@@@@ รัฐนิวเซาท์เวลส์วิกฤตหนัก ทางการประกาศยอดผู้ติดเชื้อสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 825 ราย ใน 24 ชั่วโมง จนถึงเวลา 20.00 น. ในวันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม 2564 มีเพียง 149 รายเท่านั้นที่เชื่อมโยงกับคลัสเตอร์ที่รู้จัก นอกจากนี้ ยังมีผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ 3 ราย รัฐดำเนินการทดสอบ 120,000 ครั้ง ถึง 20.00 น. เมื่อคืนนี้ ทำให้ยอดรวมระหว่างการระบาดครั้งนี้ทั้งสิ้น เป็น 68 ราย มุขมนตรีรัฐนิวเซาท์เวลส์ นางกลาดิส เบเรจิเคลียน เรียกร้องให้ประชาชนอยู่ในความสงบ และยอมรับว่าเดลต้าอยู่กับเราที่นี่ จากผู้ติดเชื้อรายใหม่ 825 ราย 290 รายมาจาก Western Sydney Local Health District (LHD) และ 253 รายมาจาก South Western Sydney LHD รัฐนิวเซาท์เวลส์มีการฉีดวัคซีนป้องกัน 127,264 รายเมื่อวานนี้ ส่งผลให้ยอดรวมของรัฐอยู่ที่ 5,742,211 ราย
นางเบเรจิเคลียน เรียกร้องให้ประชาชนในรัฐนิวเซาท์เวลส์ไม่ต้องเครียดหรือ ตื่นตระหนก เกี่ยวกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น “เรายอมรับว่าเดลต้าอยู่ที่นี่ เรายอมรับกับการมุ่งสู่ศูนย์ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณเปิดใจ หากรัฐนิวเซาท์เวลส์ต้องไปถึงจุดนั้นให้เร็วที่สุด ถ้าเป็นไปไม่ได้เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคในรัฐนิวเซาท์เวลส์ เพราะขนาดของรัฐเราที่ใหญ่ที่สุด ก็ให้เป็นเช่นนั้น แต่เราพร้อมทำงาน เราผ่านอะไรมามากมายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่กับโรคระบาด และเราจะผ่านมันไปได้” เธอกล่าว
แบรด ฮาซซาร์ด รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของรัฐนิวเซาท์เวลส์ ได้กล่าวโทษต่อประชาชนส่วนน้อยที่ฝ่าฝืนคำสั่งด้านสาธารณสุข ปาร์ตี้ที่ผิดกฎหมายในย่านชานเมือง Maroubra ริมชายหาดที่จัดขึ้นเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ใกล้กับจุดที่เกิดการระบาดของเดลต้าเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน กลายเป็นเรื่องน่าปวดหัวครั้งล่าสุดสำหรับเจ้าหน้าที่
มารีแอนน์ เกล รองหัวหน้าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของรัฐนิวเซาท์เวลส์ กล่าวว่า ปาร์ตี้ ที่มารูบรา ส่งผลให้ผู้มีส่วนร่วม 16 คนมีผลตรวจเป็นบวกต่อ coronavirus รวมถึงผู้ที่ติดต่อกับคนเหล่านี้ด้วย มีผู้เข้าร่วมงานมากถึง 60 คน และคาดว่ายังจะมีอีกหลายคน “เรากำลังติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดและการทดสอบเพิ่มเติมกำลังดำเนินการอยู่ และเราอยากจะขอให้ผู้อยู่อาศัยใน Maroubra, Malabar และเขต Matraville ออกมาตรวจและแยกตัวออก หากคุณมีอาการเพียงเล็กน้อย” เธอกล่าว
มุขมนตรีรัฐนิวเซาท์เวลส์ นางกลาดิส เบเรจิเคลียน กล่าวว่าทางการตกใจที่รู้ว่าผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ในงานปาร์ตี้ผิดกฎหมายที่มารูบรานั้นมาจากพื้นที่ฮอตสปอต หนึ่งใน 12 LGA ที่น่าเป็นห่วง นาย Hazzard กล่าวว่า “ผมได้ยินมาว่าอาจมีผู้เข้าร่วมงาน Maroubra มากถึงประมาณ 60 คน คุณเป็นผู้ฝ่าฝืนกำลังจะทำลายอนาคตของเรา งานศพอีกงานหนึ่งที่เกิดขึ้นในรัฐนิวเซาท์เวลส์ฝั่งตะวันตก ผมได้ยินมาว่าพวกเขาอาจมีคนเข้าร่วมงานศพได้ถึง 350 ถึง 500 คน ตอนนี้ผู้คนจำนวนมากกลับมายังพื้นที่ห่างไกลในรัฐของเรา และผมได้ยินจากหน่วยงานระบบสุขภาพของเราแล้วว่า มีกรณีติดเชื้อในชุมชนต่าง ๆ และอาจเติบโตในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่จะเห็นแก่ตัว”
