ชูเป็นส่วนหนึ่งของกลไก “ฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศไทย”… ซึ่งปัจจุบันนี้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในไทยก็มีบทบาทในด้านต่าง ๆ ไม่น้อย และก็มีจำนวนไม่ใช่น้อย ๆ ด้วย ดังนั้น เมื่อมีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญด้านเศรษฐกิจ…จึงสร้างกระแสสนใจได้พอสมควร…

นี่ก็เป็นอีก “ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์”

มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และฝ่ายที่มีปุจฉา

แนวคิดดังกล่าวนี้ “ทำได้จริงแค่ไหน?”          

ทั้งนี้ กระแสที่เกิดขึ้นหลังมีพรรคการเมืองหนึ่งชูแคมเปญหาเสียงโดยหยิบยก “แนวคิดเศรษฐกิจสีรุ้ง” มาเป็นหนึ่งในนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากไทยก็ “อ่วมพิษโควิด-19” มานานนั้น กรณีนี้ไม่เพียงเรียก “เสียงฮือฮา” จาก “ชาวสีรุ้ง” หรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ กับแนวคิดดังกล่าวนี้ก็มี “เสียงวิพากษ์” มีเสียงสะท้อนที่น่าพิจารณา โดยหนึ่งในนั้นคือทัศนะจากทาง จิตติมา ภาณุเตชะ นายกสมาคมเพศวิถีศึกษา ที่ได้สะท้อนทรรศนะเรื่องนี้กับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้น่าสนใจ…

ทางนายก สมาคมเพศวิถีศึกษา ได้สะท้อนทรรศนะเกี่ยว “นโยบายเศรษฐกิจสีรุ้ง” นี้ว่า… ในต่างประเทศนั้นเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะมีการนำแนวคิดดังกล่าวนี้มาใช้กันบ้างแล้ว แต่สำหรับในประเทศไทยถือว่าเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ที่จะนำเอาแนวคิดนี้ หรือแนวคิด“เศรษฐกิจเฉดสี” มาใช้เป็นนโยบาย หรือเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งเพื่อการสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย อย่างไรก็ตาม จิตติมา บอกว่า…โดยส่วนตัวแล้ว ในฐานะที่ทำงานด้านนี้ มองว่าวิธีชูนโยบายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศนั้น ก็ควร ต้องคำนึงถึง-ต้องให้ความสำคัญในหลายมิติ ด้วย โดยเฉพาะเรื่อง…

การ “เพิ่มคุณภาพชีวิต” ให้คนกลุ่มนี้

จิตติมา ยังขยายความเรื่องนี้ผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” อีกว่า… หากต้องการนำเอาชีวิตของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศมาใช้เป็นแคมเปญ สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญควบคู่กันไปก็คือ แนวคิดนี้มีผลหรือส่งผลเช่นไรต่อคุณภาพชีวิตของคนกลุ่มนี้บ้าง ซึ่งคนที่จะนำนโยบายนี้มาใช้ จะต้องคำนึงถึง “สิทธิ” ของคนกลุ่มนี้ควบคู่ไปด้วย และที่สำคัญส่วนตัวมองว่า…เรื่องนี้ไม่ควรทำเป็นนโยบายเชิงเดี่ยว ต้องทำเป็นองค์รวม ด้วยการขับเคลื่อนไปพร้อมกันหลาย ๆ เรื่อง…

สิ่งที่กังวลคือ มันจะไปเหมือนกับเวลาที่พูดว่าจะโปรโมตการท่องเที่ยว แต่เรากลับไม่ได้ดูแลทรัพยากรในประเทศ ดังนั้นการนำเรื่องนี้มาเป็นนโยบาย ก็จะต้องไม่มีธงรายได้เป็นตัวนำอย่างเดียว แต่ต้องดูแลเรื่องคุณภาพชีวิต หรือ social welfare หรือสวัสดิการสังคมที่เกี่ยวข้องกับคนกลุ่มนี้ด้วย…

