ทั้งนี้ เคยมีการสำรวจพบว่า…ในแต่ละปี 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุไทยเกิดอุบัติเหตุพลัดตกหกล้ม ซึ่ง ส่วนใหญ่มักเกิดจากการลื่น การสะดุด การก้าวพลาด และพบอีกว่า…มีปัจจัยจากการที่ผู้สูงอายุพักอาศัยในสภาพบ้านที่ไม่ปลอดภัย ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องค้นหามาตรการ-แนวทางเพื่อลดปัญหา และหนึ่งในนั้นคือการนำ “นวัตกรรมเพื่อป้องกันการหกล้ม” มาใช้…

นี่น่าจะเป็นอีกแนวทางที่ดีต่อผู้สูงอายุ

ที่ไม่เพียงช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษา

ยัง “ส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย” ด้วย…

เกี่ยวกับ “นวัตกรรมป้องกันการหกล้ม” ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มีข้อมูลมาเล่าสู่ในวันนี้ มีที่มาจากโครงการ “ชุดเอ็กโซสูท (Exosuit)” ที่ใช้ชื่อว่า“เรเชล (Rachel)” ผลงานการพัฒนาของ ทีมวิจัยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่มี ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยการออกแบบเชิงวิศวกรรมและการคำนวณ เอ็มเทค เป็นหัวหน้าคณะนักวิจัย ซึ่งเป็น ชุดบอดี้สูทที่เป็นตัวช่วยพยุงกล้ามเนื้อให้กับผู้สูงอายุ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี และเพื่อ “ป้องกันอุบัติเหตุพลัดตกหกล้ม” ให้กลุ่มผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ ความเป็นมางานวิจัยนวัตกรรมดังกล่าวนี้ ดร.ศราวุธ หัวหน้าคณะนักวิจัย “ชุดเอ็กโซสูท-ราเชล” แจกแจงข้อมูลไว้ โดยสังเขปมีว่า…ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสมบูรณ์ไปแล้วเมื่อปี 2564 สิ่งที่ตามมาคือปัญหาค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข โดยมีการคาดการณ์ว่าอีก 20 ปีข้างหน้าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของไทยจะพุ่งไปถึง 2.13 ล้านล้านบาท หรือราว 10% ของจีดีพี โดยหนึ่งในปัญหาสุขภาพที่สำคัญของผู้สูงอายุคือ “การพลัดตกหกล้ม” ซึ่งข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ระบุว่า… การเคลื่อนไหวทางกายภาพของมนุษย์นั้น ถือเป็นสิ่งที่สร้างไม่ได้ จึงทำได้แต่เพียงส่งเสริม รักษา และฟื้นฟู

“เมื่อแก่ตัว มวลกล้ามเนื้อจะลดลง ควบคู่กับปัญหาสายตา ระบบประสาท ทำให้การตอบสนองต่าง ๆ ช้าลง ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีผลโดยตรงต่อการทรงตัว ทำให้เสี่ยงต่ออุบัติเหตุพลัดตกหกล้ม หรือมีอุปสรรคต่อการทำกิจกรรมในชีวิต จึงจำเป็นจะต้องทำให้ผู้สูงอายุคงความแข็งแรงของร่างกายไว้ให้ยาวนานที่สุด” …หัวหน้าคณะวิจัยระบุไว้

“บอดี้สูท” ดังกล่าวนี้ ดร.ศราวุธ ให้ข้อมูลไว้ว่า… ชุดบอดี้สูท “เรเชล” วิจัยและพัฒนาขึ้นเพื่อผู้สูงอายุที่ยังสามารถดูแลตัวเองได้โดยเฉพาะ ซึ่ง “ความพิเศษ” ของชุดคือ…ช่วยในการเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ โดย “มีกล้ามเนื้อจำลองจากพลังงานลม” ที่ติดตั้งในชุด “เพื่อทำหน้าที่ซัพพอร์ต” หรือ “เสริมแรงในการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ” กล้ามเนื้อจำลองในชุดได้จำลองการทำงานของกล้ามเนื้อ เพื่อให้ผู้ที่สวมใส่เคลื่อนไหวได้เป็นธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการลุกขึ้นยืน เดินขึ้นบันได หรือยกของหนัก ทำให้ลดความเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บกล้ามเนื้อกับกระดูก และเป็นการรักษามวลกล้ามเนื้อและกระดูกเอาไว้