ส่วนทางด้านรัฐวิคตอเรีย ทั่วทั้งรัฐเข้าสู่การล็อกดาวน์เหมือนกันตั้งแต่ 13.00 น. ในวันเสาร์ อย่างไรก็ตาม เคอร์ฟิวห้ามออกบ้านหลัง 21.00 น. ของนครเมลเบิร์นไม่ได้ขยายเไปยังส่วนภูมิภาคของรัฐหลังจากพบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ในพื้นที่ 61 ราย เมื่อวันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม 2564 โดย 48 รายเชื่อมโยงกับการระบาดที่ทราบ และ 22 ราย อยู่ในการแยกตัวระหว่างติดเชื้อ มีการทดสอบมากกว่า 45,670 ครั้ง มุขมนตรีรัฐวิกตอเรีย นายแดเนียล แอนดรูว์ เรียกร้องให้ผู้มีสิทธิ์ในการฉีดวัคซีนที่ยังไม่ได้นัดหมาย รีบใช้โอกาสนี้โดยเร็วที่สุด “การล็อกดาวน์เป็นอาวุธระยะสั้นของเราในการต่อต้านภัยจากโควิด แต่กลยุทธ์ระยะยาวของเรา การเปิดกว้าง การเติบโต การจ้างงาน การอยู่ในโลกที่ต่างไปจากเดิมมาก คือ 80 เปอร์เซ็นต์ของประชาชนต้องได้รับการฉีดวัคซีนเท่านั้น“
ในขณะที่รัฐควีนส์แลนด์รายงานว่าไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ในรัฐในวันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของรัฐ ดร. Jeanette Young ยอมรับว่าในที่สุด coronavirus จะข้ามพรมแดนจาก NSW อีกครั้ง เธอเรียกร้องให้ออกกฎชายแดนใหม่ ซึ่งหมายถึงคนงานที่จำเป็นที่ต้องข้ามจาก NSW อย่างน้อยต้องมีการฉีดวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งครั้ง “เราเห็นเคสมากขึ้นทุกวัน และเราเห็นเคสเหล่านั้นเข้าใกล้ควีนส์แลนด์มากขึ้นเรื่อยๆ” เธอกล่าว
รัฐนิวเซาท์เวลส์วิกฤตหนัก ทางการประกาศยอดผู้ติดเชื้อสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 825 ราย ใน 24 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ตำรวจมากกว่า 1,400 นาย ออกปฏิบัติการเพื่อขัดขวางการประท้วงต่อต้านการปิดเมืองตามแผนในใจกลางซิดนีย์เมื่อเที่ยงวันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม 2564
@@@@ รัฐบาล NSW ประกาศขยายเวลาห้ามออกจากบ้านโดยไม่มีเหตุจำเป็นสำหรับผู้อาศัยในพื้นที่ Greater Sydney จนถึงสิ้นเดือนกันยายน ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม เป็นต้นไปบังคับสวมใส่หน้ากากเมื่อออกนอกบ้าน ยกเว้นในขณะที่ออกกำลังกาย โดยในพื้นที่ Greater Sydney มีผลถึงสิ้นเดือน กันยายน และพื้นที่ Regional NSW มีผลถึง 28 สิงหาคม ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม เป็นต้นไป รัฐบาลจะเริ่มใช้มาตรการสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง (สามารถดูรายชื่อได้ที่ลิงค์ https://www.nsw.gov.au/covid-19/rules/affected-area) ดังนี้ ห้ามออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) ระหว่างเวลา 21.00-05.00 น. ยกเว้นผู้ที่ทำงานในสาขาอาชีพที่ได้รับอนุญาต (Authorised workers) เช่น แพทย์ พยาบาล กู้ภัยฉุกเฉิน อนุญาตให้ออกกำลังกายนอกบ้านได้วันละ 1 ชม. ร้านค้าต่าง ๆ ได้แก่ ร้านขายต้นไม้และอุปกรณ์ทำสวน ร้านอุปกรณ์สำนักงาน ร้านเครื่องมือก่อสร้าง ร้านขายเครื่องมือเกษตร ร้านสัตว์เลี้ยง ห้ามเปิดให้ลูกค้าเข้าไปซื้อของ ยกเว้น Click and Collect (อนุญาตให้ช่างสามารถเข้าไปซื้อได้ ตามแต่กรณี) การเรียนการสอนต้องดำเนินในลักษณะออนไลน์เท่านั้น (ยกเว้นการสอบ HSC)
