โดย “ดร.สติธร ธนานิธิโชติ” เปิดประเด็นว่า ไม่มีอะไรเปลี่ยนเยอะเพราะไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมาย โดยเฉพาะอดีตพรรคก้าวไกลที่มีความพร้อมและจะแสดงความพร้อมแบบมากเป็นพิเศษด้วยซ้ำ เช่น การประกาศตั้งพรรคการเมืองใหม่ทันที และชวนให้คนมาสมัครพรรคใหม่เพื่อโชว์ตัวเลขว่า “เขาฆ่าไม่ตาย” 

แต่ในเรื่องการทำงานต่อจากนี้อาจจะอ่อนกำลังลงไปบ้าง เช่น การทำงานที่สภาผู้แทนราษฎร ที่ “หมออ๋อง ปดิพัทธ์ สันติภาดา” ถูกตัดสิทธิ์ หลุดรองประธานสภา การเดินเกมประชุมให้เข้าทางฝ่ายฝ่ายค้าน หรือกิจการรัฐสภาที่หมออ๋องไปเริ่มเอาไว้หลายเรื่องก็น่าจะสะดุด ไม่ได้เข้มข้น เข้มแข็งเหมือนก่อนหน้านี้

ส่วนจำนวนสส. ที่คนมองว่าจะมีงูเห่านั้น ส่วนตัวคิดว่ามีไม่น่าจะเยอะ เพราะอุดมการณ์ก็เป็นเหตุผลหนึ่ง กับอีกคือก้าวไกลค่อนข้างละเอียดในการคัดสส. แต่บางส่วนที่อาจจะมีแพชชั่นทางการเมืองสูง ยังอยากทำงานทางด้านบริหารด้วย หากมีคนยื่นโอกาสให้ ก็อาจไปทำงานร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลก็ได้ แต่ไม่ใช่อามิสสินจ้าง และอีกส่วนอาจจะรอ 2-3 ปี มีการเลือกตั้งใหม่ค่อยกลับมา เลยคิดว่างูเห่ามีไม่เยอะ จริงๆ ไม่น่าเกิน 2 หลัก

รอบนี้ก้าวไกลมีการเตรียมความพร้อมล่วงหน้า ตั้งแต่มีคำสั่งเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2567 เรื่องเสรีภาพในการหาเสียงแก้มาตรา 112  เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ทำให้คาดเดาได้ว่า จะต้องมีคนไปยื่นยุบพรรคแน่ๆ

ดังนั้นจึงมีการวางฉากทัศน์เอาไว้แล้ว ไม่แค่แถลงหลังถูกยุบเท่านั้น แต่ประกาศให้รู้ไปเลยว่า เครื่องมือนี้ทำอะไรเขาไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องออกมาเร็วเพื่อสื่อสารกับพวกของตัวเองด้วยว่า ถ้าเรานิ่ง เรายึดมั่นในแนวทางของตัวเองต่อไป เราตั้งหลักได้เร็ว ก็จะยิ่งสร้างความฮึกเหิม และเป็นการตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามได้ในตัว

จึงมีการเตรียมการล่วงหน้าแล้วว่า ใครทำหน้าที่อะไร พรรคใหม่มีแล้ว เข้าไปประกาศว่าอุดมการณ์ก้าวไกลจะมาฝังอยู่ที่บ้านหลังใหม่ ยิ่งถ้ามีสมาชิกตามไปพรรคใหม่ไปเป็นกอบเป็นกำ ยิ่งแสดงให้เห็นเชิงสัญลักษณ์ที่พรรคอยากสื่อสาร และบิ้วความรู้สึกว่า “พรรคยังอยู่ ฆ่ายังไงก็ไม่ตาย”

@ คนรุ่น 3 จะสาสามารถปลุกพลังสร้างศรัทธาคนได้หรือไม่

มีแนวโน้มว่าได้ เพราะพื้นฐานของเขา คือ ความเป็น “พรรค” ไม่ว่าจะชื่ออะไร ก็แค่การย้ายบ้านใหม่ ไม่ว่าใครขึ้นมาเป็นเจ้าบ้านคนใหม่ คนก็ให้การสนับสนุน มีการเปรียบเทียบว่าจะได้เท่ากับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หรือไม่ ซึ่งจริงๆ ก่อนที่นายพิธาจะขึ้นมาถึงระดับนี้ ก็เคยมีคำถามว่านายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไม่อยู่แล้วจะมีใครทำได้หรือไม่ อยู่ๆ นายพิธาก็ขึ้นมา แล้วเหมือนเรตติ้งจะสูงกว่าด้วย ดังนั้นในแง่ตัวบุคคลและการตอบรับโดยพื้นๆ มีแน่ ส่วนความพีคอยู่ที่ว่าเป็นใคร ในสถานการณ์แบบไหน มีตัวช่วยอะไร  

@  รัฐบาลจะตั้งหลักเรียกคะแนนนิยมในช่วงที่ก้าวไกลเซได้หรือไม่

เหมือนจะได้ แต่ก็มีความเสี่ยง คือมีข่าวว่า หมดคดีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งคนมองว่าจะรอด แต่จะนำไปสู่การปรับครม.หากปรับบนสัดส่วนสส.เดิมก็ไม่มีปัญหา แต่พอยุบพรรคก้าวไกล มีสส.ที่ไม่มีสังกัด จะสร้างโจทย์ใหม่ให้รัฐบาลปวดหัว เกิดมีพรรคไหนดูดสส.พรรคก้าวไกลมาเติมเก้าอี้ในพรรคตัวเอง ก็จะปวดหัวมากขึ้น

