ทั้งนี้ กระแสเรื่องนี้เกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กับ “มิวสิกวิดีโอเพลงฮิต” เพลงหนึ่ง ก่อนที่จะกลายเป็นปรากฏการณ์ต่อเนื่อง โดยมีคนดัง-คนมีชื่อเสียง ดารา-ศิลปิน พร้อมใจกัน “เล่นกับกระแส” เรื่องนี้กันอย่างล้นหลาม อย่างไรก็ตาม จากกระแส-จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้…วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มีข้อมูลบางแง่มุมมาสะท้อนต่อให้พิจารณากัน…

มี “แง่มุมน่าคิดทางสังคม-จิตวิทยา”

โดยมี “คีย์เวิร์ด” คำว่า “นอสทัลเจีย”

นำมาใช้อธิบายถึงการ “โหยหาอดีต”

ทั้งนี้ ถ้าถึงขั้น “โหยหาอดีต” เรื่องนี้ทาง “จิตวิทยา” ก็ได้ให้ความสนใจ โดยในแง่มุมจิตวิทยานั้น จันทมา ช่างสลัก ได้จัดทำบทวิเคราะห์-บทความที่เกี่ยวโยงคำว่า “นอสทัลเจีย (Nostalgia)” ซึ่งเผยแพร่ไว้ทาง www.istrong.co ใช้ชื่อหัวข้อว่า “เหตุผลที่เราโหยหาอดีต และวิธีรับมือเมื่อความคิดถึงทำร้ายเรา” โดยได้มีการอธิบายไว้ว่า… “ภาวะโหยหาอดีต” หรือ “Nostalgia” คือ สภาวะทางจิตใจที่คิดถึงเหตุการณ์ในอดีต หรือบุคคลที่เคยรู้จักในอดีต อย่างรุนแรง จนกระทบต่อความรู้สึกในปัจจุบัน โดยเคยเข้าใจกันว่าภาวะนี้มักจะเกิดขึ้นเฉพาะในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่สูญเสียบุคคลที่รักไปกะทันหัน…

แต่ปัจจุบันพบว่า “วัยผู้ใหญ่ทุกเพศ”…

ก็ “สามารถที่จะเกิดภาวะนี้ได้” เช่นกัน

อนึ่ง ในบทความโดย จันทมา ยังระบุถึงภาวะนี้ไว้อีกว่า… ในทางจิตวิทยาเกี่ยวกับ “ภาวะโหยหาอดีต” นั้น มีการศึกษาอย่างจริงจังเมื่อปลายศตวรรษที่ 17 หลังจากผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาได้พบอาการประหลาดในทหารรับจ้างกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีอาการเหนื่อยล้า นอนไม่หลับ หัวใจเต้นผิดปกติ อาหารไม่ย่อย และมีไข้ขึ้นสูง โดยสาเหตุของอาการป่วยไม่ได้เกิดจากสภาวะร่างกาย แต่เกิดจากสภาวะจิตใจที่โหยหาอดีต เช่น การคิดถึงบ้านเกิด การคิดถึงความสงบสุขก่อนช่วงสงคราม และต่อมาผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาจึงได้มีการยกระดับภาวะนี้ขึ้นมา เทียบเท่าภาวะซึมเศร้า โดยเฉพาะในผู้ที่เกิดภาวะนี้แล้ว…

“เกิดความรู้สึกเชิงลบจนกระทบชีวิต”

เพราะ…“ภาวะโหยหาอดีต-Nostalgia”