มาตรการสำหรับสถานที่ทำงานและ Authorised workers จากพื้นที่เสี่ยง ได้แก่ ผู้ทำงานสถานเลี้ยงเด็กหรือดูแลคนพิการที่อาศัยหรือทำงานอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต้องได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกภายในวันที่ 30 สิงหาคม Authorised workers สามารถทำงานนอกเขตพื้นที่เสี่ยงได้ในกรณีที่สถานที่ทำงานมีการตรวจ Rapid Antigen testing หรือ ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกก่อนวันที่ 30 สิงหาคม ตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม เป็นต้นไป Authorised workers จากพื้นที่เสี่ยงต้องแสดงใบอนุญาตจาก Service NSW เพื่อเป็นหลักฐานว่าตนเป็น Authorised worker และไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ ในทางกลับกัน ผู้ที่เข้าไปทำงานในเขตพื้นที่เสี่ยงก็จะต้องมีใบอนุญาตจาก Service NSW เช่นกัน
ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม เป็นต้นไป ผู้ทำงานที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ดังนี้ Canterbury-Bankstown Cumberland และ Fairfield LGAs ไม่ต้องตรวจหาเชื้อโควิด 72 ชั่วโมงก่อนออกมาทำงานนอกเขต ผู้ที่เข้าไปยังพื้นที่เสี่ยงโดยไม่มีเหตุจำเป็นมีโทษปรับ 1000 ดอลลาร์ อต. และจะต้องกักตัวที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน ท่านสามารถดูข้อมูลของทางการ NSW ได้ที่ http://nsw.gov.au/…/new-protections-and-compliance… มาตรการอาจเปลี่ยนแปลงได้เสมอโปรดติดตามจาก www.nsw.gov.au
@@@@ เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 18 สิงหาคม ที่ห้องโดม ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้หารือทางโทรศัพท์กับนายสกอตต์ มอร์ริสัน (The Honourable Scott Morrison) นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ซึ่งฝ่ายออสเตรเลียเป็นฝ่ายทาบทามการหารือ ในโอกาสเพื่อรักษาและกระชับความสัมพันธ์ของความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน และเพื่อกระตุ้นแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันทั้งในระดับทวิภาคี อนุภูมิภาคและภูมิภาค ภายหลังการหารือ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้ นายกรัฐมนตรี ยินดีที่ได้หารือกับนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียอีกครั้ง ยินดีต่อการยกระดับสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทย-ออสเตรเลียซึ่งได้มีโอกาสลงนามในแถลงการณ์ร่วมกันเมื่อเดือน พ.ย. 2563 ถือเป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจนถึงความแน่นแฟ้นของความสัมพันธ์ระหว่างกัน แม้จะพบกับสถานการณ์ความยากลำบากโรคโควิด-19 ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะเป็นโอกาสวางรากฐานเพิ่มพูนความร่วมมือสู่อนาคตในสาขาต่างๆ ร่วมกัน