นอกจากนี้ ทางนายกสมาคมเพศวิถีศึกษา ยังระบุต่อไปว่า…การจะขับเคลื่อนแนวคิดหรือนโยบาย “เศรษฐกิจสีรุ้ง” หรือ “เศรษฐกิจเฉดสี” นั้น สิ่งที่จำเป็นต้องทำเบื้องต้นเลยก็คือ ต้องสร้างพื้นฐานทางสังคมให้ชัดเจนเสียก่อน ไม่เช่นนั้นเรื่องความหลากหลายทางเพศจะกลายเป็นเพียงแค่หนึ่งในอีเวนต์หรือแผนมาร์เกตติ้งเท่านั้น ยกตัวอย่าง อาทิ… ถ้าคิดโปรโมตให้ไทยเป็นสวรรค์ของคู่รักเพศเดียวกัน กรณีนี้เชิงนโยบายก็ต้องมีกฎหมายที่เปิดกว้างเรื่องการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันให้ได้เสียก่อน หรือหากจะเปิดเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ต้องมีพื้นที่ต้นแบบที่เปิดกว้างให้การยอมรับคนกลุ่มนี้…

นี่คือตัวอย่าง “ความชัดเจนที่ต้องสร้าง”

ทั้งนี้ นายกสมาคมเพศวิถีศึกษายังได้สะท้อนถึงการที่ ฝ่ายการเมืองได้หยิบยกนำผู้มีความหลากหลายทางเพศ” มาใช้เป็น “แคมเปญเชิงนโยบาย” ด้วยว่า… แม้จะดีใจที่คนกลุ่มนี้ถูกให้ความสนใจ แต่ในอีกมุมหนึ่งนั้นก็ยังคงอดเป็นห่วงไม่ได้ เนื่องจากถ้าพิจารณาจากบริบทหรือภาพรวมแล้ว กับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศยังไม่ค่อยมีนโยบายที่จริงจังในการดูแลเกี่ยวกับเรื่องของคุณภาพชีวิตพื้นฐาน เช่น การแต่งงานของคนเพศเดียวกัน การรับรองสถานะ ทำให้แนวคิดนี้ หรือนโยบายที่มีการเสนอออกมา จึงยังคงดูเหมือนมีสภาพที่ ย้อนแย้งกับสภาพปัญหาและความเป็นจริง ในปัจจุบัน

“คือไม่ต้องโฟกัสไปไกล ดูแค่ที่เรื่องของกฎหมายหรือนโยบายที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตพื้นฐานของคนกลุ่มนี้ ซึ่งถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีเลย และยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้น เมื่อนำเรื่องของเศรษฐกิจสีรุ้งมาชู ก็เลยมองว่าเป็นนโยบายที่ยังย้อนแย้ง และยังรู้สึกว่าเป็นเพียงแค่การอาศัยประโยชน์จากประเด็นนี้??” …เป็นทรรศนะจากผู้ที่ทำงานด้านนี้

อย่างไรก็ตาม ทางนายกสมาคมเพศวิถีศึกษา จิตติมา ภาณุเตชะ ก็ได้มีการ “เสนอแนะแนวทาง” ที่จะทำให้แนวคิดดังกล่าวนี้เกิดขึ้นเป็นจริงได้ เอาไว้ว่า… ประการแรก ต้องผลักดันให้มีกฎหมายเกิดขึ้นเสียก่อน โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ประการที่สอง ต้องเตรียมสังคมให้พร้อม เพื่อไม่ให้มีอคติกับคนกลุ่มนี้ ซึ่งสองประเด็นนี้ทางนายกสมาคมเพศวิถีศึกษาเน้นย้ำว่า… จำเป็นต้องผลักดันให้เกิดขึ้นก่อนที่จะมุ่งไปที่เรื่องของนโยบายเศรษฐกิจ ทั้งนี้เพื่อให้แนวคิด สเปกตรัม อีโคโนมีหรือ “เศรษฐกิจเฉดสี-เศรษฐกิจสีรุ้ง” นั้น…

มิใช่เพียงอีเวนต์-แคมเปญมาร์เกตติ้ง

สามารถที่จะ “ทำให้เกิดขึ้นได้จริง”…

“เพื่อประโยชน์ทุกมิติ-ทุกกลุ่มคน”.