ปัญหาข้อพิพาทระหว่าง “คิงส์เกต” จากประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในเหมืองทองคำอัครา จ.พิจิตร-เพชรบูรณ์-พิษณุโลก ของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) หลังจากถูกคำสั่งมาตรา 44 ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งปิดเหมืองทองคำดังกล่าวตั้งแต่ปลายปี 59 จนมีการฟ้องร้องคาราคาซังอยู่ในอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เพื่อเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ประมาณ 25,000 ล้านบาท แต่มีการเลื่อนตัดสินชี้ขาดออกไปหลายครั้ง ท่ามกลางกระแสข่าวว่ารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์มีโอกาสแพ้คดีสูง จึงต้องรีบอนุมัติให้ต่ออายุประทานบัตร เพื่อการทำเหมืองแร่ทองคำและเงินจำนวน 4 แปลง ออกไปอีก 10 ปี จนถึงเดือนธ.ค.74

พร้อมๆกับอนุญาตการต่ออายุใบอนุญาตเพื่อประกอบโลหกรรมแร่ทองคำด้วยวิธีการโลหะวิทยาสารละลาย วิธีการโลหะวิทยาไฟฟ้า วิธีการโลหะวิทยาความร้อนออกไปอีก 5 ปี จนถึงปี 70 รวมทั้งการให้สิทธิในการสำรวจแหล่งแร่ทองคำในพื้นที่ 3 จังหวัด อีกนับแสนไร่ จึงถูกส.ส.ฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจพล.อ.ประยุทธ์ และล่าสุดมีข่าวว่าปัญหาข้อพิพาทดังกล่าว จะต้องจบภายในสิ้นปี 65

ต้องใช้เงิน500ล้านบาทซ่อมโรงงาน-เครื่องจักร

ทีมข่าว Special Report มีโอกาสคุยกับ นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายประสานงานกิจกรรมภายนอก บริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าการเจรจาข้อพิพาทเป็นเรื่องของคิงส์เกตกับรัฐบาลไทย พวกตนไม่ทราบว่าจะมีการตัดสินชี้ขาดเมื่อไหร่ และเป็นไปในแนวทางไหน แต่งานที่ทำอยู่ขณะนี้คือรีบปรับปรุงซ่อมแซมโรงงาน เครื่องจักรกลต่างๆ รวมทั้งรถบรรทุกที่จอดแช่มานาน หลังจากถูกสั่งปิดเหมืองมา 5 ปี เพื่อให้เหมืองทองอัครากลับมาเปิดดำเนินการได้ในช่วงต้นปี 66 คาดว่าการปรับปรุงซ่อมครั้งนี้ต้องใช้เงินประมาณ 500 ล้านบาท ในจำนวนนี้อาจเป็นเงินจากต่างประเทศ 250 ล้านบาท อีกประมาณ 250 ล้านบาท จะขอกู้ในประเทศ ถ้ากิจการเราน่าสนใจ เงินแค่นี้คงหากู้ได้ไม่ยาก

โดยก่อนถูกสั่งปิด ในเหมืองมีอยู่ 2 โรงงาน แต่จะซ่อมโรงงานที่ 2 ก่อน เนื่องจากเป็นโรงงานที่ทันสมัยและซ่อมแซมง่ายกว่า เมื่อซ่อมเสร็จแล้วเปิดดำเนินการไปได้สักระยะหนึ่งประมาณ 1 ปี พอมีรายได้เข้ามาบ้าง จึงจะซ่อมโรงงานที่ 1 โดยก่อนถูกสั่งปิดนั้นทั้งสองโรงสามารถผลิตแร่ทองคำได้ปีละประมาณ 5 ตัน แร่เงินประมาณปีละ 20-25 ตัน แต่ถ้าเปิดเฉพาะโรงงานที่ 2 ก่อน คงผลิตแร่ทองคำได้ประมาณ 2 ตันกว่าๆต่อปี และแร่เงินประมาณ 6-7 ตัน

