ทั้งนี้ กับ “รถไร้คนขับ” นั้น นอกจากในเชิงเทคโนโลยี ในเชิงระบบ ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้เคยสะท้อนต่อข้อมูลไปแล้ว…กับ “ทิศทางรถไร้คนขับในไทย” นี่ก็“น่าพิจารณา” ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็ได้มีการจัดเวทีเสวนา “ความก้าวหน้ายานยนต์อัตโนมัติของประเทศไทย” โดยมีผู้เชี่ยวชาญมาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน รวมถึงในหัวข้อ “นโยบายและการพัฒนายานยนต์อัตโนมัติของประเทศไทย” ที่ฉายภาพทิศทางข้างหน้าของอุตสาหกรรมยานยนต์ไร้คนขับของประเทศไทยในอนาคต ซึ่ง ณ ที่นี้ในวันนี้ก็นำมาสะท้อนต่อโดยสังเขป…

“มีโอกาส?” หรือ “หมดลุ้น?-เกิดยาก?”

หรือ “ไทยต้องเร่งศักยภาพด้านใด???”

จะมีรายละเอียดน่าพิจารณาเช่นไร???

ทั้งนี้ เวทีเสวนาดังกล่าวนั้นจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และอินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ซึ่งได้มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญ ผู้ที่มีประสบการณ์ด้านยานยนต์อัตโนมัติ จากภาคส่วนต่าง ๆ จากภาคการศึกษา และจากภาครัฐ มาร่วมให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องนี้ เพื่อที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการ “เตรียมพร้อม” และสำหรับ “รองรับ” กรณี “การใช้งานยานยนต์อัตโนมัติในประเทศไทย” ซึ่งบรรดาผู้เชี่ยวชาญนั้น…

ได้ “มีมุมสะท้อนหลากหลายประเด็น”

เริ่มจากทาง รศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล หัวหน้าศูนย์วิจัย MOVE มจธ. ที่สะท้อนไว้ว่า… ปัจจุบันเทคโนโลยี“ยานยนต์สมัยใหม่” ตามแนวคิด CASE ได้แก่ 1.ยานยนต์ที่มีการเชื่อมโยงสื่อสารกัน (Connected Vehicle), 2.ยานยนต์อัตโนมัติ (Autonomous Vehicle), 3.ธุรกิจการใช้ยานยนต์ร่วมกัน (Shared Mobility), 4.ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) ซึ่งก็ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยี “ยานยนต์อัตโนมัติ” ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการลดอุบัติเหตุบนท้องถนน อีกทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงหรือพลังงาน และลดการปล่อยมลพิษด้วย

นี่ฉายภาพ “เทคโนโลยียานยนต์” ยุคนี้

“ยานยนต์อัตโนมัติ” นี่ย่อม “ไม่หลุดโผ”

ทางหัวหน้าศูนย์วิจัย MOVE ชี้ไว้ต่อไปว่า… มนุษย์คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ในอนาคตจะมียานยนต์ที่มีระบบขับขี่อัตโนมัติในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งอาจจะเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางของมนุษย์ไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง อย่างไรก็ดี แต่การพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์อัตโนมัติยังคงมีความท้าทายในหลายมิติ ทั้งด้านการพัฒนาเทคโนโลยี ด้านความปลอดภัยของข้อมูล ด้านกฎระเบียบในการใช้งาน รวมไปถึงความรับผิดชอบในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นเรื่องที่ ต้องช่วยกันคิด ต่อไป…

ยังต้อง “หาจุดลงตัวที่เหมาะสม” เรื่องนี้

เพื่อที่จะ “ไม่ให้เกิดปัญหาในการใช้งาน”

ด้าน รศ.ดร.เบญจมาศ พนมรัตนรักษ์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการ COSIN และกลุ่มวิจัย CAVs ได้สะท้อนประเด็นความก้าวหน้าของยานยนต์อัตโนมัติของประเทศไทยไว้ว่า… ขณะนี้ในต่างประเทศตื่นตัวในการทำวิจัยและพัฒนายานยนต์ไร้คนขับ โดยมีการ จับมือกับภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานรัฐ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับยานยนต์อัตโนมัติ ซึ่งวิธีการนี้ ช่วยทำให้โจทย์วิจัยมาจากความต้องการจริง และผลลัพธ์ที่ได้ก็จะถูกนำไปต่อยอด แต่รูปแบบนี้ ยังมีค่อนข้างน้อยในไทย ดังนั้นความร่วมมือจากทุกฝ่ายคือคำตอบที่จะทำให้ไทยก้าวทันเทคโนโลยีด้านนี้ได้ …นี่เป็น “อุปสรรคไทยที่ต้องแก้”

เพื่อ “ไม่ให้ไทยตกขบวนรถอัตโนมัติ!!”

ขณะที่ ผศ.ดร.นักสิทธ์ นุ่มวงษ์ เลขานุการศูนย์วิจัย Smart Mobility Research Center คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็สะท้อนไว้บนเวทีเสวนาว่า… เวลานี้หลายประเทศ อาทิ จีน สหรัฐอเมริกา เริ่มมีการใช้ยานยนต์อัตโนมัติระดับ 4 แล้ว ซึ่งเป็นรถที่สามารถขับขี่ได้เอง สามารถวิเคราะห์จัดการสถานการณ์เฉพาะหน้าได้เอง แม้จะเป็นการเน้นที่การให้บริการ ยังไม่ถึงขั้นจำหน่ายตั๋วรถก็ตาม โดยประเทศที่ใช้งานยานยนต์อัตโนมัติระดับนี้ได้ ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม จึงจะรองรับเทคโนโลยีระดับนี้ได้ ขณะที่ประเทศไทยก็มีการพัฒนายานยนต์อัตโนมัติมาสักพัก ซึ่งงานวิจัยส่วนใหญ่ในสถาบันการศึกษายังอยู่ระดับ 3 ที่ยังจำเป็นต้องอาศัยการควบคุมจากมนุษย์มาช่วย แต่ก็ถือว่าไทยมีทิศทางวิจัยที่ดี…

“ตอนนี้ในไทยก็มีการรวมตัวของสถาบันการศึกษา หน่วยงานรัฐ ภาคอุตสาหกรรม เพื่อจะกำหนด Guideline ของการพัฒนายานยนต์อัตโนมัติให้เกิดขึ้น ซึ่งหากเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ใน 3-5 ปีข้างหน้าคนไทยอาจจะเห็นรถอัตโนมัติที่ผลิตโดยโรงงานในไทยวิ่งบนถนนจริง บางแห่ง” …นี่เป็นข้อมูลอีกส่วนกับกรณี “รถไร้คนขับในไทย” จากเวทีเสวนา

ในด้าน“วิจัยพัฒนา” นั้น“ไทยก็รุดหน้า”

ว่าแต่ “โครงสร้างต่าง ๆ ที่รองรับล่ะ??”

ไทย “จะพร้อมแค่ไหน???-เมื่อไหร่???”

“รถไร้คนขับ…ต้องติดสติ๊กเกอร์มั้ย??”.