เมื่อปี่กลองเลือกตั้งดังขึ้น จะยุบสภาหรือไม่ก็แล้วแต่นายกฯ แต่แน่ๆ คือ กฎเหล็ก กกต.ออกมาแล้วว่า พรรคการเมือง ผู้จะลงสมัคร ส.ส.ทำอะไรได้บ้าง ในช่วง 180 วันก่อนสภาครบวาระ ตอนนี้เราก็อาจเจอ คำพูดเว่อร์ๆ เพื่อโจมตีรัฐบาล ประเภทถ้าให้บริหารราชการต่ออีกสมัย คนจะอดตายทั้งแผ่นดิน รัฐบาลนี้ทำให้หนี้ครัวเรือนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ฯลฯ และตอนนี้ก็ได้มีประเด็นใหม่ให้ด่ารัฐบาลได้ คือเรื่อง คำวินิจฉัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่งมาครบ 8 ปีหรือไม่ บอกว่าเป็น กติกาที่ไม่เป็นธรรม คนของ คสช.มาตัดสิน คสช. ดังนั้นต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือขั้วการเมืองใหม่เข้ามาเพื่อล้างระบอบ คสช.ให้สิ้นซาก

เรื่องความรักชอบทางการเมืองก็เรื่องหนึ่ง รักชอบฝั่งไหนก็มีผลต่อการยอมรับคำวินิจฉัยได้หรือไม่ได้ แต่การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สำคัญ คือ การเสนอนโยบายด้านเศรษฐกิจ ซึ่งสองขาสำคัญที่สร้างรายได้เข้าประเทศที่เรารู้ๆ กัน คือ เรื่องส่งออกและท่องเที่ยว อีกเรื่องหนึ่งคือ การกระตุ้นการบริโภคในประเทศ …ขณะนี้มีคำที่ใช้กันจนเฟ้อ คือ “soft power” ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการสร้างรายได้ โดยเขายกตัวอย่างให้ดูเกาหลีใต้ ที่เจริญเติบโตแบบพุ่งพรวด ด้วยการส่งออกซอฟต์เพาเวอร์ ผ่านเนื้อหาสื่อบันเทิง เพิ่มมูลค่าสินค้าวัฒนธรรมเกาหลี

เพิ่มมูลค่าอย่างไร? เดิมเกาหลีใต้นี่ไม่ใช่ประเทศที่เป็นที่สนใจ หรือเป้าหมายในการท่องเที่ยวเลย ตอนนี้คนไทยฮิตไปเกาหลีใต้น้องๆ ญี่ปุ่น (ซึ่งยังจะมีปัญหาพวกเข้าไปเป็นผีน้อยอีก ล่าสุดเข้าทางเกาะเจจู จนคนที่จะไปเที่ยวลำบากไปหลายคน) กรุงโซลก็ไม่ใช่สถานที่ที่มีแหล่งท่องเที่ยวอะไรมาก ก็ไปชอปปิงกันที่ตลาดเมียงดง ไปเดินดูเมือง ซึ่งก็ไม่ต่างจากพวกเมืองใหญ่ๆ เท่าไร ไม่มีจุดเช็กอินเมืองใหญ่ที่โดดเด่นเหมือนสี่แยกชิบูย่า ที่ญี่ปุ่น ..แต่ตอนนี้คนไทยเดินทางไปเกาหลีใต้ บางครั้งแค่เพื่อไปชมคอนเสิร์ตศิลปินเคป๊อป หรือชอบเกาหลีจากสื่อบันเทิง ก็ไปให้รู้ว่า ของจริงเป็นอย่างไร

