ทั้งนี้ หลังโควิด-19 ซาลง หลายประเทศต่างก็ต้องการ “เม็ดเงินจากการท่องเที่ยว” จึงส่งผลทำให้ “ตลาดท่องเที่ยวทั่วโลกขับเคี่ยวกันดุเดือด” จากการแข่งกันดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้าท่องเที่ยวในประเทศของตน ซึ่งในส่วนของประเทศไทย ที่เป็นกระแสฮือฮามาสักพักใหญ่ นั่นก็คือการที่มีการเสนอ “แคมเปญท่องเที่ยวไทย” ด้วยการ “เปิดตลาดนักท่องเที่ยวสายมูเตลู” ที่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่น่าจับตา…

ไทยจะ “ใช้มูเตลูเป็นแม่เหล็กดึงดูด”…

หลาย ๆ ฝ่ายมองว่า “เป็นไปได้มาก ๆ”

เป็นอีก “โมเดลการท่องเที่ยวน่าสนใจ”

ทั้งนี้ กับ “แนวคิดเปิดการท่องเที่ยวสายมูเตลู” นี้ ก็มีการขานรับออกมาจากทางสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่สนับสนุนให้ไทยชูจุดขายเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดย “ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงความเชื่อ” หรือที่เรียกกันว่า “การท่องเที่ยวสายมูเตลู” ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจจากรายงานของ Future Markets Insight 2023 ที่ระบุไว้ว่า… ปี 2022 ที่ผ่านมาทั่วโลกมีมูลค่าการท่องเที่ยวเชิงศรัทราสูงถึง 13.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยได้มีการคาดการณ์กันเอาไว้ด้วยว่า…ภายในปี 2033 มูลค่ารายได้การท่องเที่ยวเชิงศรัทธาความเชื่อนี้จะเพิ่มเป็น 40.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ…

คาดว่าภายใน 10 ปีจากนี้มูลค่าจะยิ่งพุ่งสูง

สะท้อนว่า…“เทรนด์เที่ยวสายมูมาแรง!!”

ในส่วนของประเทศไทยเรา เกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงพาณิชย์ก็มีการออกมาเปิดเผยการคาดการณ์ไว้ว่า… การท่องเที่ยวเชิงศรัทธาความเชื่อจะช่วยกระตุ้นให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่า 10,800 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.36 ของมูลค่าการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นในปี 2019 แต่การที่ประเทศไทยจะไปถึงเป้าหมายตัวเลขรายได้ดังกล่าวนี้ได้ ประเทศไทยก็จำเป็นจะต้อง “กำหนดยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวสายมู” ให้ชัดเจนด้วย เพื่อให้…

เกิดการ “กระตุ้นทั้งระบบการท่องเที่ยว”

และกับมุมวิเคราะห์กรณีนี้ ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล ผู้อำนวยการหลักสูตร aMBA (Analyst MBA) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ก็ได้สะท้อนเกี่ยวกับการที่ “ไทยจะชูจุดขายท่องเที่ยวสายมูเตลู” ไว้กับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ว่า… อยากให้สังคมลบภาพอคติเกี่ยวกับเรื่องนี้ และได้โปรดอย่ามองเรื่องของ “มูเตลู” ว่าเป็นเรื่องของความงมงาย โดย อยากให้มองเป็นเรื่อง “ความเชื่อ-ความศรัทธา” อีกรูปแบบหนึ่ง…ที่ “อยู่คู่สังคมไทยมานาน” แล้ว และจากการที่ยุคนี้ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้ก็ทำให้ “แนวคิดมูเตลู” จึง “ถูกสนองตอบได้อย่างรวดเร็ว” เพราะคนในยุคนี้ต่างก็…

ต้องการที่พึ่งทางใจ-ต้องการที่ยึดเหนี่ยว

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ “มูเตลูเป็นเทรนด์ฮิต”

ทั้งนี้ การที่ไทยจะ “ชูจุดขายท่องเที่ยวสายมู” ขึ้นมาเป็น “อีกกลยุทธ์ดึงดูดนักท่องเที่ยว” ทาง ดร.ภูษิต ได้ให้ความเห็นว่า… ส่วนตัวนั้นมองเห็น “ความเป็นไปได้” ที่ไทยจะได้ใช้ประโยชน์ และได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้ เนื่องจาก ไทยมี “ทรัพยากรสายมู” อยู่มากมายและหลากหลาย ทั้งในเรื่องศาสนา วัฒนธรรม และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนั้นยังมีเรื่องของ “เครื่องราง-ของขลัง-วัตถุมงคล” ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวได้… และที่สำคัญ นอกจากทรัพยากรดังกล่าว ไทยยังมีเรื่องของ “สถานที่นั่งสมาธิ-คอร์สฝึกจิตใจ” ซึ่งเป็นสิ่งที่ คนยุโรปและอเมริกาให้ความสนใจ กันมาก

“ถ้าเราทำได้ดี ทำได้ถูกจุด แบบถูกต้องเหมาะสม ผมเชื่อว่า ทรัพยากรสายมูเตลูเหล่านี้จะสามารถพัฒนาให้กลายเป็นอีกหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ของไทยได้ และแน่นอนว่า…เมื่อเรื่องของการมูนี้กลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์แล้ว ก็จะช่วยทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับไทยได้อย่างมากมาย” …เป็นมุมมองจากทางนักวิชาการท่านเดิม

พร้อมกับมีการยกตัวอย่างขึ้นมาเป็น “กรณีศึกษา” เรื่องนี้ด้วยว่า… อย่างกรณี “ศาลพระพรหมเอราวัณ” นั้น ก็สะท้อนได้ชัดเจนถึง “พลังดึงดูดนักท่องเที่ยว” ที่มี “ความศรัทธา” กับศาลพระพรหมเอราวัณ จนทำให้บริเวณนี้ และพื้นที่โดยรอบ กลายเป็น “แหล่งรายได้สำคัญ” ที่ช่วย“กระตุ้นเศรษฐกิจพื้นที่” ได้เป็นอย่างดีดังนั้น ถ้าไทยจะพัฒนาพื้นที่อื่น ๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงหรือคล้ายกับศาลพระพรหมเอราวัณ ให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว-แหล่งท่องเที่ยว ด้วยการ “เชื่อมต่อกันกับแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ” กรณีนี้น่าจะทำให้ไทยและผู้ประกอบการท่องเที่ยวของไทยได้รับประโยชน์ไม่น้อย…

“จุดสำคัญคือ จะต้องสร้างเป็นแคมเปญ โดยไม่ควรทำแยกส่วน เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อกันระหว่างแหล่งท่องเที่ยวสายมู ให้ครอบคลุมทั้งหมด เช่น ไหว้พระแล้ว ก็ยังได้เที่ยวสถานที่สวย ๆ หรือได้กินของอร่อย ๆ หลังจากที่ได้ไปมูแล้ว เป็นต้น” …ทาง ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล แนะไว้…กรณี “ท่องเที่ยวสายความศรัทธา-ความเชื่อ”

จะทำให้ “ท่องเที่ยวสายมู” นี้ “ซัคเซส”

“คีย์เวิร์ด” คือ “เชื่อมโยง-ไม่แยกส่วน”

“บูรณาการสายมูกับทรัพยากรอื่น ๆ”.