เรื่องนี้ นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ อุปนายกและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ระบุว่า อาจเป็น “ถุงน้ำ” (ซีสต์) หรืออาจจะเป็น “เนื้องอก” หรือ “ก้อนไขมัน”

แต่ถ้าเป็นหลายจุดกระจายตามร่างกายเป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นก้อนเนื้องอกมากกว่าซีสต์ เพราะถ้าเป็นซีสต์ปกติจะพบไม่มาก และมักกระจุกตัวอยู่บริเวณใดบริเวณหนึ่ง

ทั้งนี้ “ก้อนไขมัน” เป็นเนื้องอกชนิดหนึ่งที่ไม่เป็นมะเร็ง เกิดจากเซลล์ไขมันแบ่งตัวผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุเช่นกัน ส่วน “ซีสต์” เกิดจากการที่เซลล์แบ่งตัวผิดปกติของมันเอง แต่ไม่ได้เป็นเนื้อร้าย ปกติซีสต์ก้อนจะไม่โต หรือโตช้ามาก ถ้าไม่ไปบีบ ขยำ บี้ คลึง แต่ถ้าเป็นเนื้องอก มะเร็ง ก้อนจะโตขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงก้อนไขมันจะโตขึ้นเรื่อย ๆ โดยธรรมชาติอยู่แล้ว

เมื่อใดก็ตามที่ซีสต์เกิดการอักเสบ แดง บวม ร้อน ต้องรักษาให้หายอักเสบก่อน เช่น กินยาแก้อักเสบ แล้วค่อยมาพิจารณาว่าจำเป็นต้องเอาออกหรือไม่ ถ้าซีสต์อยู่ในตำแหน่งที่ไม่เกิดปัญหาเกิดการอักเสบบ่อย ๆ อาจปล่อยทิ้งไว้ แต่ถ้าอยู่ในตำแหน่งที่มีการเสียดสี กดทับ มีการอักเสบบ่อยๆ แนะนำว่าควรเอาออก

นพ.จินดา บอกว่า การเอาซีสต์ออก มีทั้งการเจาะแล้วดูดน้ำออก กับการผ่าออก ซึ่งการผ่าตัดจะดีกว่าเพราะสามารถผ่าเอาถุงซีสต์ออกได้เลย แต่ถ้าเจาะดูดเอาน้ำออก ก็มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำได้เนื่องจากถุงซีสต์ยังคงอยู่ แต่ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาแต่ละราย โดยคุยกับคนไข้ให้เข้าใจ

ทั้งนี้ การผ่าตัดต้องทำภายหลังจากอาการอักเสบหายดีแล้ว และต้องให้ข้อมูลคนไข้อย่างละเอียดประกอบการตัดสินใจ ทั้งนี้ถ้าอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เป็นอันตราย ไม่ได้กดทับ แต่คนไข้อยากจะผ่าตัดเอาออกเพราะความรำคาญ แพทย์ก็จะผ่าให้ แล้วนำก้อนซีสต์นั้นไปตรวจเพื่อความแน่ใจอีกครั้งว่าไม่ได้เป็นเนื้อร้าย แต่อาจจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ดังนั้นขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแพทย์แต่ละคน

สำหรับคนที่มีก้อนเนื้อเกิดที่ผิวหนัง และยังกังวลอยู่ว่าควรเอาออกเมื่อไหร่ดีนั้น ขอให้สังเกตดังนี้ 1. ดูว่าก้อนดังกล่าวโตเร็วหรือไม่ เช่น หลายปีแล้วโตขึ้นมาเพียงนิดเดียวก็ไม่น่าจะเป็นเนื้อร้ายแต่ถ้าระยะเวลา 1-2 เดือนโตขึ้น 2 เท่าต้องระวัง กรณีนี้ควรไปพบแพทย์ 2.เมื่อใดก็ตามก้อนที่ร่างกายกดเจ็บ ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ ไม่รู้ว่าในอนาคตข้างหน้าจะโตขึ้นไปกดเส้นประสาทหรือไม่ กรณีเช่นนี้แนะนำให้ผ่าตัดเอาออกจะดีกว่า.