โดยวันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็มีข้อมูลเกี่ยวกับภาคเกษตรไทยในยุคร้อนจัดสาหัสสากรรจ์มานำเสนอให้พิจารณากัน…

แม้เป็นช่วงร้อนจัดแต่ก็ “มีปัจจัยเอื้อ”

ทำเกษตร “น้ำยังดี” จึง “อยู่ในเกณฑ์ดี”

“แรงงานภาคเกษตร” ก็ “คงพอยิ้มได้?”

ทั้งนี้ “เนื่องจากปริมาณฝนตกสะสมตลอดปีที่ผ่านมา ทำให้มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและตามแหล่งน้ำธรรมชาติเพียงพอสำหรับการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์” …นี่เป็นส่วนหนึ่งจากการระบุไว้โดย ฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร หรือ สศก. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีการระบุไว้อีกว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 1 ปี 2566 นี้ขยายตัวร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากเพราะน้ำยังดี “ราคาก็พอจะดี” ด้วย

ลงลึกในไตรมาส 1 ปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่แล้วโดยแยกแยะเป็นรายสาขา… สาขาพืชขยายตัวร้อยละ 7.9 พืชที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปรัง อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ลำไย ทุเรียน มังคุด เงาะ อย่างไรก็ตาม พืชที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวนาปี เนื่องจากเกษตรกรบางส่วนลดการบำรุงดูแลเพราะต้นทุนทางการเกษตรที่สูงขึ้น, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากเกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนปลูกพืชชนิดอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า, มันสำปะหลัง เนื่องจากฤดูฝนปีที่แล้วพื้นที่ปลูกบางส่วนได้รับความเสียหายจากอุทกภัยน้ำท่วมขัง พื้นที่ปลูกลดลง ผลผลิตไตรมาส 1 ปีนี้จึงลดลง

จากพืชดูกันต่อที่สัตว์… ภาคเกษตรสาขาปศุสัตว์ขยายตัวร้อยละ 0.8 สินค้าปศุสัตว์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ได้แก่ ไก่เนื้อ ที่มีการขยายการผลิตรองรับความต้องการตลาดทั้งในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ และประเทศผู้ผลิตหลายประเทศประสบปัญหาโรคไข้หวัดนก, ไข่ไก่ ผลผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เพราะเกษตรกรมีการบริหารจัดการปริมาณการผลิตที่เหมาะสมกับความต้องการบริโภค, สุกร มีความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมีผลผลิตเพิ่มจากการที่มีการป้องกันและควบคุมความปลอดภัยทางชีวภาพภายในฟาร์มสุกรมากขึ้น, น้ำนมดิบ ผลผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เพราะเกษตรกรมีการดูแลโคนมที่ดีขึ้น ประกอบกับการควบคุมโรคลัมปีสกินที่ดี ทำให้มีจำนวนแม่โคให้นมเพิ่มขึ้น

เกษตรด้านพืชและสัตว์ก็มีทั้งที่เพิ่ม-ลด

แต่ “ในภาพรวมในยุคร้อนจัดก็ยังโอเค”

อย่างไรก็ตาม ดูกันที่สาขาประมง แม้ กุ้งขาวแวนนาไม ผลผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพราะเกษตรกรมีการขยายพื้นที่เพาะเลี้ยง และปรับเพิ่มจำนวนลูกพันธุ์และลงลูกกุ้งมากกว่าช่วงที่ผ่านมา แต่ ปลานิลและปลาดุก ผลผลิตลดลง เนื่องจากภาวะต้นทุนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะค่าอาหาร ทำให้เกษตรกรชะลอการเลี้ยง ลดปริมาณการปล่อยลูกปลา ขณะที่ สัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือ ก็มีปริมาณลดลง เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เป็นต้นทุนการผลิตหลักของการทำประมงทะเลนั้นปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้น ในภาพรวมไตรมาส 1 ปี 2566 นี้ เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่ผ่านมา สาขาประมงหดตัวร้อยละ 0.5

ดูรายสาขากันต่อ…สาขาป่าไม้ขยายตัวร้อยละ 0.7 โดย ไม้ยูคาลิปตัส เพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้เป็นวัตถุดิบผลิตเยื่อกระดาษ โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่นและจีน, ถ่านไม้ เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของภาคบริการ ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และมีการส่งออกเพิ่มขึ้นไปยังจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้, ครั่ง ก็เพิ่มขึ้น จากสภาพอากาศที่ถือว่าเอื้ออำนวย รวมถึงมีการส่งเสริมการเลี้ยงเพิ่มขึ้น ขณะที่ รังนก เพิ่มขึ้นตามความต้องการของอุตสาหกรรมแปรรูปรังนก และก็มีการส่งออกไปจีนต่อเนื่อง ถัดมา… สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัวร้อยละ 4.0 ซึ่งก็เพราะน้ำยังดี ราคาสินค้าเกษตรอยู่ในเกณฑ์ดี เกษตรกรจึงมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกและดูแลการผลิตมากขึ้น จึงทำให้ มีกิจกรรมการจ้างงานบริการเตรียมดินและเก็บเกี่ยวผลผลิตเพิ่มขึ้น เช่น ข้าว อ้อย

“ราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดก็อยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง ส่งผลจูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก เพิ่มการผลิต ประกอบกับมีการสนับสนุนการนำแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาใช้ในการพัฒนาด้วย” …นี่เป็นอีกส่วนจากการระบุไว้โดย ฉันทานนท์ เลขาธิการ สศก. กับทิศทางที่ดีของ “ภาคเกษตรไทย” ไตรมาส 1 ปี 2566 ที่ แนวโน้มคาดว่าตลอดทั้งปีจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.0-3.0 เมื่อเทียบกับปี 2565 อย่างไรก็ตาม ก็ได้มีการระบุไว้ด้วยว่า “ภาคกระดูกสันหลังของไทย” ก็ถือว่า “มีปัจจัยเสี่ยง” ทั้งจาก ความแปรปรวนของสภาพอากาศ, การระบาดของโรคพืชและสัตว์, ต้นทุนปัจจัยการผลิตต่าง ๆ ที่สูงขึ้น, อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง, ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน, เศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัว และ สงครามทางการค้า รวมถึง สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยืดเยื้อ…ที่แม้ไทยไม่เกี่ยวแต่ก็ได้รับผลกระทบด้วย

ทั้งนี้ เมืองไทยต้นปี 2566 นี้สภาพอากาศนั้น “ร้อนขั้นสาหัส” แต่ก็ยังดีที่ “ภาคเกษตร” ซึ่งหมายรวมทั้งคนที่เป็น “เกษตรกร” คนที่เป็น “แรงงงานภาคเกษตร” ในภาพรวมก็ยัง “พอจะมีสถานการณ์ที่ดีให้ชื่นใจคลายร้อนได้บ้าง” ซึ่ง…

ต้อง “เอาใจช่วยให้ดีต่อเนื่อง-ดีขึ้นอีก”

อากาศร้อนพอทน “คนก็ช่วยให้จริง”

“โดยเฉพาะที่วิ่งหาเสียงกันอื้ออึง!!”.