เพลงพรรคการเมือง ก็มักจะเป็นอีกสิ่งที่ “ปรากฏเจื้อยแจ้ว” ขึ้นด้วย… ทั้งนี้ กับศึกเลือกตั้งในไทยครั้งใหม่นั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีบางพรรคปล่อยเพลงปล่อยมิวสิกวิดีโอหาเสียงออกมา แล้วก็ถูกยื่นตรวจสอบว่าเข้าข่ายฝ่าฝืนระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยวิธีการหาเสียงหรือไม่อย่างไร?? ซึ่งฝ่าฝืนหรือไม่ฝ่าฝืน นั่นก็ว่ากันไป… ที่แน่ ๆ คือ “เพลง…ยังคงถูกใช้ทางการเมือง”… 

“การเมือง” กับการ “ใช้สัญลักษณ์”…

“เพลง-ดนตรี” นั้น “ยังคงเป็นส่วนหนึ่ง”

ทั้งนี้ ว่าด้วยเรื่องการนำ “เพลง-ดนตรี” มาใช้ในฐานะ “เครื่องมือทางการเมือง” อย่างหนึ่งนั้น… ก็มีแง่มุมน่าสนใจ ซึ่งไม่เพียงเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการ “อ้อนหาเสียงเลือกตั้ง” เท่านั้น…กับการ “ชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง” กับ “ม็อบไล่” ก็มีการใช้ โดยในไทยที่ผ่าน ๆ มา โดยเฉพาะเมื่อครั้งที่มีปรากฏการณ์ม็อบคนรุ่นใหม่ ก็มีการใช้เพลง-ใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือสำคัญ ซึ่งใช้ทั้ง “เพลงเก่า” ที่ในอดีตเคยมีการใช้ในการชุมนุมทางการเมืองหลาย ๆ ครั้ง และยังมี “เพลงที่แต่งขึ้นใหม่” ด้วย ซึ่งนี่ก็สะท้อนถึง “ความสำคัญ” ของ “เพลง-ดนตรี” ที่ก็ “ผูกโยงอยู่กับการเมือง” ในฐานะ “เครื่องมือสื่อสารที่มีอิทธิพล” โดยทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะพลิกแฟ้มนำเสนอเพื่อสะท้อน “พัฒนาการที่สำคัญ” ของเรื่องนี้กรณีนี้…

ย้อนดูกรณี “เพลงม็อบทางการเมือง”…

ก่อน “เพลงหาเสียงเลือกตั้ง” เซ็งแซ่อีก

อนึ่ง หากดูกันที่ “เพลง-ดนตรี” ในมุมที่ก็ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือสื่อสารที่สำคัญของม็อบ-การชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมือง กับบางบทเพลงนั้น แม้จะเป็น “เพลงเดียวกัน” แต่ก็มีการนำมาใช้ในเหตุการณ์ชุมนุมที่มี “จุดยืนแตกต่างกัน” ได้แบบไม่น่าเชื่อ!! ซึ่งที่ถือเป็น “เพลงชุมนุมยอดนิยม” ที่มีการใช้บ่อย ๆ ก็จะมีอาทิ… เพลง Do You Hear the People Sing? ที่มาจากละครเวทีและภาพยนตร์คลาสสิกเรื่อง Les Misérables ซึ่งทั้งเหตุการณ์ชุมนุมในต่างประเทศ และในเมืองไทย ก็เคยมีการนำมาใช้กันบ่อย ๆ ขณะที่เพลงไทย…ในไทยนั้น เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา เพลงสู้ไม่ถอย นี่ก็ถูกใช้บ่อยเช่นกัน…

ในฐานะ “บทเพลงการต่อสู้เรียกร้อง”

