ทั้งนี้ การที่ผู้ที่ชื่นชอบพรรคการเมือง-นักการเมือง กลุ่มเดียวกัน-คนเดียวกัน จะมีทีท่าแสดงออกถึงความคิดความเชื่อที่แตกต่างกันจนถึงขั้นมีวิวาทะต่อกันอย่างชัดเจนนั้น เรื่องนี้ก็นับว่าเป็น “ปรากฏการณ์” แต่ “พบไม่บ่อย” ซึ่งกับการ “ชอบนักการเมือง” ก็มี “มุมจิต” ยึดโยง…

เมื่อนำมาวิเคราะห์ผ่าน “มุมจิตวิทยา”… 

กรณีนี้ก็ “ถือเป็นปรากฏการณ์น่าพินิจ”

ยึดโยง…“สะท้อนปัจจัย-เกณฑ์” ที่ใช้??

ทั้งนี้ กับ “หลักจิตวิทยา” กับการ  “ชอบนักการเมือง” นั้น วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” พลิกแฟ้มสะท้อนต่อข้อมูลให้ลองพินิจพิเคราะห์กันอีกครั้ง…ว่าด้วยเรื่อง “การเลือกนักการเมือง” ในเชิงวิชาการที่เกี่ยวกับ “จิตวิทยาเชิงสังคม” โดยพลิกแฟ้มสะท้อนต่อข้อมูลจากบทความโดย ดร.ภัคนันท์ จิตต์ธรรม อาจารย์ แขนงวิชาจิตวิทยาสังคมพื้นฐานและประยุกต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์ https://smarterlifebypsychology.com ซึ่งให้ข้อมูลไว้น่าสนใจ เกี่ยวกับ “ปัจจัย-เกณฑ์” ที่ผู้คน “ใช้ตัดสินใจ” ใช้เพื่อเลือกลงคะแนนเสียง ที่ก็น่าจะยึดโยง “ความชอบ”

ได้มีการวิเคราะห์ไว้ถึง “เหตุปัจจัย”

ในการ “ตัดสินใจ” เลือกนักการเมือง

Corporate businessman giving a presentation to a large audience

เกี่ยวกับเรื่องนี้กรณีนี้ ทาง ดร.ภัคนันท์ ได้ระบุไว้ว่า… คำถามสำคัญของสถานการณ์นี้ก็คือ… ระหว่าง “คนที่ใส่ใจดูแล” กับ “คนที่ทำงานเก่ง” นั้นส่วนใหญ่แล้วผู้คน “มักจะเลือกแบบไหน??” และ “อะไรเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจ??” ซึ่งกับการเลือกนักการเมือง การ “ชอบนักการเมือง” นั้น ทางนักวิชาการท่านนี้ตั้งหัวข้อไว้ว่า…“ใส่ใจหรือสามารถ?…นักการเมืองแบบไหนดี?” โดยเริ่มต้นตั้งคำถามไว้ว่าจะใช้เกณฑ์ใดในการเลือกผู้แทนราษฎร?? และขยายความไว้ว่า… เมื่อตั้งคำถามนี้ คำตอบที่ได้รับมักเป็นเรื่องของการ“ใช้พรรคการเมืองเป็นเกณฑ์” หรือไม่ก็“ดูจากประสบการณ์”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักจิตวิทยาสังคมให้ความสนใจเป็นพิเศษอยู่ที่ “ปัจจัยที่มีอิทธิพล” ทั้งต่อจิตใจและประสบการณ์ทางสังคมของบุคคล ที่ทำให้คน ๆ นั้น “ตัดสินใจ” ที่จะเลือกนักการเมืองคนใดให้มาเป็นตัวแทนของตน โดยนักวิชาการท่านเดิมระบุไว้ว่า… การศึกษาเรื่องนี้พบได้บ่อยในงานวิจัยของต่างประเทศ แต่ในไทยไม่ค่อยพบการศึกษาในลักษณะนี้ ทั้ง ๆ ที่เป็นประเด็นที่ไม่เพียงนักจิตวิทยาจะสนใจ แต่นักรัฐศาสตร์ก็สนใจเช่นกัน โดย “บุคลิกภาพพื้นฐานหลัก” เป็นสิ่งที่นักจิตวิทยาสังคมใช้เป็นกรอบแนวคิดในการศึกษาเรื่องนี้ เพราะ “สัมพันธ์กับการรับรู้ของผู้คน” ที่อาจเป็นปัจจัยทำให้ตัดสินใจ