“ต้องบอกที่มาที่ไปของเหมืองทองอัครา ว่าเราเข้าสำรวจหาแหล่งแร่ทองคำในประเทศไทย โดยใช้เวลาเป็น 10 ปี ใช้เงินไป 600-700 ล้านบาท ช่วงหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง (ปี40) ประเทศไทยกำลังต้องการเงินตราจากต่างประเทศมากๆ รัฐบาลจึงสนับสนุนนักลงทุนจากต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ แต่เกี่ยวกับการสำรวจแหล่งแร่ทองคำไม่ง่ายเลย ต้องใช้เวลา ใช้เงินทุนสูง บางแห่งสำรวจเจอแร่ทอง แต่มีปริมาณน้อยไม่คุ้มค่ากับการลงทุนเปิดเหมือง บางแห่งสำรวจเจอแหล่งแร่เข้าไปในหมู่บ้าน หรือบ้านพักอาศัยก็ทำเหมืองไม่ได้ แล้วที่สำคัญคือเมื่อ 20 ปีก่อน ในประเทศไทยยังไม่มีใครสามารถถลุงแร่ทองคำ ให้เป็นทองคำบริสุทธิ์ 99.99% ได้ ส่วนแร่ทองคำที่เหมืองทองอัคราผลิตได้ ต้องส่งไปถลุงที่ฮ่องกง ดังนั้นจึงต้องบอกว่าธุรกิจนี้ไม่ง่ายเลย หลายคนบอกตอนนี้ราคาทองคำแพงมาก แต่อย่าลืมว่าทองแพง แต่ค่าไฟก็แพง ต้นทุนทุกอย่างแพงขึ้น”

จับมือ3บริษัทเพื่อก้าวเป็น GOLD HUB ในอาเซียน

นายเชิดศักดิ์กล่าวต่อไปว่า ล่าสุดเหมืองทองอัคราได้จับมือกับบริษัท รีฟายนิ่งโลหะมีค่า จำกัด หรือ “พีเอ็มอาร์” และบริษัท ออสสิริส จำกัด เพื่อเชื่อมต่อสายการผลิตทองคำจากต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ ด้วยวิสัยทัศน์ “ทองไทย เพื่อคนไทย” เพื่อยกระดับศักยภาพไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมทองคำครบวงจรแห่งใหม่ของอาเซียน

โดย “พีเอ็มอาร์” เป็นบริษัทแปรรูปและสกัดโลหะมีค่ามาตรฐานสากล ทั้งมาตรฐานไอเอสโอ 9001,14001,45001 และที่สำคัญคือมาตรฐาน RJC สำหรับมาตรฐาน RJC เป็นสิ่งที่เรามองหาในบริษัทแปรรูปและสกัดทองคำที่จะมาร่วมงานกัน ประกอบกับนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมของพีเอ็มอาร์เป็นไปในทิศทางเดียวกับเรา จึงมั่นใจและเชื่อมั่นว่าความร่วมมือครั้งนี้กับพีเอ็มอาร์ จะช่วยให้บรรลุเป้าหมาย ทั้งของเราที่ต้องการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการผลิตทองคำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และความร่วมมือที่ต้องการยกระดับไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตทองคำแห่งใหม่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อไปนี้เหมืองทองอัคราผลิตแร่ทอง-เงิน ได้จำนวนเท่าไหร่ จะส่งให้ “พีเอ็มอาร์” ทั้งหมด ไม่ต้องส่งออกไปถลุงที่ฮ่องกงแล้ว

