ทั้งนี้ นับวันเหตุน่าเศร้าจากกรณีปัญหาดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นในสังคมไทยโดยที่ “เกิดขึ้นกับเด็กมากขึ้นเรื่อย ๆ” โดยเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง… ซึ่งทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ขอร่วมสะท้อนย้ำไว้ ณ ที่นี้ว่า “ปรากฏการณ์บูลลี่” นั้นเป็นปัญหาไม่เล็ก เรื่องนี้กำลังเป็น “ปัญหาใหญ่ในสังคมไทย”…

ปัญหานี้กำลัง “ลุกลามขยายวงกว้าง!!”

ยิ่งนานวันยิ่ง “ทวีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น”

และเกี่ยวกับ “ปัญหาการบูลลี่” ที่ขณะนี้ได้กลายเป็นอีกคำถามสำคัญของสังคมไทยว่า… “ทำอย่างไรจึงจะสกัดกั้นได้??” โดยเฉพาะการหาแนวทางที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์น่าเศร้าอย่างการ “คิดสั้นเพราะถูกบูลลี่!!” กับเรื่องนี้เมื่อช่วงกลางเดือน ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้มีการจัดเสวนาผ่านทางระบบออนไลน์ เฟซบุ๊กไลฟ์ ภายใต้หัวข้อ “ตีโจทย์ปัญหาการ Bully : เจ็บที่ไม่จบ ผลกระทบของการ Bully” โดยมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยาร่วมบรรยายแลกเปลี่ยนมุมมองต่อกรณีปัญหาดังกล่าวนี้ รวมถึงเสนอแนะหนทางแก้ไขเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้…

เพื่ออธิบายให้สังคมเข้าใจถึงที่มาปัญหานี้

และหวังจะช่วยลดปัญหาบูลลี่ในสังคมไทย

ทั้งนี้ ในเวทีเสวนาออนไลน์ ผศ.ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาสังคม ได้ จำแนกประเภทบูลลี่เป็น 4 ประเภทหลัก ได้แก่… ประเภทแรก การรังแกทางร่างกาย (physical) เช่น การตี ต่อย เตะ ถ่มน้ำลาย ดึงผม กักขัง โดยทำซ้ำ ๆ กับคนเดิม ๆ ประเภทที่สอง การรังแกทางวาจา (verbal) เป็นการใช้คำพูดที่ทำให้เจ็บปวดใจ อับอาย พูดยั่วยุ เสียดสี นินทา ให้เหยื่อรู้สึกเสียหาย ประเภทที่สาม การรังแกทางสังคม (social) เป็นการกดดัน บีบบังคับ ให้เหยื่อโดดเดี่ยว

ประเภทที่สี่ การรังแกในโลกไซเบอร์ (cyber bullying) ซึ่งการบูลลี่ประเภทนี้ปรากฏขึ้นมากในช่วงหลัง ๆ มานี้ ที่เป็นลักษณะการทำร้ายรังแกกันด้วยคำพูดทางลบ การปล่อยข่าวโคมลอย หรือการนำภาพที่ไม่ดีไปประจาน โดยหวังทำให้เกิดความเสียหายกับเหยื่อ นอกจากนั้น การคอยติดตามแบบประสงค์ร้าย (stalking) นี่ก็รวมอยู่ในลักษณะของการบูลลี่ด้วย ซึ่ง การรังแกในโลกไซเบอร์นั้นเป็นการบูลลี่ที่มีผลกระทบค่อนข้างมาก เพราะมีผู้คนพบเห็นได้มากและผลิตซ้ำได้ จนเหยื่อรู้สึกเหมือนถูกกระทำซ้ำไปซ้ำมา …เหล่านี้เป็น “ประเภทของการบูลลี่” ที่พบได้บ่อย ๆ ในสังคมไทยปัจจุบัน