Vintage. Music notes on the vintage paper

และกับกรณี “เพลง-ดนตรี” ที่เกี่ยวโยงยึดโยง “การเคลื่อนไหวทางการเมือง” นั้น เรื่องนี้ก็มีการศึกษาวิเคราะห์ไว้ในเชิงวิชาการ เคยมีการสะท้อนไว้ผ่านบทความวิชาการที่ตีพิมพ์ในวารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชพฤกษ์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 (ตุลาคม 2558-มกราคม 2559) กับหัวข้อ “ดนตรีกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองไทย พ.ศ. 2547-2557” เขียนโดย ภูมิ พ่วงกิ่ม ในฐานะนิสิตสาขาพัฒนามนุษย์และสังคม คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษา “รูปแบบเฉพาะทาง” ของดนตรีที่มีการนำมาใช้ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง “ในไทย”…

ศึกษา “เปรียบเทียบจากม็อบในอดีต”

ในบทความดังกล่าวได้เกริ่นนำไว้ว่า… ดนตรีหรือบทเพลงทางการเมือง (music in politics) หมายถึง บทเพลงที่ใช้เป็นสื่อในการนำเสนอภาพตัวตนของกลุ่มชนในมิติต่าง ๆ เพื่อการบรรลุวัตถุประสงค์ที่มุ่งหวัง โดยนอกจากจะใช้สะท้อนภาพชีวิตกลุ่มชนในสังคมแล้ว ยังอาจสะท้อนภาพด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมวัฒนธรรม ได้อีกด้วย โดยบางครั้งดนตรีหรือบทเพลงเหล่านี้ ยังอาจเกิดจากการสร้างสรรค์ขึ้นโดยรัฐ หรือโดยประชาชน ได้เช่นกัน…

นี่เป็น “นิยาม…ดนตรี-เพลงการเมือง”

ที่มีการใช้ “สื่อแนวคิด-อุดมการณ์กลุ่ม”

ทั้งนี้ ในบทความดนตรีกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองไทยยังเผยไว้ถึงผลการศึกษาจากการวิเคราะห์ “บทเพลงของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง” ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ที่มีทั้งหมด 3 กลุ่ม โดยรูปแบบบทเพลงที่ใช้ในการชุมนุมของแต่ละกลุ่ม พบว่า… มีความใกล้เคียงกัน มีลักษณะที่คล้าย ๆ กัน คือ… มักมีรูปแบบเนื้อร้องกระชับเข้าใจง่าย, มีเนื้อหาเกี่ยวกับอุดมการณ์และวิธีการต่อสู้ของกลุ่ม, มีการกำหนดทำนองเพลงให้สอดคล้องกับเนื้อหาของบทเพลง, มีการจัดจังหวะของเพลงเป็นจังหวะดนตรีต่าง ๆ เช่น จังหวะสามช่า จังหวะมาร์ช รวมถึงจังหวะแบบเพลงไทยสมัยนิยม เป็นต้น

นอกจากนี้ ก็ยังได้มีการสรุปถึงผลการศึกษาที่พบไว้ด้วยว่า… “รูปแบบเพลง-ดนตรีทางการเมือง” ระหว่างปี 2547-2557 ที่เป็นช่วงเวลาที่ได้ศึกษาเรื่องนี้ สามารถจำแนกได้ดังนี้คือ… มักมีเนื้อหากับรูปแบบเพลงที่เข้าใจง่าย, มักมีเนื้อหาพูดถึงความสามัคคี ความสำนึกบุญคุณประเทศชาติ, มักจะมีเนื้อหาที่พูดถึงการขับไล่นักการเมือง พูดถึงการปฏิเสธการทุจริตในระบบต่าง ๆ รวมถึงการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม อย่างไรก็ตาม บางเพลง…แม้เป็นเพลงเดียวกัน แต่ก็อาจถูกใช้สื่อความหมายที่แตกต่างกันก็ได้ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์เป็นสำคัญ …เหล่านี้คือมุมสะท้อน “เพลงการเมือง” ในมุมหนึ่ง

วันวาน “เพลงม็อบ…เคยกระหึ่มเซ็งแซ่”

วันนี้ “เพลงหาเสียงเลือกตั้ง…จะอื้ออึง”

วันหน้า “เพลงยึดอำนาจ…คงไม่มีอีก?”.