ด้านนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย กล่าวยินดีที่ได้มีโอกาสหารือกับนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ โดยยืนยันว่า ออสเตรเลียให้ความสำคัญกับการยกระดับความสัมพันธ์กับไทยภายใต้ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของทั้งสองประเทศ ตลอดจนมุ่งมั่นที่จะพัฒนาความสัมพันธ์อาเซียน-ออสเตรเลีย สู่ความเป็นหุ้นส่วนแบบรอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership) ท่ามกลางความท้าทายที่ทั่วโลกเผชิญ ซึ่งรวมถึงประเด็นอื่นๆ ได้แก่ ความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ โลกดิจิทัล สถานการณ์หลังโควิด-19 และ การเดินทางในยุค New Normal
ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันในหลากหลายประเด็น โดยเฉพาะ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมออสเตรเลีย ที่ได้ประกาศให้ความช่วยเหลือเรื่องวัคซีนแก่นานาประเทศ ทั้งในกรอบ Regional Vaccine Access and Health Security Initiative กรอบ QUAD Vaccine Partnership กรอบการประชุมผู้นำ G7 ตลอดจนความร่วมมือในกรอบอาเซียน-ออสเตรเลีย รวมถึง ขอบคุณการสนับสนุนเงินด้านสาธารณสุขจำนวน 2.8 ล้านดอลลาร์ ของออสเตรเลียให้แก่ไทย สะท้อนถึงบทบาทที่สร้างสรรค์ของออสเตรเลียในการส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ และได้ขอให้นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียพิจารณาให้ความร่วมมือด้านวัคซีนแก่ไทยในรูปแบบที่มีความพร้อมและเหมาะสม ซึ่งนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียได้กล่าวว่ายินดีที่จะสนับสนุนความช่วยเหลือด้านวัคซีนซึ่งจะได้หารือกันต่อไปในรูปแบบที่เหมาะสมท่ามกลางความท้าทายที่เผชิญร่วมกัน
สำหรับสถานการณ์ในเมียนมา ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันโดยมีความเห็นพ้องที่จะต้องให้ความร่วมมือด้านมนุษยธรรมกับเมียนมาเป็นอันดับต้น นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียสนับสนุนการปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยทั้งสองฝ่ายเชื่อมั่นว่า ผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนเรื่องเมียนมา จะเดินทางเยือนเมียนมาเพื่อสนับสนุนให้ฝ่ายต่างๆ หันหน้ามาพูดคุยและแสวงหาทางออกโดยสันติโดยเร็วที่สุด โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ขอให้นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียพิจารณาข้อกำหนดให้นักศึกษาไทยที่ศึกษาที่ออสเตรเลียได้เดินทางกลับเข้าไปศึกษาต่อในโอกาสแรก
นายกฯ หารือ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย เน้นย้ำยกระดับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เพิ่มความร่วมมือสู่อนาคต ชื่นชมออสเตรเลียให้ความช่วยเหลือเรื่องวัคซีนแก่นานาประเทศ มอบเงินช่วยไทยด้านสาธารณสุข ตบท้ายด้วยเรื่องนักศึกษาไทย
@@@@ ขอแนะนำรัฐเอกราชปาปัวนิวกินี Independent State of Papua New Guinea เป็นประเทศในแถบโอเชียเนีย เป็นพื้นที่ทางด้านตะวันออกของเกาะนิวกินี ซึ่งเคยปครองดูแลโดยประเทศออสเตรเลียมาช่วงหนึ่ง ส่วนพื้นที่ทางด้านตะวันตกของเกาะนิวกินี เป็นของจังหวัดปาปัวของประเทศอินโดนีเซีย ตั้งอยู่ในบริเวณตะวันตกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก อยู่ทางเหนือของประเทศออสเตรเลีย และอยู่ทางตะวันตกของหมู่เกาะโซโลมอน มีลักษณะเป็นภูเขาและชายฝั่งทะเล