สำหรับผู้ที่เกิด “ความรู้สึกเชิงลบ” ขณะที่มี “ภาวะ Nostalgia” หรือ “ภาวะโหยหาอดีต” นั้น ในบทความดังกล่าวได้มีคำแนะนำไว้ว่า… หากเกิดความรู้สึกที่เรียกว่า “ถูกความคิดถึงทำร้าย” เช่น คิดถึงเรื่องราวหรือบุคคลในอดีตแบบ ปล่อยวางไม่ได้ จนทำให้ รู้สึกเป็นทุกข์อย่างมาก และกระทบกับการใช้ชีวิต กรณีนี้ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาได้แนะนำ “วิธีรับมือ” ไว้ อาทิ… มองหาความเชื่อมโยงด้านบวกของอดีตและปัจจุบัน, พยายามใช้เวลาในปัจจุบันให้คุ้มค่า, ใช้เวลาไปกับการสร้างประโยชน์ให้สังคม และอีกวิธีคือการใส่ใจคนที่อยู่กับเราในปัจจุบัน …นี่เป็นคำอธิบาย พร้อมกับคำแนะนำในทางจิตวิทยา

เพื่อ “รับมือภาวะโหยหาอดีต” ที่เกิดขึ้น

ในผู้ที่เกิด “ผลกระทบจาก Nostalgia”…

ทั้งนี้ ใน วารสารวิชาการ “ปาริชาติ” ฉบับที่ 34 ประจำเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 ที่จัดทำโดย มหาวิทยาลัยทักษิณ ทาง ภูริณัฐ พฤกษ์เนรมิตร ก็ได้ระบุถึง “Nostalgia” ไว้ว่า… เป็นสภาวะหลังสมัยใหม่ (Postmodernity) จากการที่เกิดความแปรปรวนขึ้นในระบบคุณค่า จนเกิดการทับซ้อนทางสังคม โดยมีนัยถึงเรื่องอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมมนุษย์ ที่ ต้องการนำเอาอดีตกลับมา หรืออยากสร้างอดีตให้กลับมาอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งแบ่งได้ 4 ลักษณะ คือ 1.การโหยหาวิถีชนบท 2.การโหยหาความรู้สึกวัยเยาว์ 3.การโหยหาความรุ่งเรืองในอดีต 4.การโหยหาสังคมที่พลัดพราก

…นี่เป็น “ลักษณะการโหยหาอดีต” ที่พบ

Old man holding book, crafting memories indoors generated by artificial intelligence

อย่างไรก็ดี นอกจาก “ภาวะโหยหาอดีต” นี้จะเป็นเรื่องของอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมแล้ว ก็ได้มีการนำภาวะนี้ไป “ใช้ประโยชน์” ในมิติต่าง ๆ ได้ด้วย เช่น… เพื่อเผชิญหน้ากับวิกฤติทางอัตลักษณ์ ที่เป็นผลซึ่งเกิดจากสภาวะสังคมหลั

สมัยใหม่ ที่ทำให้ผู้คนในสังคมไม่อาจสรุปหรือนิยามได้แน่ชัดว่าตนเองเป็นใคร, เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะทางจิต ด้วยการนำความสุขที่เคยรู้สึกในอดีตกลับมาทำให้เกิดความสบายใจ, เพื่อรื้อฟื้นมรดกทางวัฒนธรรม โดยการนำอดีตมาเชื่อมต่อกับยุคสมัยปัจจุบัน และอีกอย่างคือ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ด้วยการทำให้เกิดกระแสท่องเที่ยวแบบโหยหาอดีต เป็นต้น

ในช่วงท้ายบทความในวารสารดังกล่าวข้างต้น ทาง ภูริณัฐ ยังได้ตั้ง “ข้อสังเกต” เกี่ยวกับ “Nostalgia-ภาวะโหยหาอดีต” ไว้ว่า… ด้วยโลกปัจจุบันมนุษย์มักจะ “สร้างชีวิตในโลกเสมือนจริง” ขึ้นมา กรณีนี้จะเป็น “ปัจจัยสำคัญ” กระตุ้นให้ “ผู้คนสมัยใหม่เกิดภาวะโหยหาอดีตมากขึ้น” ด้วยหรือไม่?? …ซึ่ง…จากกระแสฮิต “Y2K” กับข้อสังเกตนี้ “ก็น่าคิด??”

ยุคนี้เกิดปรากฏการณ์ “โพสต์รูปอดีต”

มุมหนึ่งนั้น “สะท้อนอารมณ์สร้างสุข”

แต่ “โหยหาอดีตมาก…ก็ระวังทุกข์!!”.