อนึ่ง ปัจจุบันในต่างประเทศก็มีการพัฒนาและใช้งานชุดบอดี้สูทในลักษณะนี้ แต่พบว่า…องค์ประกอบในหลาย ๆ ส่วนนั้นอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์กับคนไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของขนาด รูปทรง หรือความเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ เหล่านี้จึงเป็นโจทย์ให้ทีมวิจัยไทยมีการพัฒนา “บอดี้สูทสำหรับคนไทย” ขึ้นมา ซึ่งนอกจากจะเป็นตัวช่วยให้กับผู้สูงอายุไทยแล้ว ในอนาคตยังสามารถทำตลาดไปสู่ประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียนที่มีลักษณะความต้องการที่ใกล้เคียงกันได้อีกด้วย

ทาง ดร.ศราวุธ ยังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ชุดบอดี้สูท ชื่อ “เรเชล” นี้ไว้อีกว่า… ได้ถูกออกแบบให้เหมาะสมกับคนไทย ซึ่งขั้นตอนในการวิจัยนั้น ในระยะแรกชุดรุ่นแรกมีชื่อเรียกว่า รุ่นแอคทีฟ (Active) ซึ่งก็เป็นรุ่นที่มีการใช้ระบบพลังงานลมเพื่อสร้างกล้ามเนื้อจำลอง แต่ยังมีข้อด้อยคือชุดมีน้ำหนักมาก ต่อมาจึงได้พัฒนาปรับปรุงต่อยอดมาเป็น รุ่นออลเดย์ (All-day) โดยพัฒนานวัตกรรมกล้ามเนื้อจำลองด้วยการตัดเย็บและเลือกวัสดุผ้าที่มีน้ำหนักเบา แต่ยังคงคุณสมบัติในการทำงาน และมีขนาดเหมาะสม จนสามารถสวมใส่เสื้อผ้าทับได้ ก่อนที่ต่อมาจะนำมาพัฒนาเพิ่มจนเกิดเป็น “ชุดเรเชล” รุ่นออลเดย์

“ชุดนี้จะใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งจะส่งข้อมูลมายังแอปพลิเคชันที่ถูกพัฒนาขึ้น เพื่อส่งสัญญาณให้ผู้สวมใส่มีการเคลื่อนไหวร่างกายที่ถูกต้อง ซึ่งระบบจะแจ้งเตือนหากใช้ท่าทางที่ไม่เหมาะสม ผิดไปจากธรรมชาติ ทำให้ช่วยลดความเสี่ยงต่อการหกล้ม และการบาดเจ็บของกระดูกกับกล้ามเนื้อ” …หัวหน้าทีมวิจัยระบุ

ทั้งนี้ นอกจาก ชุดบอดี้สูท “เรเชล” แล้ว ขณะนี้ เอ็มเทค สวทช. ยังกำลังพัฒนาอุปกรณ์และนวัตกรรมอื่น ๆ อาทิ ชุดพยุงหลัง “รอส (Ross)” ซึ่งพัฒนาขึ้นสำหรับภารกิจทางการแพทย์ ช่วยลดภาระของกล้ามเนื้อส่วนหลังและความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บจากการปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับบุคลากรการแพทย์ เช่น พยาบาล หรือเวรเปล รวมถึงบุคคลที่ต้องดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ลดความเสี่ยงจากการดูแลผู้ป่วยติดบ้าน-ติดเตียง ผู้สูงอายุ โดยในอนาคตคาดว่าจะสามารถต่อยอดพัฒนาไปถึงระดับการผลิตในเชิงพาณิชย์ …เพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงนวัตกรรมเพื่อสุขภาพได้ง่ายขึ้น

“นวัตกรรมสุขภาพ” เหล่านี้ “น่าสนใจ”

น่าลุ้นให้ “คนไทยได้ใช้ด้วยต้นทุนต่ำ”

เป็นการ “รองรับสังคม (ไทย) สูงวัย”.