ในเวทีเดียวกัน ทาง ดร.จิรภัทร รวีภัทรกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาพัฒนาการ ได้ร่วมสะท้อนไว้ว่า… สังคมไทยสามารถพบเห็นการ “บูลลี่” ได้ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับมหาวิทยาลัย แต่ระดับมัธยมนั้นมักจะเป็นระดับที่สามารถพบการบูลลี่ได้เกือบทุกประเภทของการบูลลี่ ระดับมัธยมนั้นมักมีการใช้การบูลลี่คนอื่น ๆ มีการรังแกคนอื่น ๆ มากเป็นพิเศษ โดยผู้กระทำมีเป้าหมายการบูลลี่ เพื่อสร้างสถานะทางสังคม รวมถึงบางคนก็เลือกวิธีการบูลลี่เพื่อน ๆ เพราะ…

ต้องการให้เพื่อนคนอื่นเกิดการยอมรับ

โดย “รังแกคนอื่นให้เพื่อนของตนเห็น”

ด้าน ผศ.ดร.ชมพูนุท ศรีจันทร์นิล ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการปรึกษา สะท้อนไว้ว่า… แม้ธรรมชาติมนุษย์จะมีความสงสาร เห็นใจ แต่บางคนก็เลือกรังแกผู้อื่นให้เกิดความเจ็บปวดทางกายหรือทางใจ ซึ่งเรื่องนี้อาจเป็นได้จากหลายปัจจัย เช่น มองในปัจจัยส่วนบุคคล การบูลลี่อาจมาจากความต้องการภายใน ที่ต้องการแสดงออกถึงการมีอำนาจ การเป็นที่ยอมรับว่าฉันเหนือกว่าคนอื่น ๆ หรือการบูลลี่นั้นอาจมาจากปัจจัยเรื่องภูมิหลังที่ ผู้กระทำเคยถูกบูลลี่มาก่อน จนไปรังแกผู้อื่นต่อ ทำให้วงจรนี้ไม่สิ้นสุด ดังนั้น การจะวิเคราะห์เรื่องนี้ได้อาจต้องศึกษาประสบการณ์ทางจิตใจของผู้ที่รังแกคนอื่น เช่น…

ที่ “บุคคลนั้นมีพฤติกรรมชอบบูลลี่คนอื่น”…

“เป็นผลจากประสบการณ์เจ็บช้ำในอดีต??”

สลับกลับมาที่ ดร.จิรภัทร  ที่สะท้อนไว้อีกว่า… “บูลลี่” คือพฤติกรรมที่ “เกิดจากการเรียนรู้” ซึ่งมนุษย์ไม่ได้เกิดมาพร้อมความรู้ที่ว่าอะไรคือการรังแก เช่นนั้นคำถามที่ตามมาคือ…แล้ว เรียนรู้การบูลลี่มาจากที่ไหน? ซึ่งสิ่งหนึ่งที่อธิบายได้คือ การอบรมเลี้ยงดู จากที่บ้าน ด้วยการสังเกตวิธีเจอความรุนแรงในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการกระทำ หรือการใช้วาจา เด็กจะเรียนรู้ว่า…ใช้ความรุนแรงเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการเป็นวิธีที่ทำได้และง่ายสุด …นี่เป็นคำอธิบายจากผู้เชี่ยวชาญจิตวิทยาพัฒนาการ

ขณะที่ ผศ.ดร.หยกฟ้า ก็ชี้ไว้ด้วยว่า… ในบางกรณี ครอบครัวก็อาจไม่ได้เป็นแหล่งกำเนิดของพฤติกรรมบูลลี่ แต่มาจากการที่คนที่กระทำนั้นเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการบูลลี่จากสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ รอบตัว เช่น จากที่โรงเรียน หรือ จากในที่ทำงาน หรือบางคนก็อาจ มีแนวโน้มพฤติกรรมก้าวร้าวที่เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมบูลลี่ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว …ทั้งนี้ เหล่านี้เป็นคำอธิบายโดยสังเขปเกี่ยวกับ “บูลลี่ (Bully)” ทั้ง “ประเภท-ปัจจัย” ตลอดจน “ที่มา-สาเหตุ” ของการรังแก…

แล้ว “จะป้องกันไม่ให้เกิดบูลลี่ได้มั้ย??”

จะ “เปลี่ยนพฤติกรรมนี้ได้หรือเปล่า??”

กับคำตอบนั้น…ตอนหน้ามาดูกัน…