เป็นปรากฏการณ์ “มีม” ที่เกิดขึ้นเมื่อ “คนการเมืองซีกรัฐบาลเก่าอกหักกันเป็นแถบ ๆ” จากผลเลือกตั้งที่ “ส้ม และแดง มาอันดับ 1 และอันดับ 2” ซึ่งถึงวันนี้ไม่ว่าภาพ “รัฐบาลใหม่-นายกรัฐมนตรีคนที่ 30” ปรากฏชัดแล้วหรือยัง?? อย่างไรบ้าง?? หรือต่อให้เกิดเหตุ “น่าเกลียด?-น่าชัง?” อะไรขึ้นก็ตาม…

“มีมการเมือง” ก็ “คงอื้ออึงต่อเนื่อง”

โดยที่ “ใครเป้าใหญ่??” ก็ลองตามดู…

ทั้งนี้… “ความคิด ความเชื่อ ภูมิปัญญา และวรรคทองต่าง ๆ ที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตนำมาเลียนแบบ ดัดแปลง สร้างเสริม และแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง อาจเป็นแนวตลกในลักษณะของข้อความ การ์ตูน สัญลักษณ์ คลิปวีดิทัศน์ แอนิเมชัน (animation) ฯลฯ” …นี่เป็นการให้ “คำจำกัดความ” ไว้โดย สำนักงานราชบัณฑิตยสภา กับคำว่า “มีม” หรือในภาษาอังกฤษคือ “Meme” ซึ่งเมื่อเป็น “มีมการเมือง” หรือ “Polititcal Meme” หลักใหญ่ใจความก็ย่อมเกี่ยวกับการเมือง-การเลือกตั้ง โดย “มีม-มีมการเมือง” ที่ว่านี้…เริ่มแพร่หลายเป็นที่รู้จักของสังคมไทยตั้งแต่ปี 2562

ปี 2562 ก็คือปีที่ในไทยมีการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งก่อนหน้า โดยครั้งนั้น “มีม” ก็ถูกใช้เป็น “เครื่องมือ-ภาพสะท้อนการล้อเลียน” และเป็นปรากฏการณ์ ซึ่งจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงนั้น คันธพร สาลี ในฐานะนักศึกษา หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ศึกษาค้นคว้าเมื่อปี 2564 เกี่ยวกับปรากฏการณ์ “มีม” ที่เกิดขึ้น โดยมีการจัดทำรายงานที่มีชื่อหัวข้อว่า “Meme : ภาพสะท้อนการล้อเลียนผ่านปรากฏการณ์ทางการเมืองในสังคมไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2562-พ.ศ. 2564” ซึ่งวันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลโดยสังเขป…

ในรายงานดังกล่าว…ทางผู้จัดทำได้อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเอาไว้ว่า… ปรากฏการณ์ “มีมการเมือง” เกิดจากสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะในขณะที่ “ประเด็นทางการเมือง” ต่าง ๆ กำลังเป็นกระแส ณ ตอนนั้น และได้รับความสนใจจากสังคมวงกว้าง จึงมักจะ “ถูกนำมาสร้างเป็นมีม” เพื่อให้เท่าทันเหตุการณ์ ซึ่งด้วยหลักการของมีมตั้งแต่เดิมนั้น…ก็มักจะสร้างจากเหตุการณ์ทางสังคมการเมืองที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป และสามารถนำมา “สร้างอรรถรส” ให้กับเหตุการณ์เหล่านั้น โดย “เพิ่มความตลกขบขัน” หรือเพิ่มข้อความประกอบภาพ เพื่อจะ “บรรยายภาพเหตุการณ์ผ่านมีม”…

ให้ “สื่อความหมายได้ชัดเจนมากขึ้น”