เกาะนิวกินีเป็นเกาะที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองลงมาจากเกาะกรีนแลนด์ มีภาษาทางการเป็นภาษาอังกฤษ เนื่องจากเคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษมาก่อน แต่มีคนพูดได้น้อย ส่วนมากจะพูดภาษาทอกพิซินซึ่งเป็นภาษาครีโอล แต่อย่างไรก็ตาม ประชากรประเทศนี้มีประมาณ 5 ล้านคน ประกอบด้วยชนหลายเผ่าพันธุ์มาก เช่น ชาวเมลานีเซียน ปาปัว เนกริด ไมโครนีเซียน และพอลินีเชีย จึงมีภาษาพูดกว่า 800 ภาษา
การคมนาคมในประเทศปาปัวนิวกินีถูกจำกัดอย่างมากด้วยภูมิประเทศที่เป็นภูเขา การเดินทางด้วยเครื่องบินจึงเป็นการเดินทางที่สำคัญในปาปัวนิวกินี เมืองหลวงพอร์ตมอร์สบีไม่มีถนนเชื่อมต่อถึงเมืองใหญ่อื่นๆ และหลายหมู่บ้านบนภูเขาสามารถเดินทางไปได้ด้วยเครื่องบินเล็กหรือเดินเท้าเท่านั้น ท่าอากาศยานนานาชาติแจ็คสันส์เป็นท่าอากาศยานหลักของปาปัวนิวกินี อยู่ห่างจากกรุงพอร์ตมอร์สบี 8 กิโลเมตร ประเทศปาปัวนิวกินีมีสนามบิน 561 สนามบิน โดยมีเพียง 21 สนามบินที่ลาดยาง ทางหลวงที่ยาวที่สุดในปาปัวนิวกินียาว 700 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างเมือง Lae ที่ชายฝั่งกับเมือง Tari บนภูเขา ท่าเรือหลักของประเทศอยู่เมืองพอร์ตมอร์สบี และ Lae
ปาปัวนิวกินีเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ ทรัพยากรทางทะเล ทองคำ ทองแดง น้ำมันดิบ แก๊สธรรมชาติ รายได้หลักของประเทศขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมการประมง เหมืองทองแดง เหมืองทองคำ และการท่องเที่ยว ส่วนด้านเกษตรกรรม ส่วนใหญ่เป็นการเพาะปลูกกาแฟ โกโก้ และมะพร้าว ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศออสเตรเลีย ประเทศสิงคโปร์ ประเทศญี่ปุ่น ประเทศนิวซีแลนด์ สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ทองคำ น้ำมันดิบ กาแฟ ทองแดง ซุง กาแฟ และสัตว์ทะเล ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมัน เครื่องจักรและอุปกรณ์การขนส่ง ส่วนประกอบรถยนต์ อาหาร และเชื้อเพลิง มีคนไทยเข้าไปอาศัยและทำงานอยู่จำนวนหนึ่ง และมีธุรกิจของคนไทยเข้าไปลงทุนตามที่เดลินิวส์เคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้ ฉบับนี้ขอแนะนำวิศวกรเคมีหญิงไทยในออสเตรเลียที่เข้าไปทำงานในเหมืองทองบนเกาะ Lihir Island ซึ่งห่างจากเมืองหลวงของปาปัวนิวกินี Port Moresby ประมาณ 900 กิโลเมตร ต้องเดินทางด้วยเครื่องบินเล็กจากเมืองหลวงไปทำงานอย่างเดียว สำหรับชาวปาปัวนิวกินีที่อยู่บนเกาะอื่นๆในละแวกนั้น สามารถเดินทางไปเกาะทางเรือ Ferry
รัฐเอกราชปาปัวนิวกินี Independent State of Papua New Guinea เป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ ทรัพยากรทางทะเล ทองคำ ทองแดง น้ำมันดิบ แก๊สธรรมชาติ มีประชากรประมาณ 5 ล้านคน ประกอบด้วยชนหลายเผ่าพันธุ์
