ทั้งนี้ ใกล้เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเพื่อชิงคะแนนเสียงประชาชนคนไทยในการ “เลือกตั้ง 2566” นอกจากบรรดา “นักการเมือง” พรรคต่าง ๆ จะซัดกันนัวเนียยิ่งขึ้นแล้ว กับ “ประชาชน” นั้นก็เกิดคลิปไวรัล “เดือด!!” ระหว่างแฟนคลับแต่ละพรรคแต่ละกลุ่มการเมือง ที่มี “แนวคิด-ความเชื่อ-ความชอบ…แตกต่างกัน”…

แม้จะเป็นเรื่องปกติในสังคมที่มีเสรีภาพ

ที่ย่อมมีการแสดงความคิดเห็นที่ต่างกัน

แต่เมื่อ “ขัดแย้ง” ต้องระวัง-ต้องเท่าทัน!!

ว่าด้วยเรื่อง “ความขัดแย้ง” วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็จะสะท้อนต่อข้อมูลในทางวิชาการ ผ่าน “มุมสังคมวิทยา” ที่ได้มีการวิเคราะห์และสะท้อนประเด็นนี้ไว้น่าสนใจ สะท้อนปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ในเรื่องต่าง ๆ โดยไม่ได้โฟกัสเฉพาะแค่ปมขัดแย้งที่เกิดจากแนวคิดทางการเมืองที่แตกต่างเท่านั้น ซึ่งทาง คมลักษณ์ ไชยยะ ได้วิเคราะห์และสะท้อนเรื่องนี้ไว้ในบทความชื่อ “ความขัดแย้งแตกแยกในสังคมไทยจากมุมมองทางสังคมวิทยา” โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจดังนี้…

“ความขัดแย้ง” เป็น “สภาวะทางสังคมที่ดำรงอยู่ปกติ” เพราะไม่มีสังคมใดที่จะปราศจากความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นสังคมดั้งเดิมหรือสังคมสมัยใหม่ก็ตาม ซึ่งภายในโครงสร้างสังคมที่กลุ่มสังคมระดับต่าง ๆ ถูกยึดโยงเข้าไว้ด้วยกันนั้น ก็ล้วนแต่มีความขัดแย้งอยู่ทั้งสิ้น อย่างไรก็ดี ในบางครั้งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในกลุ่มสังคมก็อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์แก่สังคมโดยรวมได้เช่นกัน ตราบที่ความขัดแย้งนั้นถูกจำกัดขอบเขตให้อยู่ภายใต้กฎระเบียบที่สังคมกำหนด แต่ในทางกลับกัน ความขัดแย้งอาจจะนำไปสู่ปัญหาได้…เมื่อถูกแปรสภาพกลายเป็น “ความรุนแรง”…

นี่เป็นแง่มุมที่น่าจะได้พินิจพิจารณา…

ความขัดแย้ง…“เป็นได้ทั้งข้อดี-ข้อเสีย”

ทาง คมลักษณ์ ยังได้มีการฉายภาพให้เห็นว่า… “ความขัดแย้ง” นั้น “เป็นได้ทั้งพลังแห่งการสร้างสรรค์และการทำลาย” โดยได้มีการขยายความเรื่องนี้ไว้ว่า…ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์นั้น ไม่เคยว่างเว้นความขัดแย้ง เพราะมนุษย์มิได้ถือกำเนิดมาเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ในมุมการเป็นข้อดี-พลังการสร้างสรรค์ แม้ความแตกต่างนี้มักจะเป็นบ่อเกิดความขัดแย้ง แต่ก็มีบ่อยครั้งที่ความขัดแย้งได้กลายเป็น “พลังทะยานชีวิต” ของมนุษย์ โดยการทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้น “ความขัดแย้ง” จึงถือเป็นสภาวะปกติ หรือ “ธรรมชาติทางสังคม” อย่างหนึ่ง และในบางครั้ง “ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม”…

อาจกลายเป็น “พลังทางสังคมที่สำคัญ”

ที่ก็ “นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้”

แต่กระนั้น จากการที่ความขัดแย้งมีหลายระดับ ในบางสถานการณ์ “ความขัดแย้ง” ก็อาจกลายเป็น “แรงกดดันตึงเครียด” ที่อาจส่งผลกระทบต่อบุคคลระดับต่าง ๆ ได้ ขึ้นกับขอบเขตความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ที่อาจขยายแผ่กว้างจากขอบเขตสังคมที่จำกัดออกไปสู่สังคมที่มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากได้ นอกจากนั้น ในสังคมดั้งเดิมมักมองความขัดแย้งเป็นสภาพไม่พึงประสงค์ เป็นปัจจัยนำไปสู่การระส่ำระสายในสังคม ซึ่งที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะความกลัวว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจะทำให้ระบบสังคมเสียระเบียบ (social disorganization) จนเกิดสภาพล้มเหลว และนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ ตามมา จึงทำให้เกิด “วาทกรรมส่งเสริม” ให้ทุกคน “สามัคคีกัน” อยู่เสมอ จนส่งผลทำให้ “ภาพความขัดแย้ง” กลายเป็น “สิ่งไม่ดี-ไม่ควร”…

คนส่วนใหญ่มักมองความเป็นเอกภาพ

ถือเป็น “อุดมคติสำคัญที่สุด” ของสังคม

ถามว่า…“แล้วจะอยู่ร่วมกันอย่างไรในความขัดแย้ง??โดยเฉพาะในสังคมสมัยใหม่ ประเด็นนี้ คมลักษณ์ ไชยยะ ระบุไว้ว่าในโลกสมัยใหม่ที่มนุษย์เต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย ที่ไม่เป็นหนึ่งเดียว การยอมรับระบบคุณค่ากลุ่มตนเองฝ่ายเดียวเป็นเรื่องที่ไม่อาจทำได้ เพราะเมื่ออีกฝ่ายไม่ยอมรับ ก็นำสู่ปัญหาขัดแย้งเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดปัญหาที่ไม่มีวันจบ  จึงต้องหา “บรรทัดฐาน-หลักการ” ที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมได้ เพื่อเป็น “ทางออก” โดยอาจนำแนวทางต่าง ๆ มาใช้ ดังนี้…

“เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ผู้อื่นอย่างเท่าเทียม” ละทิ้งการยึดถือตัวตนและอคติต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เป็นข้ออ้างในการละเมิดกัน, “อดทนต่อความแตกต่าง” เพราะโลกสมัยใหม่ความแตกต่างบุคคลมีสูง ที่บางครั้งอาจทำให้อึดอัด ซึ่งต้องพยายามเปิดใจยอมรับ รู้จักอดกลั้นในความต่างจากสิ่งที่ตัวเองคุ้นชินให้มากขึ้น, “สร้างวัฒนธรรมการถกเถียงให้เป็นสิทธิเสรีภาพ” เปลี่ยนทัศนคติเชิงลบต่อการวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่ตรงกันให้เป็นเรื่องปกติ และ “สร้างบรรทัดฐานทางสังคมให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยในทุกระดับ” ที่แม้จะมีความขัดแย้งไม่พอใจกัน แต่ก็ต้องไม่ทำลายระเบียบกติกา…

“ขัดแย้ง” ย่อมเกิดได้ “ไม่ใช่เรื่องแปลก”

“ศึกเลือกตั้ง” นั้น “มีขัดแย้งก็ธรรมดา”

สำคัญคือ “อย่าให้เป็นความรุนแรง!!”.