พวกอาหารอะไรต่างๆ จริงๆ แล้วอาหารเกาหลีมันก็ไม่ได้จะต้นทุนแพงอะไร แต่พอ คนชื่นชอบเกาหลีแล้วก็สร้างมูลค่ากันให้มันเวอร์ไปอีก อย่าง พวกปิ้งย่าง ของเกาหลีก็มักจะเป็น หมูสามชั้นห่อผัก รามยอน ที่ฮิตๆกันก็ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป กิมจิ ก็คือผักดองที่กระบวนการยุ่งยากกว่าผักดองทั่วไปหน่อย แต่อาหารพวกนี้พอแปะป้ายภาษาเกาหลีเอามาขายในร้านเมืองไทยก็ขายแพง (แต่บางร้าน ผู้บริโภคก็ยอมให้แพง ถ้าเครื่องเคียงได้ครบตามสำรับชาววังเกาหลีจริงๆ)

เราจะเสนอซอฟต์เพาเวอร์อย่างไร? ถ้าพูดกันง่ายๆ แบบไม่คิดอะไรมาก คือใช้สื่อบันเทิงเผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ที่เชื่อมโยงกันทั่วโลก พอคนชอบสื่อบันเทิงไทยก็มีผลต่อการบริโภคสินค้าไทยตามมา ..เรามาเริ่มกันที่เพลงก่อน ตอนนี้ศิลปินหน้าใหม่บางคนของไทยน่าสนใจที่จะผลักดันสู่อินเตอร์ได้บ้าง แต่ก่อนหน้านี้ ช่วงที่ยังมีเทป ซีดีขาย ประเทศไทยมีการละเมิดลิขสิทธิ์สูงมาก ขณะที่ข่าวว่า ค่ายเพลงก็เขี้ยวขนาดว่า เพลงต้องเป็นสมบัติของค่ายเพลงเท่านั้น นักร้องเอาไปร้องไม่ได้ อย่างที่เราเคยได้ยินข่าว มิวสิค บั๊กส์ ฟ้องวงดนตรีที่ออกจากค่าย ที่นำเพลงของค่ายไปร้อง, มีการฟ้องฟอร์ด สบชัย ที่เอาเพลงหยุดตรงนี้ที่เธอ ไปร้องในงานแต่ง, ตั๊กแตน ชลดา ร้องเพลงฮิตของตัวเองไม่ได้

กระบวนการลงทุนในด้านเพลง ทำ “ทีป๊อป” ของเราไม่ได้แข็งแรง มีคนมีใจรักจะทำแต่ ช่องทางเผยแพร่มันค่อนข้างแคบ บางเพลงกว่าจะรู้จักก็ต่อเมื่อมันกลายเป็น ไวรัลในอินเทอร์เน็ต หรือพูดกันปากต่อปาก ถ้าทำเพลงขายให้รุ่ง ขายเพลงลูกทุ่งหรือเพลงภาษาถิ่นจะดังกว่า อย่างที่เราเคยได้ข่าวว่า ศิลปินที่มียอดวิวสูงสุดในประเทศไทยคือ มนต์แคน แก่นคูน แต่ดูๆ แล้วก็เป็นเพลงฟังเพลินๆ ได้ ไม่มี “อัตลักษณ์” แบบดึงดูดให้เกิดการบริโภคเอาอย่าง แบบกรณี ลิซ่า แบล็กพิงก์ ใส่รัดเกล้าเล่นเอ็มวี วันต่อมารัดเกล้าขายดีที่พาหุรัด …ซึ่งก็ต้องบอกว่า กะเทยเป็นผู้สร้างกระแสเยอะ เพราะมีความอยากสวยเด่นและอารมณ์ขัน แล้วกะเทยก็จะเลียนแบบศิลปินกันว่าใครเลิศกว่ากัน.. แต่ศิลปินที่ว่าต้องมีความเป็น “Icon” คำนี้อธิบายยาก แนวๆ โดดเด่นเป็นผู้นำแฟชั่นป๊อป อย่างเราเห็นเมืองนอกแต่งตัวเลียนแบบ แฌร์ มาดอนน่า หรือ เอลวิส เพรสลีย์