@@@@ ตูน จุติมา เจริญผล เป็นวิศวกรหญิงไทยคนเก่งคนไทยคนเดียวที่เข้าไปทำงานในเหมืองทองแห่งนี้ โดย NEWCREST ซึ่งเป็นบริษัทเหมืองทองคำและทองแดงที่มีสาขาใน ออสเตรเลีย แคนาดา และ ปาปัวนิวกินี บริษัทแม่นั้นสัญชาติออสเตรเลีย เธอมีตำแหน่งวิศวกรควบคุมการผลิตก๊าซออกซิเจน เพื่อใช้ในการถลุงหินให้เป็นทองคำ เธอเล่าให้เดลินิวส์ฟังว่า “ตูนเพิ่งเปลี่ยนงานใหม่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้เอง เหมืองปาปัวนิวกินีกำลังผลิตทองคำถือว่าใหญ่มาก ผลิตทองคำปีละ 1 ล้านออนซ์ (ทอง 1 บาท หนัก 0.49 ออนซ์) ส่งออกขายให้ Perth Mint ทั้งหมดคะ Perth Mint จะเอาทองที่ได้ ไปสกัดให้บริสุทธิ์ขึ้นไปอีก ก่อนขายปลีกหน้าร้าน อย่างที่ทุกคนพอทราบ ทองของออสเตรเลียเป็นที่นิยมมากที่สุดในโลกเพราะคุณภาพของเนื้อทองเป็นที่ต้องการของตลาดโลก เหมืองนี้มีพนักงานประมาณ 4,500 คน 90% เป็นชาวปาปัวนิวกินี และที่เหลือเป็นชาวต่างชาติ (Expat) ที่เดินทาง ไป-กลับระหว่างปาปัวนิวกินี กับ ประเทศที่ตนพำนักถาวร Expat ก็จะมีมาจากหลากหลายประเทศ ส่วนมากจะเป็นชาวออสเตรเลีย และ ฟิลิปปินส์ ส่วนคนไทยที่ทำงานในเหมืองอาจจะมีตูนแค่คนเดียว ในขณะนี้ แร่จากเหมืองนี้ มีส่วนประกอบที่ค่อนข้างแตกต่าง ทำให้กระบวนการถลุงและสกัดทองคำแตกต่างออกไปจากเหมืองอื่นๆ ก๊าซออกซิเจนบริสุทธิ์ในปริมาณสูงจึงเป็นวัตถุดิบสำคัญตัวหนึ่งในกระบวนกานผลิตทองคำของเหมืองนี้ อันนี้แหละทำให้เขาต้องการตัวตูน ด้วยตูนมีประสบการณ์ทำงานกับ BOC ที่ผลิตก๊าซออกซิเจน มา 13 ปี ทำให้ตูนได้รับเลือกให้เป็นพนักงานของเหมืองทองนี้ ส่วนตัวรู้สึกได้ว่า ชาวปาปัวนิวกินีบนเกาะ Lihir เป็นมิตร กับชาวต่างชาติมากกว่า ชาวปาปัวนิวกินีในพื้นที่อื่นๆของประเทศ ส่วนหนึ่งอาจจะเนื่องจากคนบนเกาะได้รับความเจริญที่มาจากเหมือง เช่น ไฟฟ้า ร้านค้าสินค้านำเข้า และรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการมีอาชีพ เหมืองมีระบบจัดการความปลอดภัยให้พนักงานที่เข้มงวด เพื่อป้องกันโอกาสเกิดคดีฆาตกรรมอย่างพื้นที่อื่นๆในปาปัวนิวกินี เหมืองมีที่พักให้พนักงานระหว่างปฏิบัติงานบนเกาะ จัดหาอาหารให้ครบทั้ง 3 มื้อ มีรถบัสรับ-ส่งระหว่างเหมืองและที่พัก และ อำนวยความสะดวกให้แม่บ้านทำความสะอาดบ้านพักและซัก-รีดผ้าให้พนักงาน ตั้งแต่สถานการณ์โควิดระบาด การเดินทางของ Expat เป็นปัญหาอย่างมาก รวมถึงการต้องเสียเวลาเพื่อ quarantine ทั้งขาเข้าและขาออกระหว่างประเทศ เหมืองแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการเปลี่ยน Roster ใหม่ให้พนักงานทำงานบนเกาะยาวขึ้น เช่นจาก 2 สัปดาห์ เป็น 2 เดือน และได้กลับบ้านยาวขึ้น เพื่อลดความถี่ในการ quarantine ตูนก็เลยได้มาพักที่เพิร์ธในช่วงนี้”
มารู้จักผู้หญิงคนนี้ให้มากยิ่งขึ้น ผู้อ่านที่กำลังหาแนวทางการทำงาน การเรียนต่อ หรือการใช้ชีวิตในต่างแดนจะได้เห็นเป็นแนวทาง จุติมาเล่าต่อว่า “ที่ได้เป็นตูนแบบตูนทุกวันนี้ มันเป็นความโชคดีของโอกาสและจังหวะชีวิตที่พอเหมาะ ก็เลยทำให้ได้มีโอกาสมาทำงานที่ต่างประเทศ ตูนจบการศึกษามาจากประเทศไทยทั้งหมดเลยคะ ไม่ได้เทคคอร์สเรียนอะไรที่ออสเตรเลียเพิ่มเติมเลย นอกจากคอร์สสั้นๆที่ที่ทำงานส่งให้ไปเรียน ตูนเรียนจบมัธยมจากโรงเรียนที่บ้านเกิดที่นครสวรรค์ แล้วก็ได้มาเรียนต่อปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์เคมีคะ ตอนเรียนจบปริญญาตรีก็ยังคิดก้ำกึ่งว่าจะทำงานเลยหรือว่าจะเรียนต่อปริญญาโทดีเพราะก็อยากทำงานหาเงินแบ่งเบาภาระพ่อแม่ด้วย แต่โชคช่วยคะ ทางจุฬาลงกรณ์เสนอทุนการศึกษามาให้ก็เลยตัดสินใจที่จะเรียนต่อปริญญาโทในตอนนั้น ปริญญาโท ก็เรียนคณะเทคโนโลยีปิโตรเคมี Petrochemical Technology เป็นหลักสูตรอินเตอร์ ทำให้ได้มีโอกาสได้ความรู้วิชาการโดยตรงจากอาจารย์ฝรั่ง