“บุคลิกภาพพื้นฐานหลัก” ที่นำมาใช้เป็น “กรอบแนวคิดในการศึกษา” มีอยู่ 2 ประเภท คือ “บุคลิกภาพที่ดูอบอุ่น” กับ “บุคลิกภาพที่ดูมีความสามารถ” โดยคนที่มีบุคลิกภาพอบอุ่นจะมีลักษณะทางสังคมเด่น ๆ เช่น ดูเป็นมิตร ดูน่าคบหา ดูซื่อสัตย์ไว้ใจได้ ขณะที่คนที่มีบุคลิกภาพดูมีความสามารถจะสะท้อนผ่านภาพลักษณ์ ดูมีความรู้ ดูเชี่ยวชาญ ดูเก่งในทักษะต่าง ๆ ซึ่งในคนคนเดียวกันนั้น บางคนอาจจะ “มีบุคลิกภาพทั้ง 2 รูปแบบ” คือทั้งดูอบอุ่นและดูมีความสามารถ

คำถามคือ… “บุคลิกภาพทั้ง 2 รูปแบบนี้มีผลอย่างไร??” ซึ่งทาง ดร.ภัคนันท์ ได้ระบุไว้ว่า… การรับรู้บุคลิกภาพผู้อื่นมีความสำคัญในแง่วิวัฒนาการ การรับรู้บุคลิกภาพในแง่ความอบอุ่น และในแง่ความสามารถ มีผลต่อการสร้างความสัมพันธ์ ซึ่งงานวิจัยของต่างประเทศได้มีการศึกษาผลของการรับรู้ความอบอุ่นและความสามารถของผู้สมัครเลือกตั้ง ในกลุ่มตัวอย่างทั้งในสหรัฐอเมริกาและในไต้หวัน ซึ่งมีการทดสอบโดยให้กลุ่มตัวอย่างดูรูปของนักการเมืองผู้สมัครเลือกตั้ง ทั้งผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งแล้ว และผู้ที่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง โดยผลการศึกษา ผลการทดสอบ-ทดลอง ก็ได้พบข้อมูลที่น่าสนใจ…

กล่าวคือ… จากการศึกษาในกลุ่มผู้ร่วมทดสอบ-ทดลอง ในสหรัฐอเมริกานั้นพบว่า… “ความสามารถของผู้สมัครมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ” และอิทธิพลร่วมของการรับรู้ความสามารถทางสังคมก็เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการสนับสนุนผู้สมัครเลือกตั้งด้วย ขณะที่ในผู้ร่วมทดสอบ-ทดลองในไต้หวันนั้นพบว่า… ความสามารถของผู้สมัครมีผลต่อการตัดสินใจเลือกก็จริง แต่… “ความชื่นชอบในตัวผู้สมัครก็มีผล” เช่นกัน …นี่เป็นผลการศึกษาวิจัยในต่างประเทศ

ทาง ดร.ภัคนันท์ จิตต์ธรรม นักวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นนักวิชาการ แขนงวิชาจิตวิทยาสังคมพื้นฐานและประยุกต์ คณะจิตวิทยา ได้ระบุไว้ด้วยว่า… การศึกษานี้อาจไม่สามารถทำนายได้ 100% เพราะการตัดสินใจของมนุษย์ซับซ้อนมากกว่า แต่ เรื่องนี้ก็ช่วย “ฉายภาพให้เห็นว่ากระบวนการทางจิตวิทยาสังคมส่งผลต่อพฤติกรรมทางการเมืองได้” ไม่มากก็น้อย โดยสิ่งที่สำคัญก็คือ… สังคมก็ควรจะต้องมีการเรียนรู้ทักษะการวิเคราะห์ “บุคลิกภาพที่นักการเมืองแสดงออกมา” ว่า “สอดคล้องกับตัวตนจริง ๆ หรือไม่??” …ทั้งนี้ เหล่านี้เป็นบางส่วนจาก “แง่มุมจิตวิทยาสังคม” ที่มีการสะท้อนไว้ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 ซึ่งการ “เลือก” ก็ย่อมยึดโยงกรณี “ชอบ” แต่อย่างไรก็ตาม…

อาจคนละเรื่องกับ “ปรากฏการณ์ด้อม”

และ ปรากฏการณ์ด้อมทะเลาะด้อม

ที่ “ทั้ง 2 แบบ…น่าพินิจ-น่าติดตาม…”.