กว่าจะสร้างทีป๊อป หรือป๊อปแบบไทยได้ก็คงอีกยาวนาน ตอนนี้เอาจริงคือยังไม่เห็นบุคลิกที่โดดเด่นในงานเพลงไทยนอกจากเพลงลูกทุ่ง (หลายเพลงด่ากันเจ็บๆ ดี) งั้นเราก็มาเนื้อหาหนังและซีรีส์ …ในส่วนของหนัง มีแต่คนดูถูกว่า “หนังไทยมีแต่หนังผี ตลก กะเทย” ซึ่งเอาจริงแล้ว มันก็ไม่ได้ว่าจะเลวร้ายอะไร มันเป็นซอฟต์เพาเวอร์ที่เสพง่ายด้วยซ้ำ เพราะประเทศนี้ ค่อนข้างหน้าบาง จะให้ทำหนังชำแหละประวัติศาสตร์หรือวิพากษ์การทำงานของกลุ่มอาชีพใดอาชีพหนึ่ง (โดยเฉพาะพวก “คนมีสี” ทั้งหลาย) เห็นทีจะถูกประท้วงหนักหรือโดนแบนแต๊ดแต๋ พูดให้ปากฉีกถึงหูว่าสถานการณ์สมมุติ คนเรามีดีเลวปะปนกัน ก็โดนข้ออ้างว่า กลัวจะเกิดภาพเหมารวม..ราวกับยุคนี้ยังมีแม่ค้าดักใช้ทุเรียนตบดาวร้ายอยู่

หนังผี ก็มีแฟนคลับกลุ่มใหญ่อยู่ และถ้าทำดีๆ ก็ส่งออกขายแพลตฟอร์มต่างชาติ อย่างอินโดนีเซียตอนนี้ก็ดูเหมือนฮิตหนังผีและพยายามสร้างบุคลิกให้หนังผีออกมาในแนวโหดๆ หน่อย อย่างเรื่อง satan’s slave…เดี๋ยวแม่ลากไปลงนรก, impetigore…บ้านเกิดปีศาจ มีโอกาสได้เข้าโรงในประเทศไทย ผีก็กระหน่ำหลอกเสียมาก อินโดนีเซียยังมีหนังผีที่เผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง บางเรื่องก็ออกแนวโหด ..หนังผีเป็นเรื่องของการ “ส่งออกความเชื่อและคติชน” ของประเทศนั้นด้วย และบางครั้ง “จินตนาการเกี่ยวกับผีและปิศาจ” ในแต่ละภูมิภาคก็ดึงดูดความสนใจให้ต่างชาติอยากเรียนรู้

อย่างความเชื่อและคติของไทย ผีหรือปิศาจบางอย่างมันเป็นเรื่องของกรรม และเป็นผีที่มีรูปลักษณ์เฉพาะ เช่น กระสือ นอกจากการสืบต่อทายาททางน้ำลายแล้ว ยังมีความเชื่อว่ากระสือคือ “โรคกรรม” คือเกิดจากกรรมเก่า อย่างเช่นในหนังเรื่องกระสือวาเลนไทน์ ..หรือ เปรต มันก็เป็นความเชื่อเรื่องคนทำเลวต้องกลายเป็นเปรต เป็นสัตว์นรกใช้กรรมในนรก 8 ขุม ก็เป็นการส่งต่อความคิดเรื่อง “กรรมคือผลของการกระทำ” ออกสู่สากลได้ ..ขณะที่ผีฝรั่งจะออกแนวแก้แค้น ผีหวงที่ หรือคำสาปเสียมาก หนังแนวคำสาปมาเฟื่องจากเรื่อง the ring ที่ฮิเดโอะ นาคาตะ สร้างปี 1998 ท่าเดินหงิกงอของผีซาดาโกะ กลายเป็นท่ายอดฮิตของผีทั่วโลกไปทันที เพราะการเดินผิดธรรมชาติมันดูมีความคุกคาม ไม่น่าไว้ใจ