กับ “มีมการเมือง” หรือ “Polititcal Meme” นั้น ในรายงาน “Meme : ภาพสะท้อนการล้อเลียนฯ” ได้ระบุไว้ว่า…คือ “การซ่อนความตรงไปตรงมาของการเสนอความคิดทางการเมือง” และมีหน้าที่ “ทำให้เกิดความรู้สึกหรือปฏิกิริยาทางการเมือง” ทำให้เกิดการรับรู้และความเข้าใจในประเด็นทางการเมืองที่ผู้ส่งสารต้องการจะสื่อ อาจมีรูปภาพทางการเมือง หรือรูปภาพอื่น ๆ ที่ถูกนำมาใช้ในการกล่าวถึงเรื่องราวทางการเมือง และอาจจะมีคำบรรยายเพื่อให้ความหมายชัดเจนยิ่งขึ้น ที่สำคัญ…กับ “มีมที่เป็นไวรัล” จะสามารถ “ปลูกฝังความรู้สึกและบรรทัดฐานเกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง” แก่สังคม…

ส่วนการเติบโตแพร่หลายของ “มีมการเมือง” ในสังคมไทยในรายงานวิเคราะห์ไว้ว่า…การใช้มีมการเมือง เริ่มเติบโตและเป็นที่นิยมพร้อม ๆ กับการเติบโตอย่างแพร่หลายของการใช้ “สื่อสังคมออนไลน์” เคลื่อนไหวทางการเมือง เนื่องจากเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต สามารถช่วยให้ผลิตซ้ำและเผยแพร่ข้อมูลได้รวดเร็วมากกว่าในอดีต ส่งผลให้ “มีมถูกใช้ส่งต่อแนวคิด” ได้ง่าย และทำให้มีมสามารถทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสื่อสารทางการเมือง หรือเผยแพร่แนวคิดทางการเมืองได้เป็นอย่างดี

ขณะที่รูปแบบการนำเสนอผ่าน “มีมการเมือง” นั้น ได้มีการระบุไว้ว่า…มีการนำเสนอผ่านรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งหลัก ๆ ที่มี ได้แก่ “การใช้ภาพทางการเมือง” ที่มักใช้ ภาพบุคคล มากที่สุด เพื่อต้องการให้เห็นภาพสถานการณ์จริง โดยจะเน้นการแสดงออกของบุคคลนั้น ๆ อาทิ ลักษณะกายภาพ ท่าทาง สีหน้าอารมณ์ ผ่านองค์ประกอบต่าง ๆ ภายในมีม, “การใช้ภาพร่วมกับข้อความ” เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่มีมต้องการจะสื่อ โดยให้ผู้ดูตีความหมายได้อย่างชัดเจน มากกว่าจะมองเพียงแค่ภาพ, “การใช้ภาพทั่วไปร่วมกับข้อความทางการเมือง” ก็เป็นอีกรูปแบบที่มีการสะท้อนต่อสังคม ซึ่งอาจจะใช้ภาพของบุคคลที่ไม่ได้เกี่ยวข้องทางการเมือง แต่จะใช้ข้อความบรรยายเพื่อต้องการที่จะสื่อถึงเรื่องราวทางการเมือง และเพื่อ…

เน้นให้ “มีม” ดู “มีอรรถรส” มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ คันธพร สาลี สรุปทิ้งท้ายไว้ในรายงาน “Meme : ภาพสะท้อนการล้อเลียนผ่านปรากฏการณ์ทางการเมืองในสังคมไทยฯ” ด้วยว่า…กระบวนการสร้าง “มีมการเมือง” มักขึ้นอยู่กับประเด็นการเมืองเป็นหลักโดยนำภาพเหตุการณ์มาสื่อเรื่องราวผ่านข้อความบรรยายภาพในเชิง “ล้อเลียน-เสียดสี” เสมือนเป็นการสร้างความหมายใหม่โดยเน้น “สร้างอารมณ์ขัน” กลบเกลื่อนความหมายแฝง แต่ก็ทำให้ผู้รับสารรับรู้เรื่องราวทางการเมืองนั้นได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น มีมการเมืองจึงเป็นอีก “ช่องทางสำคัญในการสร้างการรับรู้ทางการเมือง” อีกทั้งยัง “สะท้อนอุดมการณ์” และ “ระบายอารมณ์” ที่เกิดขึ้น…

“มีมการเมือง” หลังเลือกตั้งก็ “สะท้อน”

ก็เป็นการสะท้อน พร้อมกับ “ระบาย”…

“เป้าใหญ่” ก็คง…“คนที่ขำไม่ออก??”.