จาก มหาวิทยาลัยมิชิแกน และ ผู้เชี่ยวชาญ แขนงต่างไปจากบริษัทชั้นนำในอเมริกา ช่วงเรียนปี 2 ได้ไปทำงานวิจัยที่อเมริกาอยู่ 6 เดือนค่ะ ก็เลยทำให้เปิดโลกทัศน์ของตัวเอง ทั้งฝึกและฝืนไม่ให้ตัวเองกลัวการสื่อสารกับฝรั่ง ส่วนตัวคิดว่าช่วงที่ได้มีโอกาสไปอเมริกาเพื่อไปทำงานวิจัยตอนนั้น น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนของความคิด ว่าจริงๆการได้มาทำงานที่เมืองนอกหรือการอาศัยอยู่ต่างบ้านต่างเมือง มันก็ไม่ได้ยากหรือน่ากลัวอย่างที่คิด แล้วบริษัทที่ตูนไปทำงานวิจัยร่วมด้วยก็มีนักวิจัยที่เป็นชาวเอเชียอยู่หลายคนทีเดียว ที่ สำคัญที่สุดคืออาจารย์ที่คุมงานวิจัยของตูนเองก็เป็นคนไทย อาจารย์ประสบความสำเร็จอย่างมากในแวดวงอุตสาหกรรมเคมีระดับโลกเลยนะคะ อาจารย์ท่านนี้น่าจะคือไอดอลของตูนละมัง พอเรียนจบปริญญาโท ชีวิตก็เป็นไปตามใช้ pattern ของเด็กคร่ำครึกับการเรียนปกติ”
เธอทำงานเป็นวิศวกรเคมี ดูแลควบคุมการกลั่นน้ำมัน ของโรงกลั่นเอสโซ่ศรีราชาได้ 2 ปีกว่า จึงลาออก ย้ายมาทำงานที่บริษัท TIG (ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็น Linde) ในตำแหน่งวิศวกรควบคุมการผลิตก๊าซอุตสาหกรรม เธอเล่าว่า “ที่บริษัท TIG ธุรกิจของเขาคือผลิตก๊าซหลายชนิดเลยคะ เพื่อใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมต่อไป โรงงานที่ตูนดูแลตอนนั้นคือเอาอากาศจากธรรมชาตินี่แหละคะ มาเข้ากระบวนการผลิต แล้วกลั่นแยกด้วยความเย็น เพื่อแยกอากาศออกมาเป็น ไนโตรเจนบริสุทธิ์ ออกซิเจนบริสุทธิ์ อาร์กอนบริสุทธิ์ ตัวอย่างนึงที่เห็นชัดๆก็คือ ออกซิเจนบริสุทธิ์ที่ใช้ตามโรงพยาบาลคะก็คือหนึ่งในผลิตภัณฑ์จากโรงงานของพวกเราคะ TIG เป็นบริษัทที่ณตอนนั้นมีบริษัทแม่อยู่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเขามีสาขาทั่วโลกเลย แทบจะทุกประเทศในโลกก็ว่าได้ และแน่นอนค่ ออสเตรเลียก็เป็นสาขาลูก โซนใหญ่ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่ออสเตรเลียจะใช้ชื่อบริษัทว่า BOC คะ ช่วงที่ทำงานอยู่ที่ TIG ก็ได้มีโอกาสติดต่อกับวิศวกรและผู้ใหญ่ ของ BOC ออสเตรเลียบ้าง ได้เจอได้รู้จักกันเรื่องงาน ก็เหมือนเป็นการเปิดโอกาสตัวเองอีกครั้งนึงให้ชาวต่างชาติได้เห็นความคิดความสามารถของวิศวกรไทย พอ BOC มีตำแหน่งวิศวกรว่างเปิดที่ซิดนีย์ ตูนก็เลยลองสมัครดูคะ ด้วยความที่เราก็พอจะรู้จักพนักงานในนั้น และก็เขาก็รู้ก็เห็นว่าเราทำงานสไตล์ไหน ความสามารถเราเท่าไหร่ เขาก็ตัดสินใจรับเราเข้าทำงานเลย”
จุติมามาออสเตรเลียด้วย Working Visa 457 โดยบริษัทสปอนเซอร์ให้และบริษัทก็สปอนเซอร์ PR ให้เธอด้วย เธอเล่าต่อว่า “หลังจากนั้น แล้วตูนก็สอบ Citizen เองคะ ตอนนี้รวมเวลาอยู่ออสเตรเลียก็ 14 ปี แต่จะมีช่วงย้ายกลับไปทำงานกับ TIG ที่ไทย 3 ปี ในระหว่าง 14 ปีนี้ด้วยคะ ตูนทำงานกับทั้งที่ TIG รวมกับ BOC รวมกันก็ 13 ปีกว่าคะ นานมากนะคะ ตอบแทนบุญคุณด้วยมังตามนิสัยถาวรของคนไทย เรื่องราวการทำงาน การเติบโตในที่ทำงาน มีให้เล่าเยอะมาก เอาไว้น้องสนใจจริงๆจะเล่าให้ฟังส่วนตัว วัฒนธรรมการทำงานของบริษัทนี้ที่ตูนประทับใจมาก ก็คือ อิสระและโอกาสที่เปิดกว้าง 13 ปีกว่า กับบริษัทนี้บริษัทเดียวกัน ตูนเปลี่ยนตำแหน่งงานทั้งหมด 5 ตำแหน่ง