เผลอๆ ไม่แน่ว่า การทำหนังผีออกสู่สากลได้ ต่างชาติได้เห็นอัตลักษณ์เฉพาะของผีไทย (หรือในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ไม่ใช่แค่เปรตหรือกระสือ ผีป่า ผีกะ ผีบ้านผีเรือนก็ยังมีอีก) ก็จะเกิดความนิยมและจะกลายเป็นหนังผี “ไทยสไตล์” แบบที่อินโดนีเซียพยายามทำสไตล์ของตัวเอง (ส่วนญี่ปุ่นทำได้สำเร็จแล้ว) ที่มีกลุ่มแฟนคลับ หรือทำให้นานาชาติหันมานิยมเรื่องพระเครื่อง จนถึงการ “มูเตลู” ส่งผลดีต่อตลาดวัตถุมงคลไทยอีก (แต่อย่าไปสอนให้มูสายดำ ประเภททำเสน่ห์ฝังรูปฝังรอย อีกาจับปากโลง หรือทำกุมารทองเข้าล่ะ) พระเครื่องเป็นตลาดที่น่าสนใจ หลังๆ เห็นมีต่างชาติทั้งเอเชียทั้งฝรั่งห้อยพระเครื่องมากขึ้น หนังก็มีส่วนในการสร้างสตอรี่ของพระแต่ละรุ่นได้

ประกาศศักดาให้ผีทั้งโลกรู้ว่า ผีไทยเฮี้ยนสุด “Ghost House” - Bright Today

อีกประเภทหนึ่งที่คนมักจะดูหมิ่นไยไพในหนังไทยคือ “สร้างแต่หนังกะเทย” ..ซึ่งเอาจริงแล้วกะเทย คือตัวสร้างกระแสกระตุ้นซอฟต์เพาเวอร์ อะไรที่กะเทยพูดถึงจะกลายเป็นไวรัลได้เร็ว อย่างวลีพวก “พูดได้ไหมพี่จี้”, “แดงไหน”, “เนี่ยหรือนพนภา”, “อีตัวต้นเรื่อง”, “สู่ขิต” ฯลฯ ภาษาพวกนี้ถูกเอามาใช้ในเซ้นส์ของความตลกจนติดปาก..นี่แหละ ลักษณะหนึ่งของซอฟต์เพาเวอร์ คืออยู่ๆ คุณก็เปิดรับมันมาเองโดยไม่ต้องยัดเยียด

แล้วกะเทยไทยก็เป็นที่เชิดหน้าชูตา เราจะลืมๆ เรื่องพวกจกทรัพย์นักท่องเที่ยวที่พัทยาไปก่อน แต่ กลุ่มข้ามเพศ (transgender) ไทยนั้นสวยจนเป็นที่ขึ้นชื่อ แบบว่าหลอกผู้ชายได้ ในหนังฝรั่งบางเรื่องอย่าง Bridget Jones’s diary ภาค The edge of reason ก็มีตอนที่ฮิวจ์ แกรนท์ พูดถึงทรานส์ไทยว่าเหมือนผู้หญิงจริงๆ หรือในหนังตลกรายได้มหาศาล ที่ว่ากันว่าเป็นตัวกระตุ้นให้คนจีนเข้ามาเที่ยวไทย อย่าง Lost in Thailand ก็มีการพูดถึงบททรานส์สวย กลุ่มนี้ก็ทำงานเป็นนางโชว์ตามผับบาร์ต่างๆ หรือเป็นคณะโชว์ใหญ่อย่างทิฟฟานี่ ..แต่อย่างไรก็ตาม การนำเสนอภาพของสาวทรานส์ในไทย ถ้าเจ้าตัวไม่ได้ต้องการมาสายตลก ก็ควรต้องเสนอภาพลักษณ์ของเขาอย่างให้เกียรติ และเป็นไปในแบบที่เขาอยากให้เป็น ให้รู้ว่าทรานส์ไทยไม่ใช่ของแปลก หรือมีแต่เรื่องของการค้าประเวณี