“หลังจากที่ยุบพรรคก้าวไกลระยะต้น ๆ เป็นการสร้างโจทย์ใหม่ที่รัฐบาลต้องปวดหัวกับการบริหารอำนาจ  แทนที่จะได้ไปบริหารบ้านเมือง ผลักดันนโยบาย ทั้งๆ ที่เป็นโอกาสอันดีที่พรรคก้าวไกลยังยุ่งกับการตั้งพรรคใหม่ โอกาสค้านอาจจะวอกแว่กบ้าง แต่ปรากฏว่ารัฐบาลเจอโจทย์ใหม่จากศึกชิงอำนาจรอบใหม่ที่กำลังจะมา ดังนั้นเหมือนจะได้เปรียบแต่ก็ไม่ได้ เพราะได้ปัญหาใหม่เข้ามาแทน”

@ แนวโน้มการพิจารณาคดีนายเศรษฐา

ถ้ามองเป็นสัญญาณเดียวกันว่า ถ้ายุบก้าวไกล ก็น่าจะเก็บนายเศรษฐาไว้ ไม่น่าจะขยายปัญหาเพิ่มขึ้น เพราะสูตรการตั้งรัฐบาลแบบนี้ยังลงตัวอยู่ วันนี้ก้าวไกลยังไม่ถือว่าอ่อนแรง จึงต้องคงสภาพพรรครัฐบาลไว้ หากเอานายกฯ ออกอีก ก็จะเป็นการล้างไพ่ ตั้งรัฐบาลใหม่ จึงคิดว่าเขาไม่น่าจะเปิดประตูไปสู่ปัญหาใหญ่ นี่เป็นสูตรการเมือง

ไม่ควรผูกปมมากไปกว่านี้ ยกเว้นว่า นายกฯ บกพร่องจริงๆ ไม่ฟังใคร ดึงดันจะตั้งให้ได้ แต่ในการอธิบายโต้แย้งของนายกฯ ก็พูดชัดเจน ว่า มีการสอบถามตามกระบวนการไปแล้ว ถูกทูลเกล้า ฯ โปรดเกล้าฯ ลงมาแล้ว ส่วนเจ้าตัวเขาก็ลาออกแล้ว   

คำวินิจฉัยในสัปดาห์หน้าจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานว่า นายกฯ ทำชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าชอบ มีหลักเกณฑ์อะไร เช่น สอบถามกฤษฎีกา การส่งประวัติให้หน่วยงานอื่น ตรวจสอบ คำอธิบายนี้เป็นเกณฑ์มาตรฐานว่า นายกฯ คนต่อไป ทำอะไรแบบนี้ก็ไม่ได้ต้องมาร้องอีก หรือหากบอกว่า เป็นการกระทำที่ไม่ชอบ ขัดหลักจริยธรรม ก็ต้องอธิบายให้เห็นว่า อยู่ตรงไหน เพื่อนายกฯ คนต่อไปจะได้ทำอย่างถูกต้อง ไม่ขัดรัฐธรรมนูญอีก ดังนั้น คาดการณ์คือ ไม่น่าจะต้องเปลี่ยนตัวนายกฯ ตอนนี้

@ มีกระแสว่าเพราะคะแนนเพื่อไทยตกอาจปรับทัพใหม่ โดยเฉพาะนายทักษิณ ก็จะพ้นโทษแล้วจะเป็นอย่างไร

พรรคเพื่อไทยอาจจะคิดแบบนั้นได้ เพราะรู้สึกว่านายเศรษฐามาเป็นนายกฯ ได้ 1 ปี แล้วยังไม่เปรี้ยง ไม่ปัง แต่วันนี้เพื่อไทยไม่ได้เป็นคนกำหนดเกมคนเดียว เราอ่านทางจากสิ่งที่เกิดขึ้น ล่าสุด เช่น ในงานศพมารดาของนายกฯ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรี ไปร่วมงานให้กำลังใจ และสั่งพรรครวมไทยสร้างชาติ ว่า อย่าเกเร น่าจะจงใจส่งสัญญาณบางอย่างเป็นการยอมรับในตัวนายเศรษฐา

 เพราะการตั้งรัฐบาลรอบนี้เป็นการดีลกันระหว่างเพื่อไทย นายทักษิณ  ชินวัตร กับรัฐบาลที่แล้วนำโดยพล.อ.ประยุทธ์ และนายเศรษฐาว่าเป็นที่ยอมรับทั้ง 2 ฝ่าย แม้พรรคเพื่อไทยไม่แฮปปี้ 100% แต่ถ้าอีกฝ่ายไม่รู้สึกว่ามีปัญหาอะไร ออกจะสบายใจด้วยซ้ำ แบบนี้ก็ยิ่งชวนให้คิดว่า คงใช่แหละ ดังนั้น “การเมืองวันนี้ คือชัดแล้ว ชัดมาก ชัดเจน”.

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่