มีทั้งที่อยากเปลี่ยนเองและบริษัทเสนอให้ทำคะ อะไรว่าดี ตูนทำหมดคะ ไม่มีปล่อยให้หลุดมือ เริ่มจากวิศวกรฝ่ายผลิต ปรับลงมาเป็นพนักงานฝ่ายผลิต ปรับขึ้นเป็นผู้จัดการโรงงาน ปรับขึ้นเป็นผู้จัดการโรงงานระดับภูมิภาค ย้ายที่อยู่อาศัย 5 ที่ (กรุงเทพ ซิดนีย์ ดาร์วิน ระยอง เพิร์ธ) อยากบอกน้องๆ อย่าเลือกงาน โอกาสมี รีบฉกฉวย ที่ภูมิใจที่สุดคือ ตูนเคยได้รางวัลชนะเลิศหมวดพนักงานดีเด่น People Excellent ประจำปีของบริษัท ระดับประเทศออสเตรเลีย และ ระดับ Asia Pacific ด้วยนะคะ ทำให้ตูนภูมิใจ รู้สึกว่า คนไทยจะทำอะไร ไม่แพ้ชาติใดในโลกคะ ตูนชอบการเปลี่ยนแปลงและการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆไปเรื่อยๆคะ หัวหน้าหลายคนตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันบอกว่า เขาชอบสไตล์การทำงานของตูนที่มีความเป็นไทยที่อ่อนน้อม ถ่อมตน ไม่ก้าวร้าว มี can do attitude และ มีเทคนิคหลอกล่อให้ทีมทำงานให้จนสำเร็จลุล่วง”
แล้วก็มาถึงจุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ของเธออีกครั้ง หลังจากทำงานที่บริษัทเดิมมา 13 ปีกว่าๆ เธอเน้นว่า “จริงๆทุกอย่างยังโอเคกับบริษัทเดิมนะคะไม่มีปัญหาอะไร เจ้านายก็รัก แต่อย่างที่บอกเมื่อมีโอกาสเข้ามาเราก็ควรเปิดโอกาสรับไว้พิจารณา ตูนตัดสินใจลาออกจาก BOC หลังจากเซ็นสัญญากับบริษัทใหม่ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้เองคะ สมัครงานผ่านทาง LinkedIn ด้วยความที่เราไม่เคยสมัครงานมามากกว่า 10 ปี ตูนดูคลิปพวกเทคนิคการตอบสัมภาษณ์งานจาก YouTube เยอะมาก ดูจนตูนตกตะกอนความคิดว่าเราอยากจะ present ตัวเองออกมาในมิติไหน ให้เป็นตัวเราที่โดดเด่นมากที่สุด ต้องบอกทิปคะ ตอบน้อยๆ แต่เน้นๆ เพราะพูดเยอะไม่ได้ โม้เป็นอังกฤษไม่ปรื๋อคะ ตูนอยากฝากไว้ให้คนที่ต้องการสมัครงานผ่าน head hunter นะคะ นอกจากต้องทำ Resume กับ Cover Letter ที่ดึงดูดความสนใจแล้ว เรายังต้องสร้างภาพลักษณ์ของเราในสื่อ social ต่างๆ ให้ดีด้วยคะ เพราะสิ่งที่เราโพสต์ลงไป มันจะสะท้อนความเป็นตัวเรา เราอาจจะตอบสัมภาษณ์ได้ดี แต่อาจจะขัดแย้งกับภาพลักษณ์เราแสดงออกใน social profile ยิ่งสัมภาษณ์งานยุคโควิด ผ่าน VDO conference นะคะ ไม่เจอตัวจริงเป็นๆ ไปลุ้นตัวจริงกันวันเริ่มงาน แต่ก็แปลกดีคะ”
จุติมาฝากทิ้งท้ายเอาไว้ว่า “พี่ตูนฝากถึงน้องๆในออสเตรเลียหรือในประเทศไทยเองก็เถอะ ไม่มีใครแก่เกินเรียน แก่เกินในการทำงาน ปีนี้พี่ตูนอายุ 42 ปีแล้ว แต่พร้อมลุยทุกเวลา คนไทยต้องกล้าจะ take up challenge สิ่งใหม่ๆ และ รักษาอัตลักษณ์ความเป็นคนไทยไว้แม้จะทำงานในองค์กรฝรั่ง ให้เรามั่นใจได้เลยว่า ผู้หญิงหรือผู้ชายมีสิทธิ์มีเสียงเท่ากันในที่ทำงาน ทุกอย่างวัดกันที่ผลงานล้วนๆ และถ้าเราไม่เก่งเท่าคนอื่น ก็ขอแค่เรามีทัศนคติที่ดีต่อองค์กร เท่านี้เองคะ”
จุติมา เจริญผล วิศวกรควบคุมการผลิตก๊าซออกซิเจน เพื่อใช้ในการถลุงทองคำ NEWCREST ในปาปัวนิวกินี และประสบการณ์ 13 ปีกว่า กับการทำงานทั้งที่ TIG และ BOC เพื่อผลิตก๊าซอุตสาหกรรมในหลายประเทศ
จุติมา กับการทำงานในเหมืองทองบนเกาะ Lihir Island ซึ่งห่างจากเมืองหลวงของปาปัวนิวกินี Port Moresby ประมาณ 900 กิโลเมตรของบริษัท NEWCREST ซึ่งมีกำลังผลิตทองคำใหญ่ที่สุดในปาปัวนิวกินี ผลิตทองคำปีละ 1 ล้านออนซ์
ไตรภพ ซิดนีย์