เปลี่ยนบรรยากาศมาคุยเรื่องภาพยนตร์กันบ้าง เพราะการเมืองมันน่าเบื่อ เมื่อไม่นานมานี้ เกิดกระแส “วัยรุ่นยุค Y2K” ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นการปั่นกระแสจากค่ายหนังหรือเกิดจากอะไร วัยรุ่นยุค Y2K คือวัยรุ่นประมาณ พ.ศ. 2542-2543 ซึ่งยุคนั้นมีการพูดถึงเรื่อง Y2K ในเชิงน่ากลัว ทำนองว่า ระบบการเซตติ้งค่าคอมพิวเตอร์อะไรมันเซตด้วยเลข 2 หลักสุดท้ายของปีคริสตศักราช ถ้าเข้าปี 2543 ปุ๊บ ระบบคอมพิวเตอร์มันจะรีเซตไปเป็นเลข 00 แทน เชื่อกันว่าจะทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ล่มทั้งโลก ซึ่งยุคนั้นคอมพิวเตอร์ก็มีบทบาทมากพอสมควรแล้ว …ว่ากันถึงขนาดว่า ระบบการบินอาจรวน

Y2K จึงมีกลิ่นอายของ “การเปลี่ยนผ่าน” ที่มีความกลัวความเปลี่ยนแปลงอยู่ ประกอบกับช่วงนั้นเหมือนจะอ้างว่า มีคำทำนายของนอสตราดามุส โหรดังในอดีต ทำนองว่า จะเกิดเหตุให้โลกแตก …ซึ่งเอาจริงการเขียนคำทำนายของ นอสตราดามุส นี่เป็นว่ากันว่าเป็นการเขียนคลุมเครือ ตีความยาก …แต่ก็มีความพยายามตีความให้โลกแตกให้ได้เพื่อหาประโยชน์ ตอนนั้นเหมือนกับว่ามีลัทธิอะไรออกมาเรื่อย ๆ ทำนองบริจาคเพื่อไปอยู่สวรรค์ ซึ่งก่อนหน้านั้นก็มีลัทธิที่ฆ่าตัวตายหมู่เพื่อไปสวรรค์ คือ heaven’s gate เป็นข่าวโด่งดัง ช่วงนั้นมันจึงเป็นการเปลี่ยนผ่านด้วยบรรยากาศของความกลัวอยู่

แต่ในที่สุดก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น โลกก็อยู่ สิ่งที่เปลี่ยนไปในด้านกายภาพคือวันนี้มลพิษเยอะขึ้น …ค่ายหนังดัง GDH เอาเรื่องช่วงเวลา Y2K มาเป็นฉากหลังของหนังเรื่อง “เธอกับฉันกับฉัน” ว่าด้วย แฝด ยู-มี ที่เป็นแฝดแท้ ต่างกันแค่ไฝ และสลับตัวกันไปทำโน่นทำนี่ ยู-มี สนิทสนมกันมากเรียกว่า รู้ใจกันทุกอย่าง …จนอยู่มาวันหนึ่ง ก็มี “หมาก” เด็กหนุ่มเข้ามาทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่เปลี่ยนไป …ประกอบกับปัญหาครอบครัว (ซึ่งอาจต่อเนื่องจากเรื่องการลอยตัวค่าเงินก่อนปี Y2K) ทำให้ครอบครัวนี้ต้องมาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ …มีกลิ่นอายของความกลัวความเปลี่ยนแปลงแอบแฝงอยู่

ความที่แฝดยู-มี ชอบผู้ชายคนเดียวกัน ความสัมพันธ์ที่เคยใกล้ชิดแบบรู้จักรู้ใจกันทุกอย่างเริ่มมีอะไรเข้ามาแทรกกลางอย่างช้า ๆ ในบรรยากาศใช้ชีวิตเนิบช้า เรียบง่ายของนครพนม ทั้งความรู้สึกว่า “สิ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของตัวเองกำลังจะหายไป” และ การเข้าสู่วัยที่เริ่มมีรักแรก ทำให้ทั้งยู-มี ต่างก็อยากได้รับความสนใจจากหมาก เพราะนั่นคือความเปลี่ยนแปลงตามอารมณ์ของช่วงวัย …หรือที่น่าจะเรียกได้ว่า coming of age เหตุการณ์อะไรบางอย่างที่เข้ามา จะทำให้เรียนรู้ เจ็บปวด เติบโต และมีจุดเปลี่ยนที่ต้องทำให้ถึงเวลาต้องยอมรับ พร้อมเผชิญหน้าความเป็นจริง

