เดินหน้ามาเกือบ 1 ปี สำหรับ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะ (เฟส) ที่ 3 ในส่วนท่าเทียบเรือ F ที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ลงนามสัญญาร่วมทุนกับบริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด (GPC) เมื่อปลายเดือน พ.ย.64 เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต อีกหนึ่งโครงการสำคัญตามแผนพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เสริมความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศ

ล่าสุด นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เพื่ออัพเดทโครงการฯ พาเยี่ยมชมบริเวณโดยรอบท่าเรือแหลมฉบัง และการปฏิบัติงานของบริษัท ฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินอล จำกัด (ท่าเทียบเรือ D1) และบริษัท นามยง เทอร์มินอล จำกัด (มหาชน) ท่าเทียบเรือ A5 ผู้ประกอบการกิจการท่าเทียบเรือที่สำคัญของท่าเรือแหลมฉบังด้วย

ผู้อำนวยการ กทท. บอกว่า ภาพรวมการพัฒนาฯ มีความคืบหน้า 5% ล่าช้าจากแผนประมาณ 3-4 เดือน เนื่องจากระยะแรกติดข้อจำกัดมาตรการต่างๆ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กำลังดำเนินงานส่วนแรก คือการถมทะเล มีกิจการร่วมค้า ซีเอ็นเอ็นซี (CNNC) เป็นคู่สัญญาโครงการวงเงิน 21,320 ล้านบาท ได้ถมทะเล 1 (Key Date 1) เสร็จแล้วเมื่อวันที่ 31 ส.ค.65 จากเดิมต้องแล้วเสร็จเดือน พ.ค.65 ส่วนงาน Key Date 2 และ Key Date 3 ได้เร่งรัดผู้รับจ้างให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้

โดย Key Date 2 จะแล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.65 ขณะที่ Key Date 3 จะแล้วเสร็จภายในกลางปี 66 เบื้องต้น กทท. คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ท่าเทียบเรือ F ขนาด 1,000 เมตร ให้ GPC เข้าติดตั้งอุปกรณ์ยกตู้คอนเทเนอร์ได้ภายใน พ.ค.-พ.ย.66 จากนั้นจะส่งมอบพื้นที่ให้ครบ 2,000 เมตร ประมาณเดือน พ.ค.68

แจกแจงงานส่วนอื่นๆ ประกอบด้วย ส่วนที่ 2 งานจ้างเหมาก่อสร้างโครงการฯ ได้แก่ งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภค วงเงินประมาณ 7,000 ล้านบาท อยู่ในขั้นตอนการประชาพิจารณ์ร่างรายละเอียดเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) คาดว่าจะเปิดประกวดราคา (ประมูล) เดือน ต.ค.65 ได้เอกชนผู้ชนะประมูลภายในปี 65 ส่วนงานที่ 3งานก่อสร้างระบบรถไฟ วงเงินประมาณ 900 ล้านบาท และส่วนงานที่ 4 ติดตั้งเครื่องจักรและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ วงเงินประมาณ 2,200 ล้านบาท อยู่ในขั้นตอนร่าง TOR

คาดว่าส่วนงานที่ 3 จะเปิดประมูลเดือน พ.ย.65 ส่วนงานที่ 4 เปิดประมูลเดือน ธ.ค.65 ได้ผู้ชนะประมูลต้นปี 66 GPC จะเปิดให้บริการท่าเทียบเรือ F ส่วนที่ 1 (F1) ได้ภายในปี 68 จะเพิ่มขีดความสามารถรองรับตู้สินค้าให้ท่าเรือแหลมฉบัง จากปัจจุบันรองรับได้ 11 ล้านทีอียูต่อปี เป็นเป็น 13 ล้านทีอียูต่อปี จากนั้นจะเพิ่มขึ้นเป็น 15 ล้านทีอียูต่อปีในปี 72 เมื่อเปิดให้บริการท่าเทียบเรือ F ส่วนที่ 2 (F2)

โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 มูลค่าการลงทุน รวม 1.1 แสนล้านบาท ประกอบด้วย กทท. ลงทุน 5หมื่นล้านบาท และเอกชนลงทุน 6หมื่นล้านบาท ในส่วนของเอกชน แบ่งเป็น ท่าเทียบเรือ F ลงทุน 3 หมื่นล้านบาท และท่าเทียบเรือ E ลงทุน 3 หมื่นล้านบาท โดยจะพัฒนาท่าเทียบเรือ F ก่อน สัมปทาน 35ปี ส่วนท่าเทียบเรือ E รอพิจารณาความต้องการ (ดีมานด์) ในการขนส่งสินค้าและปริมาณตู้อีกครั้ง ก่อนจะเปิดประมูลร่วมลงทุนกับเอกชนต่อไป

กทท. วางเป้าหมายให้ท่าเทียบเรือ E แล้วเสร็จเปิดบริการได้ไม่เกินปี 78 เพิ่มขีดความสามารถให้ท่าเรือแหลมฉบังรองรับตู้สินค้าได้ 18 ล้านทีอียูต่อปี

ใจความสำคัญของท่าเทียบเรือ F เป็นท่าเรือขนาดใหญ่ มีความลึก 18.5 เมตร มีความยาวหน้าท่า 2 กิโลเมตร เมื่อการพัฒนาแล้วเสร็จ จะรองรับเรือขนาดบรรทุกสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่เรียกว่าเรือแม่ได้ โดยจะบริหารจัดการสินค้าด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย เป็นระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ ใช้แคร่และหุ่นยนต์ดำเนินงาน ปัจจุบันมีประมาณ 20 ท่าเรือทั่วโลก ที่ใช้ระบบนี้

แหลมฉบังเฟส 3 เปิดเส้นทางการคมนาคมทางน้ำของประเทศไทย กลายเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค ภายใต้ท่าเรือสีเขียว ที่คำนึงถึงคุณภาพสิ่งแวดล้อม ก้าวสู่ท่าเรือชั้นนำระดับมาตรฐานโลก ต้อนรับเรือแม่

ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง