ชีวิตเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นได้ เป็นคำกล่าวโดย จ๊ะจ๋า–จิณจุฑา จุ่นวาที” สาวน้อยที่เกิดมาพร้อมร่างกายไม่สมบูรณ์ เธอเกิดมาพร้อมกับความ “พิการทางการเคลื่อนไหว” โดยเธอป่วยเป็น “โรคกระดูกเปราะ” ทำให้เธอต้องใส่เหล็กดามร่างกายตลอดเวลา ซึ่งสาวคนนี้ต้องเผชิญกับการผ่าตัดมาแล้วกว่า 34 ครั้ง แต่เธอก็สู้ ไม่ยอมแพ้ จนเอาชนะความเจ็บปวด รวมถึงสามารถพิสูจน์ตัวเองได้ด้วยการ “ก้าวข้ามข้อจำกัดทางร่างกาย” จนสามารถที่จะเป็น “หญิงสาวที่มีความสุขในชีวิต” ได้ในวันนี้ ซึ่งวันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” จะพาไปทำความรู้จักเธอคนนี้ ไปสัมผัสเรื่องราวและเส้นทางชีวิตของเธอกัน…

จ๊ะจ๋าจิณจุฑา จุ่นวาที ปัจจุบันเธออายุ 28 ปี เรียนจบปริญญาตรีคณะบริหารธุรกิจ สาขาการตลาด จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) โดยขณะนี้เธอทำงานเป็นนักเขียนข่าวบันเทิงขึ้นเว็บไซต์แห่งหนึ่ง และก็ทำธุรกิจนมผลไม้เพื่อนำไปขายตามตลาดนัด เพื่อเลี้ยงดูตัวเองและแม่บุญธรรม โดยจ๊ะจ๋าเล่าให้ฟังว่า เธอป่วยเป็นโรคกระดูกเปราะตั้งแต่กำเนิด เพราะแม่แท้ ๆ ของเธอกินยาขับเลือดเพื่อยุติการตั้งครรภ์ แต่ไม่สำเร็จ เธอจึงออกมาลืมตาดูโลกพร้อมอาการป่วยด้วยโรคกระดูกเปราะ ต่อมาพ่อกับแม่แท้ ๆ ก็ได้ทิ้งเธอไป แต่โชคดีที่ได้รับการเลี้ยงดูจาก คุณแม่นกแก้วขนิษฐา เมือบศรี คุณแม่บุญธรรม ซึ่งเป็นครอบครัวฝั่งคุณพ่อของเธอ ที่รับดูแลชีวิตเธอ ทั้งนี้ เธอเล่าว่า ตั้งแต่จำความได้ก็เข้าโรงพยาบาลตลอด ต้องผ่าตัดแขน ขา กระดูกสันหลัง รวมแล้วกว่า 34 ครั้ง แต่แม้จะมีอุปสรรคด้านร่างกาย หัวใจของเธอก็ไม่เคยท้อแท้ เนื่องจากมีคุณแม่บุญธรรมเป็นแรงบันดาลใจในชีวิต ซึ่งเธอเคยขึ้นเวทีประกวดด้วย โดยเคยได้ตำแหน่งรองอันดับ 2 จากเวที Miss Wheelchair Thailand ปี 2012

เราต้องนั่งรถวีลแชร์ตั้งแต่เด็ก เพราะกระดูกหักหรืองอได้ง่าย ซึ่งเมื่อกระดูกงอหรือเหล็กยึดกระดูกเคลื่อน เหล็กก็จะทะลุ ทำให้ที่ผ่านมาเราต้องผ่าตัดถึง 34 ครั้ง เรียกว่าแทบทุกปีเลยก็ได้ที่เข้ารับการผ่าตัด แต่แม้จะมีข้อจำกัดร่างกาย จ๊ะจ๋าก็ชอบเข้าสังคมนะ (หัวเราะ) เพราะถูกเลี้ยงดูมาอย่างคนปกติ เราจึงเข้าร่วมกิจกรรมทุกอย่าง ทำให้รู้จักคนเยอะ ทำให้พอเวลามีปัญหาทุกคนก็พร้อมจะมาช่วย โดยไม่ได้มองว่าเราเป็นคนพิการ เธอเล่าพร้อมรอยยิ้ม