ขณะที่พ่อแม่ของยู-มี ตัดสินใจแยกทางกันโดยแยกแฝดไปคนละคน นี่เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้โลกของทั้งคู่เปลี่ยนไป …และต้องเผชิญหน้าความเป็นจริงที่ว่า “สุดท้าย แต่ละคนต่างก็ต้องมีชีวิตของตัวเอง” ให้รักกันมากแค่ไหน รู้ใจสนิทกันทุกอย่าง แต่ตัวแปรที่ทำให้ความสัมพันธ์ต้องแปรเปลี่ยนมันก็มีเข้ามาเป็นบททดสอบเป็นระยะ …ความรักก็คือตัวแปรหนึ่ง ที่ทำให้คนที่เคยสนิทกัน “อยากมีเวลาเป็นของตัวเองมากขึ้น” เวลาอยู่กับคนที่ชอบ เวลาที่ได้อยู่ลำพังเพื่อคิดถึงกัน ซึ่ง ยุค Y2K นั้นโทรศัพท์ยังเป็นปุ่มกดอยู่เลยไม่ใช่ smart phone ที่แค่คิดถึงก็แชตไปคุยได้ วิดีโอคอลได้

หนังค่อนข้างมีความประนีประนอม และดูมีความสมจริงที่ไม่เล่นดราม่าทางอารมณ์อะไรมาก มันทำให้คนดูค่อย ๆ ซึมซับปมขัดแย้งในใจของฝาแฝด ที่มีทั้งช่วงเวลาสุข เวลาเศร้า เวลาที่ต้องการให้ตัวเองสำคัญ ..แต่ความประนีประนอมทำให้หนังขาดความหวือหวาที่จะถูกพูดถึงวงกว้างมาก

หนังจบลงด้วยภาพทั้งคู่นั่งดูพลุปีใหม่ และได้รู้แล้วว่า ในที่สุด “ความเปลี่ยนแปลงต้องเข้ามา และมันไม่เป็นไร” โลกไม่ได้จะแตกตามที่ลือ..ความสัมพันธ์กับหมากจะเป็นอย่างไรก็สุดจะรู้ ..แต่ความเจ็บปวดสำคัญที่ยู-มี ก้าวผ่านได้คือเรื่อง “พ่อแม่รักใครมากกว่ากัน” …ความเจ็บปวดคือการที่ยูเผลอฟังโทรศัพท์สายพ่วงตอนพ่อแม่คุยกันเรื่องจะหย่า และแม่ยืนยันจะเอามีไว้ ..การที่ต้องถูกเลือกทำให้รู้สึกถึงความไม่เป็นที่ต้องการ และกลายเป็นต้องมาตั้งคำถามกับตัวเอง แต่ก็จบลงด้วยดีเมื่อฝาแฝดได้ทำความเข้าใจกับครอบครัว และได้มีสิทธิเลือกเองว่าจะอยู่กับพ่อหรือแม่

เธอกับฉันกับฉัน เป็นหนังที่พูดถึง “ช่วงรอยต่อ” เล็ก ๆ ของยุคสมัย และการก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงแบบที่ไม่หวือหวานัก แต่สารมันก็ชัดว่า “สุดท้ายความเปลี่ยนแปลงก็ต้องเข้ามาในชีวิต เพราะมันคือส่วนหนึ่งของการเติบโต เราจะเรียนรู้ ตั้งรับ ยอมรับมันอย่างไร เพื่อให้ผ่านทุกอย่างไปได้ด้วยดี เลือกรักษาสิ่งที่สำคัญที่สุดไว้ได้” สิ่งที่น่าสนใจคือ การที่ค่าย GDH ซึ่งก็ทราบอยู่ว่า เป็นเครือแกรมมี่ กลับไม่เลือกใช้เพลงของศิลปินหญิงในค่าย แต่ไปใช้ ดูโอ้ โบ-จ๊อยซ์ Triumphs Kingdom ซึ่งแสดงถึงจุดเปลี่ยนของศิลปินวัยรุ่นหญิงแห่งยุคสมัย

ศิลปินเพลงป๊อปหญิงยุคนั้น จะต้องรักษาภาพลักษณ์มาก แต่งตัวมิดชิด เสียงก็ต้องผ่านการฝึกซ้อมมาอย่างดี ปรากฏว่า ค่าย dojocity บริษัทลูกในเครือ bakery ก็ปฏิวัติภาพลักษณ์ของวัยรุ่นหญิงเสียใหม่ ตั้งแต่การเปิดนิตยสาร katch ที่ปั้นเน็ตไอดอลรุ่นแรก ๆ อย่าง “บอลลูน-พินทุ์สุดา ตันไพเราะห์” การถ่ายแฟชั่นวัยรุ่นก็ไม่ได้เน้นเป๊ะ แต่เอาความเป็นธรรมชาติ เรียกว่า เอาความสดใสของวัยรุ่นมาขาย และออกเทปชุดแรกคือดูโอ้ niece ซึ่งก็ไม่ค่อยถูกวิจารณ์เท่าไร แต่พอมา TK ศิลปินเบอร์สองของค่ายกลายเป็น talk of the town เพราะการแต่งตัวแรง สายเดี่ยว ขาสั้น เอวลอย

ส่วนการร้องก็ถูกวิจารณ์มาก ทำนองว่า “เสียงแบบนี้มาเป็นนักร้องได้ไง ?” โบ ซึ่งมักจะเป็นตัวร้องหลักนั้นแก้วเสียงบางแบบไม่ค่อยมีน้ำหนัก ส่วน จ๊อยซ์ นั้นดูเหมือนจะรับหน้าที่แค่ร้องท่อนแร็ปเป็นหลัก และจ๊อยซ์ก็ไม่ใช่คนสวยแบบเหมาะมาเป็นนักร้องเพลงป๊อป เธอโดนวิจารณ์เรื่องหน้าตาอยู่พอสมควร …การแต่งตัวแรงของทั้งคู่ เคยมีข่าวอยู่ครั้งหนึ่งว่า จะต้องขึ้นเวทีเจ็ดสีคอนเสิร์ต แล้วถูกขอให้ใส่เสื้อคลุม ..ตอนนั้นมีพวกที่ “ไม่คุ้นกับความเปลี่ยนแปลง” ออกมาโจมตีกันใหญ่ …มีข่าวว่าทั้งคู่ถูกด่าจนร้องไห้ แต่ขณะเดียวกัน โบ จ๊อยซ์ กลายเป็น idol ของเด็กสาวหลาย ๆ คน ว่า “คนที่ไม่ได้มีความสมบูรณ์แบบ บุคลิกออกจะดูแรง ก็ออกสื่อโด่งดังได้ ทุกคนมีแสงสว่างแบบตัวเอง” (ยุคนั้นรูปร่างหน้าตา ความประพฤติของพวกบอยแบนด์ เกิร์ลกรุ๊ปนี่เหมือนถูกบีบในกรอบของความสมบูรณ์แบบอยู่มาก)

และในที่สุด ก็เป็นเรื่องของธรรมดาโลกที่ไม่หยุดนิ่ง ไม่รู้คนที่เคยด่าโบ จ๊อยซ์แรงๆ ในวันวาน เห็นนักร้อง เห็นเน็ตไอดอลสมัยนี้รู้สึกอย่างไรบ้าง …เอาง่ายๆ วงการบันเทิงวันนี้เปลี่ยนไปจากยุค Y2K เยอะมาก ตั้งแต่ภาพลักษณ์ของศิลปินนักร้อง การสร้างพื้นที่สื่อที่คนดังๆ ไม่ต้องแคร์สื่อมากเท่าสิบกว่าปีก่อน …เนื้อหาที่ขายดีคือแนววาย ซึ่งสาววายเขาบอกว่าไม่ใช่เกย์ แต่เป็นจิ้นว่า ชาย-ชายมีอะไรกัน ซึ่งฟังๆ ดูก็งง เนื้อหาชายรักชายแต่อย่าเรียกเป็นเรื่องเกย์ …นิยายที่ครองแผงร้านหนังสือเป็นนิยายวายมีฉากเซ็กซ์โจ๋งครึ่มก็เยอะ ซึ่งสมัยก่อนหนังสือเขียนขนาดนี้คืออยู่บนแผงหนังสือโป๊ แต่ตอนนี้ขึ้นชั้นร้านหนังสือใหญ่หน้าตาเฉย เขียนยาวเป็นพันหน้า

..คงเป็นเรื่องพัฒนาการเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนด้วย ที่ยอมรับเสรีภาพอะไรมากขึ้น เคารพความเห็นผู้อื่น ยอมรับตัวตนกันมากขึ้น  ค่านิยมแฟชั่น ความงามก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย…โลกก็เปลี่ยนแปลงไปเป็นลำดับ ..อนุรักษนิยมค่อย ๆ ลดบทบาทลง เสรีนิยมมีบทบาทมากขึ้น เรารื้อถอนแนวคิดเก่า ๆ ไปเรื่อย ..จะรื้อถอนด้วยวิธีค่อยเป็นค่อยไปหรือพยายามถอนรากถอนโคนวิธีคิดเก่าแบบยอมหักไม่ยอมงอก็แบบหนึ่ง

สุดท้าย ความเปลี่ยนแปลงก็เข้ามาในชีวิตเรา ยิ่งในโลกการสื่อสารไร้พรมแดน มันอาจมาเร็วจนเราตั้งรับไม่ทัน เราต้องตั้งรับทุกอย่างได้ด้วยความไม่ประมาท และวิ่งตามมันให้ทัน ทั้งแนวคิด เทคโนโลยี เพราะมันไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่พอผ่านจุดแห่งความกลัว Y2K มาแล้ว ก็ยังค่อยเป็นค่อยไปในระดับหนึ่ง…อีกต่อไป.

………………………………………………………
ขอบคุณข้อมูล ภาพ จากเว็บไซต์ Youtube และ จีดีเอช
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”