เมื่อพูดถึงคำว่า หนังกะเทย ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มหลากหลายทางเพศ ..หนังหลากหลายทางเพศที่กำลังฮิตคือ หนังวาย (ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า เป็นเรื่องชายรักชาย งงว่าทำไมไม่เรียกหนังเกย์ แต่มีคนอธิบายว่า ถ้าหนังเกย์มันจะพูดถึงมิติความเป็น LGBTIQ+ กับสังคมด้วย ขณะที่ หนังวาย จะเน้นไปในทางโรแมนติก) ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพเป็น HUB ของหนังซีรีส์วายอยู่แล้ว เพราะค่อนข้างเสรีทางเพศที่สุดในเอเชียตะวันออกและอาเซียน ..จีน ลองไปสร้างวาย ถ้าดังขึ้นมารัฐบาลเขาก็แบนเอา เกาหลี ญี่ปุ่น เสรีกว่า แต่สาววายเขาบอกว่า “เนื้อหาไม่ชวนจิกหมอนเท่าของไทย” และเขาให้สังเกตว่า ดาราวายของไทยที่เป็นคู่จิ้นจะขายดีกว่าดาราวายของประเทศอื่นๆ ขนาดจัดแฟนมีทติ้ง มีแฟนคลับบินมาดูจากต่างประเทศ

ดาราวายบางคู่ดังในระดับภูมิภาคไม่ใช่แค่ประเทศ อย่าง “พีพี-บิวกิ้น” จากเรื่อง แปลรักฉันด้วยใจเธอ ก็สามารถส่งไปงานอินเตอร์ได้ เหมือนกรณี “พิชญ์-วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์สกุล” ที่โด่งดังจากหนังวายเรื่องแรกๆ ของไทย (ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นหนัง coming of age มากกว่า) เรื่องรักแห่งสยาม ก็เคยไปช่วยกระทรวงพาณิชย์ ขายทุเรียนที่จีน ตอนชื่อเสียงจากหนังรักแห่งสยามดังๆ ดาราวายที่สร้างบุคลิกเป็นไอคอนได้ ก็จะทำให้เกิดการเลียนแบบ (ซึ่งมีการบริโภคตามมา)

บิวกิ้น-พีพี" จับมือทำธุรกิจร่วมกัน ทุ่มทุนกว่า 10

ส่วนเรื่องตลก ถ้าทำให้เป็น “ภาษาสากล” หน่อย คือเป็นมุกที่เข้าใจกันง่าย ไม่ใช่มุกเฉพาะทางที่รู้กันแค่ในประเทศไทย เช่น เรื่องตลกร้ายเกี่ยวกับการเมืองต่างๆ มันก็ขายได้ง่าย หนังตลกที่เสนอฉากท่องเที่ยว ทำให้คนตามรอยมโหฬาร เคยมีแล้วอย่างเรื่อง Lost in Thailand ซึ่งไม่ต้องเป็นการเสนอด้านดาร์กๆ ของไทยเหมือนที่หนังต่างประเทศหลายเรื่องชอบเสียดสี ก็ประสบความสำเร็จได้ เพียงแต่ทำบท ทำหนังให้ดี โปรโมตให้น่าสนใจ

ผี กะเทย (หรือกลุ่มหลากหลายทางเพศ) ตลก เป็นตัวส่งเสริมซอฟต์เพาเวอร์ที่ดีที่สุดแล้ว แต่ทางรัฐไทยให้การสนับสนุนแค่ไหน? หรือหากจะขอทุนกองทุนสื่อปลอดภัยสร้างสรรค์สักเรื่อง ต้องมาแนวชาตินิยมเท่านั้น.   

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”