“จ๊ะจ๋า” กับ “คุณแม่นกแก้ว-ขนิษฐา” คุณแม่บุญธรรม

จ๊ะจ๋าได้อธิบายถึง อาการโรคกระดูกเปราะที่เป็นว่า ทำให้เธอนั่งนาน ๆ ไม่ได้ เพราะจะมีอาการปวด ยิ่งระยะหลังที่กระดูกสันหลังงอเป็นรูปตัว S จนไปเบียดอวัยวะอื่น ทำให้ทำงานได้ไม่เต็มที่ เธอเริ่มหายใจไม่ออก และรู้สึกปวดตั้งแต่แรกนั่ง แต่เธอก็ให้กำลังใจตัวเองเสมอว่า เจ็บกว่านี้ ยากกว่านี้ ก็เจอแล้ว ถ้าผ่านอุปสรรคนี้ไปได้ ก็จะขอบคุณตัวเอง หากวันไหนรู้สึกเหนื่อย ท้อ ก็จะพูดกับตัวเองว่า เราทำได้ทุกอย่าง ไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้ ยกเว้นการเดิน ก็ทำให้ฮึดขึ้นมาได้

เธอบอกว่า เชื่อว่าลึก ๆ คนพิการต่างก็อยากออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านกัน แต่ขึ้นอยู่กับพื้นฐานครอบครัวและสิ่งแวดล้อม เพราะบางครอบครัวก็ไม่เข้าใจว่าลูกพิการก็สามารถทำอะไรได้เกือบเหมือนคนปกติ หรือสามารถใช้ชีวิตนอกบ้านได้ ดังนั้นเวลาไปโรงพยาบาล เมื่อเจอน้อง ๆ คนพิการ คุณแม่บุญธรรมของเธอก็จะไปพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกพิการให้เชื่อว่า ลูกเขาก็สามารถทำอะไรได้ แต่คนเป็นพ่อแม่จะต้องมีความเชื่อมั่น และอย่าไปเทียบว่าต้องทำอะไรได้เหมือนใคร ๆ แต่ให้เขาทำได้ในขีดจำกัดก็พอ

กับ “พล.อ.ประยุทธ์”

คุณแม่นกแก้วของจ๊ะจ๋าเชื่อว่าคนพิการก็เรียนได้ เพราะการศึกษาเป็นพื้นฐานชีวิต ดังนั้นทุกคนต้องมีความรู้ไม่ว่าจะพิการหรือปกติ ทำให้คุณแม่อยากให้เราเรียนสูง ๆ จึงพยายามหาเงินส่งเสียให้เรียนทั้งปกติและเรียนกวดวิชาตั้งแต่เด็ก ๆ แม้จะไม่ได้มีฐานะร่ำรวยอะไร ซึ่งความตั้งใจของคุณแม่เป็นแรงผลักดันให้จ๊ะจ๋าเรียนจบปริญญาตรี และทำให้เรามีมุมมองชีวิตที่ดีว่าเราสามารถทำทุกอย่างได้เหมือนคนอื่น ๆ ซึ่งตอนที่เราสวมชุดครุยรับปริญญามาหาคุณแม่ ทั้งเราและคุณแม่ต่างก็รู้สึกดีใจมากที่ทำได้สำเร็จ

จ๊ะจ๋ายังบอกอีกว่า ตอนแรกนั้นเธอเลือกเรียนวารสารศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง เพราะอยากเรียนด้านสื่อสารมวลชน แต่เมื่อตอนที่ไปสัมภาษณ์ ทางนั้นกลับบอกว่าเธอไม่สามารถเรียนร่วมกับคนปกติได้ เพราะต้องถือกล้อง แบกของไม่ได้ หรือจะดูงานข้างนอกยังไง ทำให้ไม่รับเธอเข้าเรียน เธอจึงตัดสินใจไปอยู่ในที่ที่มีคนอยากรับเธอดีกว่า จนได้มาเรียนที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เรียนภาคปกติที่ไม่เคยมีนักศึกษาพิการมาก่อน เคยมีแต่ภาคพิเศษ เพราะเรียนภาคพิเศษไม่ต้องทำกิจกรรม ดังนั้นเธอจึงเป็นคนพิการคนแรกที่ได้เข้าเรียนในหลักสูตรนี้ในภาคปกติ… ตอนเรียนเราอยู่หอใน หอนอกอยู่ไม่ได้ เนื่องจากจะอันตรายเวลาข้ามถนน ซึ่งที่หอในนี้ มหาวิทยาลัยเขาเพิ่งปรับปรุงใหม่ทั้งหมด มีการขยายห้องน้ำ ทำทางลาดชันให้รถเข็นผู้พิการ เราเลยยิ่งมั่นใจว่าคิดถูกแล้วที่เลือกมาเรียนที่นี่ แต่ตอนหลังก็ได้เปลี่ยนมาเรียนคณะบริหารธุรกิจ สาขาการตลาดแทน เธอเล่าเรื่องราวในสมัยที่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย

กับเพื่อน ๆ มทร.ธัญบุรี

หลังเรียนจบและออกจากรั้วมหาวิทยาลัย เธอก็เข้าสู่รั้วกระทรวง โดยเธอเริ่มต้นชีวิตการทำงานที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สังกัดกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และได้บรรจุในตำแหน่งนักสังคมสงเคราะห์ แต่พอทำไปสักพัก ก็เริ่มรู้สึกว่าไม่ใช่ทาง ทำให้พอกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเปิดรับสมัคร เธอจึงตัดสินใจลองสมัครดู และก็ได้บรรจุในตำแหน่งนักวิชาการอุตสาหกรรม โดยเธอทำในส่วนของงานวินัย งานกฎหมาย และระเบียบโครงสร้างองค์กร

ตอนแรกก็กังวลว่าคนอื่นจะยอมรับไหม แต่พอทำงานจริง ๆ พบว่าคนอื่นพยายามเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับเรา ซึ่งดีใจมากที่ไม่ตัดสินว่าเราทำอะไรได้หรือไม่ได้จากข้อจำกัดด้านร่างกาย โดยเฉพาะส่วนงานด้านกฎหมาย ที่ได้รับความไว้วางใจให้ดูแลงานในส่วนนี้ แต่เราก็มีเคล็ดลับชีวิตนิดหนึ่งนะ (ยิ้ม) คือเราพยายามเปิดใจและมองบวกว่า ไม่มีใครดูถูกเราที่พิการ เพราะหากเราปิดใจก็เท่ากับปิดความคิดตัวเองด้วย โดยจะทำให้เอาแต่คิดแง่ลบตลอดเวลาว่าคนอื่นดูถูกเราอยู่ ซึ่งจากประสบการณ์ เราบอกได้เลยว่า เราจะคิดบวกหรือคิดร้ายนั้นอยู่ที่ตัวคนพิการเองว่าจะเปิดใจและปรับตัวไหม ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องงาน รวมไปถึงการใช้ชีวิตด้วย จ๊ะจ๋าถ่ายทอดแนวคิดจากประสบการณ์ตรง

ออกทีวีโชว์ผลิตภัณฑ์ที่ทำขาย

ก่อนจะเล่าต่อไปว่า ทำงานที่ใหม่แรก ๆ ต้องนั่งแต่แท็กซี่ แถมแท็กซี่พอเห็นรถวีลแชร์ก็ไม่ค่อยรับ เดินทางแบบนี้ได้สักพักก็สู้ไม่ไหว เพราะต้องมีค่าเดินทางไปกลับที่ทำงานไม่ต่ำกว่าเดือนละ 5,000 บาท เธอจึงเปลี่ยนมาลองใช้รถไฟฟ้า MRT ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางนานขึ้น และค่อนข้างลำบากด้วย ที่สุดก็ตัดสินใจลาออก หันมาขายแฟ้มเอกสารอยู่ที่ตลาด ซึ่งช่วงโควิด-19 ระบาด ตลาดต้องปิด เธอก็เลยหันมาขายนมสตรอเบอรี่ออนไลน์แทน โดยทำมาได้ 3 ปีแล้ว ซึ่งก็มีกระแสตอบรับจากลูกค้าดีมาก ๆ

นอกจากขายนมผลไม้ออนไลน์ ก็ได้ทำงานประจำด้วย โชคดีว่าที่บริษัทที่รับเข้าทำงานเขาเข้าใจผู้พิการ ก็เลยให้เรา work from home โดยเข้าออฟฟิศอาทิตย์ละ 1 ครั้ง เราก็เลยทำอะไรได้หลาย ๆ อย่าง พอช่วงเสาร์อาทิตย์ ช่วงหลังจากเลิกงาน เราก็จะมาเป็นนักเขียนฟรีแลนซ์ เขียนข่าวด้วย ส่วนแฟนเปิดร้านข้าวกะเพราในบ้าน เน้นขายแบบดิลิเวอรี่ ส่วนเราก็ช่วยโพสต์รูปและขายออนไลน์  เอาจริงเคยมีคนถามว่าลาออกจากงานราชการเสียดายไหม ก็ต้องบอกว่าเสียดายมาก แต่พอมาทำงานเอกชน รู้สึกว่าตอบโจทย์ได้เยอะกว่า ก็เลยเลิกคิดว่าเสียดาย“ 