ในขณะที่ บริษัท ออสสิริส จำกัด ซึ่งมีรากฐานมาจากการเป็นช่างทอง โดยก่อนหน้านี้ออสสิริสเป็นลูกค้าของพีเอ็มอาร์อยู่แล้ว รับบริการสกัดทองรีไซเคิลรูปพรรณเก่าที่ใช้แล้วกลับมาเป็นทองคำบริสุทธิ์ 99.99% มาตรฐานสากลโดยเปอร์เซ็นต์ทองคำตรวจสอบตามมาตรฐาน GIT ดังนั้นการร่วมมือกันทั้งสามบริษัทครั้งนี้จึงเป็นการต่อยอดวิสัยทัศน์ “ทองไทย เพื่อคนไทย” ให้ครบวงจรการผลิต ลดการนำเข้า เพิ่มคุณค่าทางจิตใจ กระจายสินค้าให้กับคนไทยอย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง จะสามารถพาประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าทองคำครบวงจร (GOLD HUB) แห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างแน่นอน

ถ้าทำเหมืองทองง่ายๆ-ไทยคงไม่เหลือ “อัครา” อยู่เหมืองเดียว!

แต่ก่อนจะไปสู่จัดนั้น เหมืองทองอัคราต้องเร่งซ่อมโรงงานที่ 2 ซ่อมแซมเครื่องจักรกลต่างๆ เพื่อให้เปิดดำเนินการได้ในช่วงต้นปี 66 ตรงส่วนที่ซ่อมก็ซ่อมกันไป พร้อมกับเริ่มรับคนงาน-พนักงานกลับเข้ามา โดยคาดว่าจะใช้แรงงานในพื้นที่มากกว่า 80% ของจำนวนพนักงานทั้งหมดประมาณ 1,000 คนอย่างแน่นอน ส่วนที่เหลือจะกันไว้สำหรับพนักงานที่ต้องใช้ทักษะเฉพาะ ซึ่งอาจเป็นคนจากนอกพื้นที่ โดยเฉพาะคนในพื้นที่ 30 ชุมชนรอบๆเหมือง จะได้รับการพิจารณาก่อน เพื่อช่วยให้คนท้องถิ่นมีงานทำ มีรายได้ ไม่ต้องเดินทางไปทำงานไกลบ้าน ตรงนี้จะทำให้เศรษฐกิจในระดับตำบล-อำเภอ-จังหวัดกระเตื้องขึ้นมาด้วย ภาครัฐก็มีรายได้จากค่าภาคหลวง และภาษีในรูปแบบต่างๆ

“การทำเหมืองทองคำไม่ง่ายหรอกครับ ถ้าง่ายจริงๆในประเทศไทยคงไม่เหลือเหมืองทองอัคราอยู่เพียงแห่งเดียวในปัจจุบัน ทั้งที่พูดกันว่ามีแหล่งแร่ทองคำ มีสายแร่ทองคำกระจัดกระจายอยู่หลายพื้นที่ โดยเฉาะในแนว จ.เลย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ลพบุรี สระบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว แต่การสำรวจจนมั่นใจได้ในเชิงธุรกิจ ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6-7 ปี ใช้เงินลงทุนสูง ถ้าลงมือสำรวจพื้นที่ไป 5 ปี ใช้ทุนไปแล้ว 400 ล้านบาท แต่เปิดเหมืองไม่ได้ เพราะทำแล้วไม่คุ้มค่า ก็สูญเสียเงินฟรี! ยกตัวอย่างพื้นที่ที่บอกว่าเราได้สิทธิสำรวจอีกเป็นแสนๆไร่นั้น ก็ยอมรับว่าเริ่มทำการสำรวจมาแล้ว 2 ปี ในพื้นที่ อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ แต่ยังทำอะไรไม่ได้เลย เพราะต้องสำรวจให้แน่ใจก่อนที่จะลงทุน คาดว่ายังต้องใช้เวลาอีก 4-5 ปี จึงจะได้ข้อสรุป ดังนั้นผมจึงกล้าพูดว่าซื้อหวยยังมีโอกาสถูกรางวัลเลขท้าย 2 ตัว หรือมีโอกาสถูกรางวัลที่ 1 ง่ายกว่าการสำรวจพื้นที่เพื่อให้เจอแร่ทองในปริมาณที่สามารถลงทุนเปิดเหมืองได้” นายเชิดศักดิ์ กล่าว