เกิดจากการที่ “โลกเชื่อมโยงเข้าหากัน”…

การ “ท่องเที่ยว-เดินทางสู่พื้นที่ต่าง ๆ”

นี่ไม่เพียงผู้คนเคลื่อนย้ายไปมาหาสู่กัน

ยัง “อาจเป็นการนำพาเชื้อโรคได้ด้วย!!”

เกี่ยวกับเรื่องที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลในวันนี้ เป็นข้อมูลที่เผยไว้โดย รศ.นพ.วัชรพงศ์ ซึ่งคุณหมอระบุไว้ว่า…เนื่องจากการเดินทางท่องเที่ยวเป็นไลฟ์สไตล์ที่สำคัญของคนในปัจจุบัน ซึ่งยิ่งจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับ “ความปลอดภัย” กับเรื่อง “โรคภัยไข้เจ็บ” เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้อมูลสุขภาพเพื่อ “เตรียมตัวก่อนเดินทาง” ปัจจุบันจึงมีการให้ความสำคัญทางการแพทย์กรณี “เวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว” หรือ “ทราเวลเมดิซีน (Travel Medicine)” ที่เป็นอีกหนึ่งศาสตร์ทางการแพทย์ ซึ่งเน้นให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ การป้องกัน และการดูแลรักษาตัวเอง ในขณะเดินทางท่องเที่ยว

สำหรับ “Travel Medicine” หรือ “เวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว” นี้ ทาง รศ.นพ.วัชรพงศ์ ยังได้อธิบายไว้ว่า…เป็นศาสตร์การแพทย์เฉพาะทางที่ทำงานเกี่ยวกับการ เฝ้าระวัง การ สอบสวนโรค ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง การ ประเมินความเสี่ยง รวมถึง ให้คำปรึกษา-ให้ความรู้ การป้องกันดูแลรักษาสุขภาพของนักท่องเที่ยว เพื่อลดอัตราป่วยและเสียชีวิตของกลุ่มผู้เดินทางท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกมีเครือข่ายของนักวิชาการทางด้านเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยวหลายเครือข่าย อาทิ เครือข่ายGeo Sentinel Surveillance Network ที่มีสมาชิกเป็นสถาบันการแพทย์กว่า 70 แห่งทั่วโลก

ในส่วนของประเทศไทยนั้น โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน และ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายดังกล่าวเช่นกัน โดยได้มีการร่วมทำหน้าที่ เฝ้าระวังโรคที่สัมพันธ์กับการเดินทางท่องเที่ยว กับเครือข่ายระดับโลกนี้มากว่า 15 ปี …นี่เป็นข้อมูลที่ทาง ผอ.โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน ได้แจกแจงไว้…

“ไทย” ก็ร่วม “เป็นเครือข่ายเฝ้าระวัง”

ร่วม “จับตาโรคติดเชื้อที่อาจระบาด!!”

นอกจากนั้น รศ.นพ.วัชรพงศ์ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมไว้ว่า…ในส่วนของการเฝ้าระวังโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเดินทางนั้น ในปัจจุบันยิ่งนับเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากการเดินทางท่องเที่ยวในปัจจุบันสะดวกและรวดเร็ว จึงอาจมีโอกาสทำให้โรคติดเชื้อจากมุมใดมุมหนึ่งของโลกแพร่กระจายไปในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ ทำให้ทุกฝ่ายต้องช่วยกันเฝ้าระวัง ทั้งระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ ผ่านเครือข่ายต่าง ๆ และด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้ศาสตร์ทางการแพทย์อย่างเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยวจึงมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเรื่องข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคต่าง ๆ ที่ยิ่งต้องถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว

สามารถ “ใช้โซเชียลเป็นช่องทางข้อมูล”

ใช้สำหรับ “เตรียมตัว” ใช้ “เฝ้าระวังโรค”

อย่างไรก็ตาม ในยุคที่มีข้อมูลข่าวสารมากมาย การ “คัดกรองข้อมูล-ตรวจเช็กข้อมูล” ก็ถือเป็น “สิ่งที่สำคัญ” โดยนักท่องเที่ยวจะต้องพิจารณาให้ดีก่อนจะเชื่อถือในข้อมูลที่ได้รับ และ ต้องแยกให้ได้ระหว่างข่าวจริง ข่าวลวง ข่าวลือ ซึ่งปัจจุบันนี้ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในเรื่องนี้ โดยนำระบบ AI มาใช้เพื่อช่วยในการวิเคราะห์-แยกแยะข้อมูล เพื่อตรวจจับข่าวการแพร่ระบาดของ โรคติดเชื้อ รวมถึง โรคอุบัติใหม่ และ โรคอุบัติซ้ำ จากพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก…

ที่มีปัจจัยจากการเดินทางของประชากร

ทั้งนี้ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผศ.นพ.วศิน แมตสี่ ภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เสริมข้อมูลเพิ่มเติมไว้ว่า… ที่ผ่านมานั้นประเทศไทยยังคงต้องอาศัยฐานข้อมูลวิจัยด้านเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยวจากทวีปยุโรปเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงเป็นการดีถ้าหากประเทศไทยจะสามารถสร้างฐานข้อมูลขึ้นใช้เอง สำหรับคนไทยและคนเอเชีย เพื่อให้การเฝ้าระวัง การป้องกัน และการรักษา ตรงจุดเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การนำเทคโนโลยีสื่อสารมาใช้ผนวกกับ ระบบการให้คำปรึกษาการแพทย์แบบทางไกล หรือ “เทเลเมดิซีน (Telemedicine)” ก็จะยิ่งทำให้การเฝ้าระวังทำได้ดียิ่งขึ้น

“เวชศาสตร์ท่องเที่ยวและการเดินทางมีความสำคัญยิ่งขึ้น โดยเฉพาะหลังยุคโควิด-19 ที่ประเทศต่าง ๆ เปิดให้ผู้คนเดินทางเข้าออกกันได้สะดวกเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อคนเดินทางได้ง่ายขึ้น จึงส่งผลให้เกิดการเชื่อมโยงเข้าหากัน กรณีนี้ก็อาจจะมีเชื้อโรคติดตามมาด้วยได้ ซึ่งหากมีฐานข้อมูลของโรค และการแจ้งเตือน ก็จะทำให้การรับมือและเฝ้าระวังป้องกันสามารถทำได้อย่างทันท่วงที เพื่อคุมการแพร่ระบาด” …เป็น “ความสำคัญ” ของ “ทราเวลเมดิซีน”

โลกไร้พรหมแดน “โรคก็ไร้พรหมแดน”

น่า “หนุนให้ไทยทำเรื่องนี้ได้เข้มแข็ง”

“ทราเวลเมดิซีน” เพื่อ “สกัดกั้นโรค”.