ครอบครัวมีสุขกับบ้านที่ฝัน

ทั้งนี้ เธอบอกเล่าถึงความฝันในชีวิตว่า ครั้งหนึ่งเธอฝันอยากมีบ้านให้กับคุณแม่ โดยทั้งเธอและ แฟน คือ “ไนซ์” ก็ขยันทำงานเพื่อสร้างรากฐานครอบครัวและสานฝันให้คุณแม่  จนวันนี้ เธอมีทั้งรถและบ้านให้คุณแม่ชื่นใจ รวมถึงเมื่อมีเวลาก็จะพาคุณแม่ไปเที่ยวเสมอ ถ้าถามว่ายังมีฝันอะไรอีกไหม? ตอนนี้ไม่ฝันอะไรแล้ว ขอแค่ได้อยู่เคียงข้างคนที่เธอรัก และรักเธอ ก็ดีใจแล้ว…

จ๊ะจ๋าจิณจุฑาฝากถึงคนที่กำลังท้อแท้ในชีวิตผ่านทีมวิถีชีวิตมาว่า…เธออยากให้ทุกคนสู้ และพร้อมเผชิญกับสิ่งที่พบเจอ แม้ความเหนื่อยล้าของแต่ละคนจะไม่เท่ากัน แต่สุดท้ายแล้ว เธอเชื่อว่าทุก ๆ คนจะต้องก้าวข้ามผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้อย่างแน่นอน เหมือนเช่นที่เธอทำได้มาแล้ว… ถ้าถามว่าชีวิตที่คุ้มค่าคืออะไร บางคนก็อาจบอกว่า คือเงินล้าน คือการมีบ้าน คือการมีลูก นั่นก็คือชีวิตที่คอมพลีทของเขา แต่สำหรับเรา ตอนนี้แค่ยังได้หายใจอยู่ เราก็ถือว่า

ชีวิตของเราคุ้มค่าแล้ว“.

‘รักที่สมบูรณ์’ มีได้ ‘ไร้ข้อจำกัด’

กับ “ไนซ์-เฉลิมพล” สามี

จ๊ะจ๋า–จิณจุฑา จุ่นวาที” แต่งงานมีครอบครัวแล้ว สามีคือ “ไนซ์-เฉลิมพล โภคยะสุพัสตร์” ซึ่งทั้งคู่รู้จักกันผ่านทางโลกโซเชียล โดยจ๊ะจ๋าบอกว่า ไนซ์เป็นคนทักเธอมาก่อน (ยิ้มเขิน ๆ) ซึ่งตอนนั้นเธอเพิ่งเรียนจบ และต้องทำงานหนัก 7 วันต่อสัปดาห์ ทำให้แทบไม่มีเวลาเทคแคร์ใคร แต่เขาก็เข้าใจความตั้งใจของเธอที่จะทำตามฝันให้สำเร็จ จึงพยายามให้กำลังใจเธอ และพร้อมเป็นเพื่อนพูดคุยปรับทุกข์เสมอ โดยสิ่งที่ทำให้ชนะใจเธอคือความเสมอต้นเสมอปลาย และการที่เขาคอยให้กำลังใจเสมอ… ’ไนซ์ดูแลเราดีมาก ๆ ตอนนี้แต่งงานเข้าปีที่ 4 แล้ว รวมคบกันตอนเป็นแฟนก็ 6 ปีพอดี ก็ช่วยกันทำมาหากินจนปีกว่า ๆ ก็สามารถซื้อบ้านได้ แถมซื้อในช่วงโควิดด้วย ใจสู้มาก (หัวเราะ) ถามว่าจะมีลูกไหม ก็อยากมี แต่สภาพร่างกายเราคงมีลูกยาก แต่เราสองคนก็ทำใจยอมรับนะ ก็คอยดูแลให้กำลังใจ เจ็บป่วยก็ดูแลกัน ซึ่งชีวิตตอนนี้ดีที่สุดแล้วค่ะ“.

เชาวลี ชุมขำ : รายงาน